นายอนุสรณ์ ธรรมใจ & รศ.ไชยันต์ ไชยพร
หลังจากองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เสียงข้างมาก มีคำตัดสินให้ยึดทรัพย์สินกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมด 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลฎีกาฯ ตามมา ทั้งจากฝั่งของกลุ่มคนเสื้อแดง อดีต คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) โดยเฉพาะถ้อยแถลงอันดุเดือดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ที่มีขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 ก.พ. ทั้ง "ผู้พิพากษายอมรับในอำนาจของกระบวนการรัฐประหาร ที่มีมาตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549" และ "มีคนบางคนหรือใครบางคนที่อยู่เบื้องหลัง และชักใยทำให้สถานการณ์ในบ้าน ในเมืองของเรา เลวร้าย เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าคือใคร และกำลังทำอะไรอยู่"
น่าสนใจที่การวิพากษ์วิจารณ์ของ "บิ๊กจิ๋ว" ครั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ห็นด้วย โดย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ศาลตัดสินครั้งนี้ชัดเจนทุกประเด็น แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่ กรณีสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยอมรับการรัฐประหาร เนื่องจากหลายประเด็นที่อ้าง คณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดจากผลพวงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการบางคนก็เป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ฉะนั้นคดีนี้ถ้าจะให้สง่างาม และเป็นการส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องเริ่มเรื่องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และศาลจะต้องพิจารณาตั้งแต่เริ่มแรก
"แต่ศาลตัดสินไปแล้วก็ต้องยอมรับ แต่ความสง่างามนั้นก็ยังมีสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะเป็นความยุติธรรมที่มาจากรัฐประหาร เป็นการสร้างบรรทัดฐาน และเป็นการบั่นทอนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่มีใครกลัวที่เดินหน้าทำการปฏิวัติรัฐประหาร" นายอนุสรณ์ กล่าว
ด้าน รศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่า กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าชนะ เพราะว่าไม่มีการยึดทั้งหมด และยังคงยืนยันว่าเป้าหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงสูงกว่านี้ กลุ่มคนเสื้อแดงก็พอใจระดับหนึ่ง และมองว่าเป็นการชิงจังหวะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ออกมาพูดทันทีหลังจากมีคำตัดสิน เพราะเกรงว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะอ่อนพลังลงไป จริงอยู่การต่อสู้ในประเด็นศาลอาจจะลบเลือนไปบ้าง แต่การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นจะไม่จบสิ้นลงเพราะยังมีประเด็นหลายประเด็นให้ต่อสู้ เช่น อำมาตยาธิปไตย สองมาตรฐาน การทุจริตของรัฐบาล และเรื่องอำนาจทางการเมือง ที่จะนำพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำตัดสินนั้น รศ.ไชยันต์ ก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับ นายอนุสรณ์ นั่นคือ การที่ศาลอ้างถึงประกาศ คปค.หลายต่อหลายครั้ง จะทำให้ตกเป็นเป้าวิจารณ์ว่าเป็นการยอมรับอำนาจที่มาจากรัฐประหาร
"หลายครั้งที่ศาลอ้างถึงกฎหมายประกาศ คปค.ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้หลายคนคิดว่า เป็นการยอมรับการกระทำของรัฐประหารหรือไม่ เพราะองค์กรที่ร้องนั้น เป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งของ คปค. ซึ่งเรื่องนี้ศาลเองต้องชี้แจงให้เคลียร์ ถึงแม้ว่าชี้แจงขั้นตอนทุกอย่างค่อนข้างชัดเจน แต่มีประเด็นที่สงสัยและโดนกระพือซำ้ ประชาชนอาจตั้งคำถาม และกลายเป็นไฟลามทุ่งได้" รศ.ไชยันต์ กล่าว
ขณะที่ ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นกับ ไทยรัฐออนไลน์ เห็นว่าการตัดสินคดีครั้งนี้ เป็นการสร้างบรรทัดฐานการเมืองไทย ซึ่งศาลนั้นทำหน้าที่ได้อย่างดี มีการนำเสนอตั้งแต่ คำร้องของอัยการ คำแก้ของผู้คัดค้าน ประเด็นการวินิจฉัยก็ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีการอำพรางหุ้น โดยให้ตัวแทนถือแทนให้ ที่แท้แล้วเป็นของตัวเอง สื่อสารให้เข้าใจว่าผิดจริง เชื่อว่ามีผู้เฝ้าติดตามฟังครั้งนี้จำนวนมาก และเข้าใจได้ ถึงสาเหตุของการยึดเพราะทำให้รัฐเสียหาย และยอมรับคำตัดสิน ทั้งนี้ศาลเองก็ให้ความเป็นธรรมกับจำเลย เพราะไม่ยึดในส่วนที่เป็นเงินที่มาก่อนการดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ส่วนที่ยังมีบางคนไม่พอใจ เช่น กลุ่มเสื้อเหลืองบอกว่าน่าจะยึดทั้งหมดเพราะเป็นเงินที่มาจากการออกนโยบาย เอื้อธุรกิจของตัวเอง แต่กลุ่มเสื้อแดงบอกว่าส่วนที่รำ่รวยขึ้นนั้น เป็นเพราะราคาหุ้นที่สูงขึ้น เป็นไปตามราคาตลาด ดังนั้นไม่สมควรที่จะยึดถึงขนาดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนต้องเคารพศาลไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ ไม่มีเส้นกลางในการตัดสิน และ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และ มีข้อมูลหลักฐานใหม่ล้มล้าง ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณารับหรือไม่
"การไปกล่าวว่า การตัดสินของศาลครั้งนี้ ว่าเท่ากับเป็นการยอมรับการปฏิวัติ รัฐประหารนั้น เป็นประเด็นที่ตะแบงกันไปใหญ่ ศาลไม่ได้มองว่า คตส. มาจากไหน แต่คำนึงถึงตัวบทกฎหมายในระหว่างนั้นๆ ซึ่งประกาศ คปค. ก็ถือเป็นกฎหมายสูงสุดในขณะนั้น รูปแบบการปกครองก็เต็มรูปแบบ "รัฐาธิปไตย" มี "องค์อธิปัตย์" ครบถ้วน ดังนั้น สามารถทำได้ ผมเองไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่อยากให้บิดเบือนข้อมูล จนทำให้ชาติเสียหายไปกันใหญ่".
...