"โคทม" แนะ รบ.ใช้ร่างฯ ชั่วคราวจัด ลต.-ตั้งสภาร่าง รธน.ใหม่ หากร่าง "มีชัย" ไม่ผ่านประชามติ ขณะที่ นปช.ซัดประชามติปิดกั้นสิทธิ เตือนก่อน 7 ส.ค.ระวังเกิดวิกฤติ ด้าน กกต.ปรามผลกาบัตรออก ขออย่าตีรวน
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.59 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดถกแถลงโต๊ะกลม ติชม ร่างรัฐธรรมนูญ หัวข้อ "ถกแถลงสาธารณะ มองไปข้างหน้าหลังประชามติ" โดยลักษณะการสานเสวนาแบบอ่างปลา และมีการบันทึกเทปเพื่อนำไปออกอากาศในรายการ เวทีสาธารณะทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
โดย นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา กล่าวว่า ตนได้ตั้งสมมติฐานว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน หากจะใช้วิธีการเดิมๆ คงไม่ทันโรดแม็ป ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 และจะขาดองค์ประกอบของประชาชน ดังนั้นขอให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ชั่วคราว เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่วางไว้ และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 โดยมี 2 ทางเลือก คือ 1.ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน แล้วจัดการการเลือกตั้ง 2.คสช.พร้อมปล่อยมือให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เคยจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งนี้สังคมจะยอมรับเพราะทุกคนก็เล่นกันตามนัด และจะมีเสถียรภาพทางการเมือง
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อศึกษาแล้วกรณีที่จะเป็นไปได้มี 2 กรณี คือ 1.ผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง 2.ไม่ผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ขณะนี้บอกไม่ได้ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าประชาชนได้ข้อมูลมากขึ้นจะเห็นไปในทางไม่อยากให้ผ่าน คนแสดงความคิดเห็นไม่มากเท่าไหร่เพราะถูกปิดกั้น ซึ่งตนเห็นว่าอาจเป็นกรณีที่ผ่าน แนวโน้มที่พรรคการเมืองจะได้เสียงข้างมากเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่ผ่านทั้ง 2 อย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม หากคนได้ข้อมูลและเข้าใจถูกต้องตนเชื่อว่าร่างจะไม่ผ่าน ประเด็นที่มีปัญหาทำให้คนเข้าใจผิด คือเมื่อร่างผ่านแล้ว คสช.จะไป การออก พ.ร.บ.ปฏิรูป ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก คำสั่ง คสช.อาจมีผลเป็นกฎหมาย ไม่ใช่แค่ปีครึ่ง คสช.และเครือข่ายจะมีอำนาจต่อไปอีก อาจถึง 20 ปี
...
ขณะที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. กล่าวว่า กระบวนการการลงประชามติขณะนี้มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นไม่สมควรเรียกลงประชามติ และตนเชื่อว่าก่อนวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะเกิดวิกฤติ เพราะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ ประกาศให้นานาประเทศไม่รับผลการลงประชามติ เพราะปิดกั้นเสรีภาพ ดังนั้นสมมติว่าจะไม่มีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. ก็อาจเป็นไปได้ ทั้งนี้ตนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงจะไม่ผ่านการลงประชามติ และหากผ่านจะดูว่าเกิดวิกฤติอะไรเกิดขึ้นอีก
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตนยืนยันว่าเวทีแบบนี้จัดได้ อภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผล อะไรที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ตามหลักการหากผ่านทั้งคู่เวลาจะช้า 2 เดือน หากร่างผ่านและคำถามพ่วงไม่ผ่าน เวลาจะปกติ ส่วนทางเลือกที่จะต้องร่างใหม่นั้น ทำไม่ได้ภายใต้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพราะเมื่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างเสร็จจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที ไม่ผ่านกระบวนการประชามติ โดยจะใช้เวลา 4 เดือน แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 แน่นนอน ดังนั้นจะรับหรือไม่รับนั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดของประชาชนว่าจะหยาบหรือละเอียด อยู่ที่พลังฝ่ายใดจะโน้มน้าวจูงใจคนในสังคมมากกว่ากัน แต่ตนอยากได้ความคิดที่ละเอียดให้มีโอกาสอ่านสาระของรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ศึกษาใคร่ครวญและถกเถียงให้คนตกผลึก ทำให้การตัดสินใจมีเหตุผลมีความหมาย ไม่ใช่หย่อนบัตรแต่ไม่รู้เรื่อง และผลของประชามติต้องยุติ ไม่ใช่เสร็จแล้วมาตีรวนกัน.