วรเจตน์ซัดมัดตราสังคนไทย ‘ปู’โพสต์ชวนไปลงประชามติ ธงกาแฟ‘กาโน’ก็โดนเก็บด้วย

จับตา “อภิสิทธิ์” บินกลับจากนิวยอร์กจับเข่าถกบิ๊ก ปชป. นัด 26 ก.ค. นัดแถลงจุดยืน ปชป.คว่ำร่าง รธน. ชูอุดมการณ์พรรค 70 ปี ไม่สนับสนุนวิถีเผด็จการทุกรูปแบบ ติร่างฉบับ “มีชัย” ประชาธิปไตยถดถอย เนื้อหาบางส่วนเอื้อสืบทอดอำนาจ “ปู” โพสต์ปลุกคนไทยใช้สิทธิรักษาประชาธิปไตย “วัฒนา” ดักคอกลัวถูกโกง ยกตุรกีโมเดล-พ.ค.ทมิฬ เตือนสติ คสช. เครือข่ายนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ผนึกกำลังภาคประชาชน 43 องค์กร ประกาศโหวตโน จี้ คสช.ยุติคุกคามคนคิดต่าง “วรเจตน์” สับ รธน.ผ่านมัดตราสังสังคมไทย เปรียบระเบิดเวลานำไปสู่ความรุนแรงสูญเสีย “ไก่อู” โยงหลักฐานบุกรังนายก อบจ.เชียงใหม่มัดแก๊งแพร่ รธน.ปลอม ตร.-ทหารค้นบ้านนายกเล็กบ้านธิ แต่ไม่พบสิ่งผิด ก.ม. รอง ผบช.ภ.7 ควงรองผู้ว่าฯสมุทรสาครแถลงจับหนุ่มดาวน์ซินโดรมเผาบัญชีผู้มีสิทธิฯส่งศาล เมืองพิจิตรวุ่น “ไอ้จุก” หัวโจกนำฝูงลิงฉีกยับรายชื่อ พ่อเมืองศรีสะเกษผวาชี้นำ สั่งเก็บธงแดงกาแฟ “กาโน”

ยิ่งใกล้ช่วงโค้งสุดท้ายของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองและภาคประชาสังคมต่างๆยังออกมาแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถูกจับตามองว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ล่าสุดนายอภิสิทธิ์เตรียมประกาศจุดยืนของพรรคในวันที่ 26 ก.ค. โดยมีการคาดหมายว่ามีแนวโน้มว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

“องอาจ” จี้ทุกฝ่ายเคารพจุดยืนผู้เห็นต่าง

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีผู้ออกมาแสดงจุดยืนเห็นชอบ และไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะแสดงออกถึงจุดยืนของตนและหมู่คณะ แต่ในโลกสื่อโซเชียลมีปฏิกิริยาแสดงออกต่อผู้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว บิดเบือนข้อเท็จจริง หวังทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่แสดงออกดังกล่าว ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้การทำประชามติเดินหน้าโดยราบรื่น ทุกฝ่ายควรคำนึงถึงพื้นฐานที่สำคัญคือ 1.ไม่ควรสร้างบรรยากาศการทำประชามติ เป็นเรื่องการเอาชนะคะคานกันโดยไร้เหตุผล 2.ไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกมาว่ารับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเป็นเรื่องแพ้ ชนะของฝ่ายใด แต่ควรทำให้ผลการทำประชามติเป็นชัยชนะร่วมกันของทุกฝ่าย 3.การทำให้เกิดชัยชนะร่วมกันของทุกฝ่ายได้ ต้องช่วยกันทำให้ผลการทำประชามติเกิดความชอบธรรม จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้เห็นชอบ และไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญให้ความเคารพจุดยืนที่แตกต่างของกัน และกัน พร้อมจะรับฟังความเห็นต่างด้วยเหตุผล

...

“มาร์ค” ถกผู้ใหญ่ก่อนแถลงจุดยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุในไลน์กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคว่าจะแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญ หลังเดินทางกลับจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24 ก.ค. และจะเดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 25 ก.ค.นั้น นายอภิสิทธิ์จะหารือเป็นการภายในกับผู้ใหญ่ของพรรคอีกครั้ง คาดว่าจะแถลงอย่างเป็นทางการวันที่ 26 ก.ค. พร้อมสมาชิกพรรคระดับรองหัวหน้าพรรค 3-4 คนที่เห็นในทิศทางเดียวกัน โดยพรรคไม่มีมติเรื่องนี้ เนื่องจากจัดประชุมไม่ได้ตามคำสั่ง คสช.

ปชป.ยึดคำประกาศไม่รับร่าง รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์จะประกาศจุดยืนพรรค โดยไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยมีเหตุผลหลักคือ พรรคถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่อยู่มายาวนาน 70 ปี ต้องมีท่าทีและจุดยืนที่ชัดเจนต่อสังคมในกรณีสำคัญทางการเมือง และคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคที่มีแต่ต้นคือ ไม่สนับสนุนและวิถีแห่งเผด็จการทุกรูปแบบ อีกทั้งเคยเป็นอดีตนายกฯที่จบการศึกษาจากประเทศต้นแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเคยระบุก่อนหน้านี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อด้อยมากกว่าข้อดี โดยเฉพาะความเป็นประชาธิปไตยถดถอยจากรัฐธรรมนูญปี 40 และฉบับปี 50 ที่ผ่านการทำประชามติ ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ทั้งกรณีการศึกษาฟรี 12 ปี สิทธิชุมชน และมีสาระบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ และการไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริงซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย จึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้

“วิลาศ” ส่ายหน้าไร้อาวุธปราบโกงจริง

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในกลุ่ม 3 ว. กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า 1.เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าฉบับปี 40 และ 50 มีการจำกัดสิทธิประชาชน 2.ที่อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนั้น ยังไม่มีมาตรการพิเศษใดที่จะเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงมากไปกว่าฉบับอื่น 3. ที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการมัดมือชกให้เดินตามแผนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล คสช.กำหนด ไม่ได้มาจากวิถีทางประชาธิปไตย 4.การเลือกบุคคลเข้าไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ ไม่ได้มาจากตัวแทนที่ยึดโยงกับประชาชน แต่สรรหาจากผู้มีอำนาจและเครือข่ายคือ ส.ว.สรรหาหรือแต่งตั้ง 5.การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยเอาคะแนนของ ส.ส.เขตไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

“นิพิฏฐ์” คาด รธน.ผ่านเพราะความกลัว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามโพลสำนักต่างๆ ส่วนใหญ่ประเมินว่ารัฐธรรมนูญนี้จะผ่าน ส่วนตัวคิดว่าผ่านเช่นกัน เพราะฝ่ายเห็นต่างไม่กล้าแสดงความคิดเห็น กลัวว่าจะผิดกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้รับใช้สิทธิได้เต็มที่ ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการส่งข้อความหรือแชร์ในไลน์หรือเฟซบุ๊ก อ้างว่าเป็นตัวสรุปสาระของร่างรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ คือ 1. คดีความต่างๆที่เกิดขึ้นทางการเมืองไม่มีวันหมดอายุความ 2.หากนักการเมืองโกงกิน คอร์รัปชัน ผลาญงบฯ มีโทษหนัก คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต ไม่รอลงอาญาและมิให้ประกันตัว 3. หากร่ำรวยผิดปกติ ฟอกเงิน ยักยอกทรัพย์สินของทางราชการหรือ งบประมาณแผ่นดินไปเป็นของตนเองหรือพวกพ้อง นักการเมืองต้องโทษจำคุก 15 ถึง 30 ปี และยึดทรัพย์ 4. หากบริหารประเทศผิดพลาดทำให้ประเทศชาติเสียหาย หรือเป็นหนี้มหาศาล ต้องโทษจำคุก 15 ถึง 30 ปี 5.เมื่อมีคดีติดตัวและอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลหรือองค์กรอิสระ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเด็ดขาด 6. ห้ามมิให้นักการเมืองใช้ช่องทาง VIP มิให้อำนวยความสะดวกให้แก่นักการเมือง ห้ามโดยสารเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสฟรี ข้อเท็จจริงไม่มีระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเลย แต่มีขบวนการปลุก ระดมความคิด ใส่ร้ายให้เกลียดชังนักการเมือง หนำซ้ำหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้ติดตามลงโทษ ทั้งที่เข้าข่ายผิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ

“ปู” โพสต์ปลุกคนใช้สิทธิรักษา ปชต.

วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่ออนาคตประเทศ ถือเป็นครั้งสำคัญที่ใช้คะแนนรับหรือไม่รับร่างมีคะแนนมากกว่ากัน โดยไม่ได้คิดจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงมีจำนวนเท่าไหร่ ดังนั้น การออกมาใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อ 1. ดำรงรักษาประชาธิปไตย 2. เลือกอนาคตว่าเราเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ที่จะใช้ในการบริหารบ้านเมืองต่อไป และ 3. ประชาชนได้รับประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก จึงอยากเชิญชวนให้ไปร่วมกันใช้สิทธิเสรีภาพกันมากๆ เพื่อแสดงออกทางความคิด และร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศด้วยวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตย

“วัฒนา” ตีปี๊บไม่รับ–ดักคอผวาถูกโกง

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า มีหลายคนโต้แย้งว่า หากลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เชื่อว่ามีคนจำนวนมากยังเข้าใจผิด แต่หากลงมติเห็นชอบเท่ากับยินยอมให้ 1. คสช.อยู่ต่อไปจนกว่ามีรัฐบาลใหม่อย่างน้อย 18 เดือน หรือนานกว่านั้น 2.อนุญาตให้ กรธ.ไปเขียนกฎหมายลูกที่สำคัญได้ตามใจชอบอีก 10 ฉบับ โดยประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเขียนเสร็จเอาเข้า สนช.พวกเดียวกันให้ความเห็นชอบได้เลย 3.จะต้องทนอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งชีวิต เพราะเงื่อนไขที่ กรธ.กำหนดทำให้แก้ไขยากหรืออาจกล่าวว่าไม่สามารถแก้ไขได้เลย แต่หากลงมติไม่เห็นชอบ แม้จะต้องมานับหนึ่งเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกใหม่ กลับจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงมากกว่าเดิม ส่วนการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นปี 2560 ตามที่ คสช.รับปากไว้ ไม่มีใครกล้าเบี้ยวประชาชน เหตุการณ์ที่ตุรกี หรือ พ.ค.35 เป็นตัวอย่างให้เผด็จการเห็นว่า อย่าอวดดีกับประชาชน ดังนั้น การไม่เห็นชอบ จึงดีกว่าทุกประการ มาถึงวันนี้กลัวแค่ถูกโกงเท่านั้น

ติงอย่ามุ่งยัดเนื้อหาฝ่ายเดียว

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลให้มีเวทีดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นเวทีปิดว่า รัฐบาลและ คสช.อาจกังวลมากเกินไปว่า ประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารหรือความเห็นที่อาจไม่ตรงกับ คสช. เหมือนจัดเพื่อแก้เกี้ยวจะมีประโยชน์อะไร การทำประชามติคือ การขอเสียงจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่เปิดโอกาสให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ มุ่งแต่นำเสนอเนื้อหาฝ่ายเดียว การแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรอบด้าน คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือประชาชน จะได้นำข้อมูลไปเปรียบเทียบ ใช้วิจารณญาณตัดสินใจ ทั้งนี้ทุกอย่างมีสองด้าน ประชาชนจะเลือกด้านใดควรมีสิทธิจะรับข้อมูลทั้งสองด้าน

ปูดงัดโปรโมชั่นล่อใจเห็นชอบ

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอสั่งการไปยัง กำนันผู้ใหญ่บ้านเชิญชวนคนมาใช้สิทธิ์ให้ได้ 80% ทุกหมู่บ้าน มิเช่นนั้นจะไม่ผ่านการประเมินต่ออายุผู้ใหญ่บ้านเมื่อครบ 5 ปีว่า เป็นการสั่งที่สร้างความ ลำบากใจให้ผู้ปฏิบัติ ถึงวันนี้รัฐบาลทำทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ บางอำเภอระดมสรรพกำลังทุกอย่าง ไม่ว่าพูดทางตรงหรือทางอ้อม หรือการสนับสนุนเรื่องงบประมาณหมู่บ้านละ 200,000 บาท ให้เร่งเบิกจ่ายภายในสิ้นเดือน ก.ค. การวัดตัวเพื่อตัดชุดให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งเงินกองทุนหมู่บ้าน การลงทะเบียนช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 10 ไร่ ทั้งที่ควรทำหลังการลงประชามติก็ได้ แต่ กกต.กลับไม่สนใจแต่อย่างใด ขอบอก กกต.ว่าเจตนาแบบที่รัฐบาลทำอยู่เป็นการเจตนาหวังผลต่อการลงประชามติหรือไม่ ช่วยชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย จะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

เครือข่ายอาจารย์–ภาค ปชช.ไม่รับ รธน.

ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ คนส. นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน 43 องค์กร ร่วมกันจัดงาน “ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน” เพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมใจใส่เสื้อข้อความโหวตโน ทยอยเดินทางเข้าร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น พร้อมทั้งยังมีการแจกจ่ายหนังสือ “ก้าวข้าม” ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือเอ็นดีเอ็ม ที่มีเนื้อหาเชิญชวนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันที่บริเวณถนนหน้าหอประชุมไปจนถึงสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมพื้นที่แสดงออกของสามัญชน โดยไฮไลต์คือ นิทรรศการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบกำแพงขนาดใหญ่ นำร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่ละบทมาขยายให้ประชาชนอ่านก่อนลงประชามติ และยังมีซุ้มตลาดนัดรัฐธรรมนูญกินได้ การแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และจัดแสดงดนตรี เป็นต้น

12 ภาคี ปชช.ผนึกกำลังโหวตโน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.30 น.เวทีวิชาการเริ่มขึ้นด้วยการแถลงข่าวจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มภาคีเครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร พร้อมอ่านแถลงการณ์ แจกแจงเหตุผลการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กลุ่มสมัชชาคนจน เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของเหมืองแร่ประเทศ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือ กลุ่ม FTA Watch และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายพลเมืองเน็ต เครือข่ายการศึกษาทางเลือก สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 และคำสั่ง คสช.เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (permatamas) ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมชายแดนใต้

“วรเจตน์” ฉะระเบิดเวลามัดตราสังคนไทย