กรณีที่ คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ตั้งข้อสังเกตในการ
จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในประเด็นการเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมมีความครบถ้วนและมีการสอบถามประชาชนในพื้นที่หรือไม่ หรือการเก็บข้อมูลพื้นฐานสารโลหะหนักมีรายละเอียดแค่ไหน อย่างไร เป็นต้น
เรื่องนี้ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ฝ่ายกิจการสังคม สหรัฐ บุญโพธิภักดี ได้ตอบคำถามเอาไว้ในทุกประเด็น อาทิการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ กฟผ.ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลในพื้นที่รอบๆรัศมีโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการเก็บข้อมูลจากภาคสนามและการสอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ ตามแนวทางที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้ทุกประการ
การรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น องค์กรอิสระ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เข้าไปรับฟังความคิดเห็นตลอดเวลามีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลายครั้ง
ยกตัวอย่างเรื่องของการเก็บข้อมูลพื้นฐาน สารโลหะหนัก ที่ กฟผ.ได้จัดทำเอาไว้ในรายงาน ซึ่งมีการประเมินการตกสะสมของโลหะหนักในสิ่งมีชีวิตตลอดอายุการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า 30 ปี พบว่ามีสารโลหะหนักสะสมอยู่น้อยมาก ไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากการสำรวจ บริเวณปากแม่น้ำกระบี่ และ ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ของโครงการซึ่งมีการนำเสนอคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปแล้ว เช่น เรื่องการก่อสร้างอุโมงค์ในการขนส่งถ่านหินที่อ้างว่าจะมีกองดินสูงเท่ากับตึก 10 ชั้นหรือการขนดินเลนออกจากป่าชายเลน การชะล้างพังทลายจนกระทบกับสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำ ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น ตรงกันข้ามการสร้างอุโมงค์ขนส่งถ่านหินก็เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า
...
หรือถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆก็จะคล้ายกับ การสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินใน กทม. ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสียงหรือฝุ่นละออง แม้แต่ดินเลนที่ขุดขึ้นมาได้กำหนดให้นำไปถมในพื้นที่รอบๆบริเวณโรงไฟฟ้า ไม่มีการขนออกไปนอกพื้นที่เด็ดขาด
สำหรับข้อมูลรายละเอียดในการสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ทาง กฟผ.พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดและพร้อมที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เปิดกว้างให้ประชาชนในพื้นที่ตรวจสอบถึงข้อสงสัยที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทุกกรณี
การสร้างโรงไฟฟ้าถือว่ามีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไร การคำนึงถึงคุณภาพชีวิตจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนก็มีความสำคัญไม่แตกต่างกัน และจะต้องพิจารณาควบคู่กันไป
โดยให้ประชาชนตัดสินจากข้อมูลและข้อเท็จจริง.
หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com