เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม สำนักทีดีอาร์ไอ หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาในสมัย “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำงานวิจัยด้านต่างๆในการพัฒนาประเทศไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และความพร้อมการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง” มีกูรูผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน รวมทั้งตัวแทนจาก กระทรวงคมนาคม ด้วย

ผลการสัมมนาที่รายงานตามสื่อต่างๆน่าสนใจมาก

ผมขอเริ่มต้นที่เจ้าภาพ คุณสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ ของสถาบันทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่ง คุณสุเมธ พูดแบบฟันธงเลยว่า การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนอย่างหนัก และสร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาล เนื่องจาก แนวเส้นทางทับซ้อน กับ รถไฟทางคู่ และ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นกรุงเทพฯ–โคราช และใช้เวลาเดินทางไม่ต่างจากการเดินทางด้วยรถยนต์ (เหมือนกับที่ผมเคยเขียนติงไปแล้ว)

เรื่อง จำนวนผู้โดยสาร ตอนนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาว่า มีจำนวนเท่าไหร่ จะคุ้มทุนหรือไม่ เช่น หากมีรายรับ 7 ล้านบาทต่อวัน หรือ 3,000 ล้านบาทต่อปี ถามว่าเพียงพอต่อค่าบำรุงรักษาและค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากเป็นไปได้ รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี โดยให้เอกชนเดินรถและซ่อมบำรุง รัฐลงทุนเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการเวนคืนที่ดิน

ที่สำคัญ รัฐบาลควรจะเปิดเผยผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และ แนวทางการลงทุนที่ชัดเจน มีการคัดเลือกใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่เหมาะสมกับไทยเพียงระบบเดียว มีการเชื่อมโยงวางแผนร่วมกับเส้นทางรถไฟทางคู่อย่างเป็นระบบ รวมถึงกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในการวางแผนและบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง

...

เป็นความเห็นที่ดีมาก ตรงไปตรงมา ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

แต่วันนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ยังไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง แต่ กระทรวงคมนาคม จะยกโครงการให้ รถไฟจีน ไปโดยไม่ต้องมีการประมูล อนาคตเมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็คงจะมีการนำประเด็นขึ้นมาพิจารณา

ผมเห็นด้วยกับ คุณสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันทีดีอาร์ไอ ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนอย่างหนัก และสร้างความเสียหายแก่รัฐบาล

เพราะในเวทีเดียวกัน คุณพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในเวทีเสวนาว่า ผลการศึกษาเบื้องต้น เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้กำหนด อัตราค่าโดยสารไว้ 532 บาท ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 16 นาที

ค่าโดยสาร รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช คนละ 532 บาท ถือว่าถูกมาก ผมไม่รู้ว่า กระทรวงคมนาคม คิดมาจากฐานอะไร จำนวนผู้โดยสารเท่าไหร่ ผมลองคิดที่ รายได้วันละ 7 ล้านบาท ที่คุณสุเมธยกตัวอย่าง ต้องมีผู้โดยสารวันละ 13,000 กว่าคน สมมติมีผู้โดยสารเที่ยวละ 500 คน รถไฟต้องวิ่งถึงวันละ 26 เที่ยว ต้องออกจากสถานีทุกครึ่งชั่วโมง ไม่งั้นต้องวิ่งเกิน 24 ชั่วโมงต่อวัน จะมีผู้โดยสารมากขนาดนี้หรือไม่

จากผู้โดยสารไปดู มูลค่าการลงทุน ฝ่ายไทยบอกว่า 170,000 กว่าล้านบาท ฝ่ายจีนบอกว่าต้อง 190,000 ล้านบาท ผมคิดตรงกลาง 180,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ตามที่ฝ่ายไทยต่อรองกับจีน ต้นทุน 180,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ก็ตกปีละ 3,600 ล้านบาท เมื่อเอาไปเทียบกับ รายได้วันละ 7 ล้านบาท ปีละ 2,555 ล้านบาท ไม่พอจ่ายค่าดอกเบี้ยด้วยซ้ำ

ผมจึงเห็นด้วยกับ ผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ ว่า โครงการนี้เสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างหนัก และสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลในอนาคต อย่าให้เป็นแบบโครงการรับจำนำข้าว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”