องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ ยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งหมดมีดังนี้...
ผู้สื่อข่าวรายงานวันที่ 26 ก.พ.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองศาลฟังคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว จำนวน 76,621,603 ล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 110,208,209,291,292 พรบ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ปี43 มาตรา4,5,6 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 32,33,100และป.อาญามาตรา 119,122 กรณีถูกกล่าวหาว่า มีผลประโยชน์เป็นทรัพย์สิน เนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม และได้มาโดยไม่สมควร เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คือ เป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยปกปิดอำพรางไว้ในชื่อนายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
โดยขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก สิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด คดีมีผู้ร้องคัดค้านว่าทรัพย์สินไม่ควรตกเป็นของแผ่นดิน 23 ราย ต่อมา คตส.เพิกการอายัดไป 4 ราย ปัจจุบันได้อายัดไว้ 16 รายการ รวม 68,000 ล้านบาท ส่วนขาดอยู่หากพิพากษาให้ยึดทั้งหมดต้องมีหมายบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินที่มีอยู่ยังไม่เคยถูกอายัด เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เครื่องบิน เป็นต้น
บรรยากาศก่อนฟังคำพิพากษา ตั้งแต่ ช่วงเช้าเวลา 04.00 น. ศาลฎีกา อนุญาตให้รถถ่ายทอดสัญญาณ โทรทัศน์เข้าในศาล โดยผ่านการตรวจค้น มีตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ตำรวจปราบจลาจล มีอาวุธโล่ กระบอก เตรียมพร้อมราว 150 นาย ในบริเวณภายในศาล มีรถวิทยุ191 และ บก.น.1 ,บก.น.6 และหน่วยอื่นๆ อีกราว 300 นาย ตำรวจมีการจัดวางกำลังโดยแบ่งหน่วยงานมีที่สังเกตคือผ้าพันคอสีต่างกัน มีตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด และ ด้านหน้าศาล ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าหับเผย ถนนราชินี มีจุดตรวจสามจุด และ มีการปิดถนนบางส่วน รวมทั้งหน่วยตัดสัญญาณโทรศัพท์ป้องกันการจุดระเบิดด้วยสัญญาณโทรศัพท์
ที่สนามหลวงตรงข้ามศาล มีเวทีของกลุ่มแดงสยาม เริ่มทยอยมาจับจองที่นั่งในสนามหลวงอย่างคึกคัก ที่หน้าอาคารศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีรปภ.ศาล 20 นาย ตั้งโต๊ะตรวจค้นผู้ที่เข้านั่งฟัง ส่วนสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนไว้ ศาลจะอนุญาตให้เข้าฟังการพิพากษาในห้องพิจารณาได้ คุ้มกันองค์คณะระดับวีไอพี
ต่อมาเวลา 07.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ในฐานะเจ้าของสำนวน นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นายพิทักษ์ คงจันทร์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายพงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโส ในศาลฎีกา , นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา, ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา, นายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ นายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกาได้เดินทางมาถึงศาลฎีกา โดยรถแลนด์โรเวอร์สีดำกันกระสุน ในรถแต่ละคันมีตำรวจประกบภายในรถ จากนั้นองค์คณะได้เข้าห้องประชุมใหญ่ เพื่อนำคำพิพากษาส่วนตัวที่วินิจฉัยแล้วทุกประเด็น มาพิจารณาร่วมกัน ในเวลา 08.00น. ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นชินคอร์ป บริษัท แอมเพิลริช บริษัท วินมาร์ค ให้แก่บุตร โดยตนยังมีอำนาจบริหารงานดังเดิม แล้วทำทีขายหุ้นไปแก่กลุ่มเทมาเส็ก เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทในเครือ ขณะดำรงตำแหน่งจริงหรือไม่ อันเป็นประเด็นรวม 5 ข้อ เช่น แก้ไขสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อช่วยบริษัทโทรคมนาคมในเครือ การปรับลดค่าสัปทานสัญญาณโรมมิ่งเพื่อประโยชน์เอไอเอส มีการอนุมัติเงินเอ็กซิมแบงก์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่พม่า เพื่อนำมาซื้อสินค้าในบริษัทเครือชินคอร์ป หากได้ประเด็นที่เป็นเสียงข้างมากตรงกัน ก็จะร่วมกันทำคำพิพากษากลาง ก่อนนำไปอ่านในเวลา13.30น.
ฟ้องแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่ง
ต่อมาเวลา13.30น. องค์คณะทั้ง 9 นาย ออกนั่งบัลลังก์ โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายรูป แล้วพร้อมกันมีคำพิพากษาว่า คดีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดแจ้งว่า คตส. ทราบว่า ระหว่างเดือนก.พ.43 ถึงมี.ค.48 ขณะพ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กับเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กระทำการปกปิดการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ของ บ.ในเครือ เช่น บ.แอมเพิลริช บ.วินมาร์ค จำกัด แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น โดยไม่ได้โอนหุ้นกันอย่างแท้จริง และไม่ได้แสดงรายการทรัพย์สินก่อนและหลังดำรงตำแหน่ง แก่ ปปช.
ต่อมาบริษัท ชินคอร์ป เป็นบริษัทได้รับสัมปทานกิจการดาวเทียม โทรศัพท์ และโทรคมนาคมต่างๆ จากรัฐ ได้ขายหุ้นแก่เทมาเส็ก แต่ก็ยังจ่ายเงินปันผลแก่ผู้คัดค้าน 76,621,603 บาท ซึ่งเป็นการมีประโยชน์ขัดกันระหว่างประโยชน์ตนกับประโยชน์ส่วนรวม ฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญา ม.119 และ 122 แสวงหาประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่ง ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือ กำกับดูแลของผู้ถูกล่าวหากระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก คือ
1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 - 50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส อีกทั้งจัดกระทรวงเทคโนโลยี เพื่อรองรับกิจการของตนและพวกพ้อง เป็นการบิดเบือนใช้อำนาจนิติบัญญัติเอื้อประโยชน์ให้เอไอเอส ทำให้รายได้รัฐลดลง และให้ต่างชาติมีส่วนถือหุ้นสูงขึ้น เพื่อจะได้ขายหุ้นตนได้ราคาสูงขึ้น
2.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 27 มี.ค.33 (ครั้งที่ 6 ) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 44 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้กับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ปี 42 จากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 6 ) ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทเอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ทศทฯ ในอัตรา ร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 44 จากเดิมที่ต้องจ่ายตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นแบบก้าวหน้าในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.43 - 30 ก.ย.48 และในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 1 ต.ค.48 - 30 ก.ย.48 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้เอไอเอสได้ประโยชน์ทางธุรกิจโดย กสท และ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์โดยตรง ส่งผลเสียหายในอนาคต 5,000 ล้านบาท
3.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 33 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.45 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมหรือ “โรมมิ่ง” และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เช่น บ.ดีพีซี เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท เอไอเอส การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นมีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ทศท และบริษัท กสท ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท กลายเป็น บริษัท เอไอเอส จะได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส ดังนั้น ผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับดังกล่าว จึงตกกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าจนกระทั่งได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ จึงเป็นการได้ประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่
4.กรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบ 3 กรณี อาทิ การอนุมัติโครงการดาวเทียม และดาวเทียมสำรอง 2 ชุด รวม 4 ดวง แล้วปรับโครงการมาเป็นโครงการดาวเทียม IP STAR การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ดาวเทียมในประเทศ ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ต.ค.47 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้าง และส่งดาวเทียมไทยคม 1,2 และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 ที่ได้ส่งเร็วขึ้น และได้ค่าสินไหมทดแทน 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วมีการขอแก้สัญญาต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ชินแซทฯ เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ ไม่สามารถใช้แทนดาวเทียมไทยคม3 ได้ ตามสัญญาและทำให้ไม่มีดาวเทียมไทยคม 4 จนทุกวันนี้ รัฐจึงเสียหายจากโครงการนี้ 4 พันล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหาได้ประโยชน์ไป 16,000ล้านบาท
5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯโดยเฉพาะ ซึ่งครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์ให้วงเงิน 3,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า แล้วต่อมาได้สั่งการเห็นชอบเพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชินแซท ฯ ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้ทักท้วงแล้ว กรณีดังกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวกมีผลประโยชน์ถือหุ้นอยู่ ในการให้ได้รับงานจ้างพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่า เป็นเหตุกระทรวงการคลัง เสียหายเสนอกฎหมายช่วยบริษัทตัวเอง
...
นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาลในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. เป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ที่เป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมสามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับให้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.49 โดยปรากฏว่า ในวันที่ 23 ม.ค. 49 มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ , น.ส.พินทองทา บุตรชายและบุตรสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว และนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทน บ.แอมเพิลริช ถือไว้แทน แล้วขายให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880932.05 บาท ซึ่งตั้งแต่ 2546 - 2548 บริษัท ชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นเงินจำนวน ทั้งหมด 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ขอให้ยึดตกแก่แผ่นดิน เงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีที่ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาฯ ขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ม.80
ต่อมามีคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก และเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ได้รับในช่วงปี พ.ศ.2546 - 2548 รวม 15 คำสั่ง รวมเป็นเงิน 73,667,987,902.60 บาท พร้อมดอกผล คตส. สามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วน ยังขาดอยู่9พันล้านบาทเศษ จึงขอติดตามและให้ยึดทรัพย์ทั้ง76,621ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ตั้งแต่วันกระทำผิดจนถึงวันฟ้อง ตกเป็นของแผ่นดิน