ทนายทักษิณ เตรียมยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์เร็วสุด 22 มี.ค. ชี้ ร่างอุทธรณ์คดียึดทรัพย์แล้วกว่า 100 หน้า อุบรายละเอียด แจงยึดเจตนารมณ์ รธน. - หลักความยุติธรรม ...

วันที่ 18 มี.ค. 2553 นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ คู่สมรส นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา บุตรชายและบุตรสาว รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน จำนวน 46,373 ล้านบาทเศษตกเป็นของแผ่นดินว่า

ขณะนี้ทีมทนายความได้ร่างคำอุทธรณ์ไว้แล้วความยาวกว่า 100 หน้า ซึ่งคาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในสัปดาห์หน้า เร็วที่สุดอาจจะยื่นวันจันทร์ที่ 22 มี.ค.นี้ แต่ถ้าระหว่างนี้ในการตรวจทานคำร่างอุทธรณ์จะต้องมีการปรับรายละเอียดเพิ่มเติมก็จะภายในวันศุกร์ที่ 26 มี.ค. โดยการยื่นอุทธรณ์จะครบกำหนดวันที่ 28 มี.ค.แต่ตรงกับวันอาทิตย์ที่เป็นวันหยุดราชการซึ่งตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ในวันจันทร์ที่ 29 มี.ค. แต่อย่างไรดีเนื่องจากทีมทนายความได้ร่างคำอุทธรณ์ไว้เกือบจะเสร็จสิ้นแล้วจึงเชื่อว่าจะยื่นคำอุทธรณ์ได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยทนายความได้แจ้งรายละเอียดคำอุทธรณ์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รับทราบโดยตลอดแล้ว

สำหรับประเด็นที่จะยื่นอุทธรณ์ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า การยื่นอุทธรณ์ต้องมีพยานหลักฐานใหม่นั้น นายฉัตรทิพย์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์ทีมทนายความได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎมายรวมทั้งหลักความยุติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การตีความตามตัวอักษรว่าพยานหลักฐานใหม่หมายถึงพยานหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่านั้น แต่กรณีที่มีการนำเสนอพยานหลักฐานไปแล้วแต่ไม่ได้มีการหยิบยกมาวินิจฉัย ก็ถือได้ว่าพยานหลักฐานที่ไม่ ได้รับการวินิจฉัยการเป็นหลักฐานใหม่ซึ่งทีมทนายความจะชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงและความเป็นเหตุเป็นผล ตัวอย่างเช่น การจะพิจารณาสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินที่วินิจฉัยว่ามีการออกนโยบายเอื้อประโยชน์ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่านโยบายที่มีการวินิจฉัยไม่ได้ออกตั้งแต่วันแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับคำนวณเงินที่ยึดตั้งแต่วันที่เป็นนายก ฯ หรือการวินิจฉัยประเด็นออก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว แต่คำวินิจฉัยศาลฎีกา ฯ กลับไม่ได้นำมาวินิจฉัยเลย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องผูกพันองค์กรต่างๆ ขณะที่การยื่นอุทธณ์นี้ขอให้ยกคำร้องทั้งหมดเพียงประการเดียวเท่านั้น ไม่ใช่การขอให้พิจารณาลดจำนวนทรัพย์ที่ตกเป็นของแผ่นดินด้วย เพราะคดีนี้มีประเด็นเพียงว่าผิดหรือไม่ผิด ดำเนินการเอื้อประโยชน์หรือไม่เท่านั้น ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันความบริสุทธิ์

“ เรายื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ โดยมองลึกถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักความยุติธรรม ซึ่งเราจะชี้ให้เห็นถึงเหตุและผล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพราะหลายประเด็นที่ต่อสู้ไม่ได้นำมาวินิจฉัยทั้งหมด เหมือนมีพยานหลักฐาน 10 ลังวินิจฉัยแค่ 3 ลัง แล้วอีก 7 ลังหายไปไหน ถ้ายังไม่ได้ผ่านการวินิจัยก็ถือว่าเป็นหลักฐานใหม่ ขณะที่ตามหลักกฎหมายหากพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัยก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคดีอาญา แต่ต้องรวมถึงคดีแพ่งด้วย” นายฉัตรทิพย์กล่าว

และว่า อย่างไรก็ดีการอุทธรณ์ผลจะออกมาอย่างไร เราไม่ก้าวก่ายดุลยพินิจของศาล หากศาลจะไม่รับอุทธรณ์ การต่อสู้ทางคดีตามกฎมายก็ยุติ แต่อยากให้สังคมช่วยกันคิดต่อไปว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วองค์กรอื่นไม่ยึดถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอย่างนี้อีกในบ้านเมือง

...