"ประยุทธ์" ชี้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นการดึงศักยภาพสิ่งที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อ ศก.มหภาค ชวนคนไทยดาว์โหลด "บทฉันท์เฉลิมพระเกียรติฯ" สวดมนต์ถวายพระพร แด่ "ในหลวง-พระราชินี" ชม "ด.ช.ประทีป" รักชาติ ไม่นิ่งดูดาย ฝ่าสายฝนเก็บธงชาติ ยก "สุริยะ" สะท้อนเนื้อแท้ความเป็นไทย ยกย่อง "มณเฑียร" คกก.ว่าด้วยสิทธิคนพิการยูเอ็นอีกสมัย ไม่ท้อแท้โชคชะตา ยกประชามติร่าง รธน. 7 ส.ค. สนับสนุนใช้สิทธิเทียบเท่าคนทั่วไป
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า สำหรับการพัฒนาศักยภาพจากสิ่งที่มีอยู่ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อเศรษฐกิจมหภาค เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย โดยได้มีการปรับปรุง และพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งผลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปได้ว่าพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมอากาศยานครบวงจร ซึ่งจะประกอบไปด้วย กิจกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ของท่าอากาศยาน ไม่ต้องเสียเวลา และงบประมาณ ส่งเครื่องบินไปซ่อมในต่างประเทศ เพราะเราพร้อมทั้งเรื่องการร่วมทุน และนักลงทุนของไทยอยู่แล้ว จะขยายการซ่อมเครื่องบินไปทุกสายการบินด้วย รวมถึงกิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งจะต้องอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ซึ่งมีอยู่หลายที่ด้วยกัน และที่สำคัญคือการยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ นอกเหนือจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดตอบสนองต่อภารกิจ 2 ด้านอย่างสมดุล ภายใต้แนวคิด "One Airport Two Missions" ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงและเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับโดยการใช้งานสนามบินที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการบิน ทั้งในประเทศและในภูมิภาค ที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกวัน อีกทั้งจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก โดยบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเลสู่การท่องเที่ยวสีเขียว เชื่อมโยงกันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
...
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ ว่า ตนและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีโอกาสสักการะศาสนสถานที่สำคัญของศาสนาพุทธ ที่เรียกว่า "สังเวชนียสถาน" ทั้ง 4 แห่ง ได้มีโอกาสสวดมนต์ และเจริญจิตภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และได้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ด้วยบทฉันท์เฉลิมพระเกียรติฯ (เรียกว่า สตฺตติวสฺสรชฺชกาลวรทานคาถา อ่านว่า สัตตะติวัสสะรัชชะกาละวะระทานะคาถา) ทั้งนี้ ภายหลังประกอบพิธีสำคัญดังกล่าว ก็ปรากฏว่ามีฝนโปรยปรายมาสร้างความชุ่มฉ่ำ ปลาบปลื้ม และประหลาดใจ ในคราวเดียวกัน เนื่องจากทราบมาว่า บริเวณนั้นไม่มีฝนตกมานานหลายเดือนแล้ว สำหรับบทฉันท์เฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าวนั้น มหาเถรสมาคม (มส.) เห็นชอบให้ทุกวัดและพุทธศาสนิกชนไทย ทั้งในประเทศและทั่วโลกได้ใช้สวดหลังทำวัตรเย็น หรือหลังสวดมนต์ที่บ้านประจำวัน เพื่อถวายพระพร ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2559–30 มิ.ย. 2560 พี่น้องประชาชน สามารถดาวน์โหลดบทฉันท์เฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมคำแปล ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ http://www.onab.go.th.
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวชื่นชม ด.ช.ประทีป ช่วงชู นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม อ.เมือง จ.อ่างทอง ที่เดินฝ่าสายฝนไม่กลัวเปียก เพื่อเก็บธงชาติที่ปลิวลมมาตกอยู่กลางถนน ว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เป็นตัวอย่างของเด็กรุ่นใหม่ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องของ "ความรักชาติ" ที่เรากล่าวแล้วว่า "รักได้ทุกวัน" ไม่นิ่งดูดาย ยิ่งกว่านั้น คำกล่าวของ ด.ช.ประทีป ที่น่าประทับใจก็คือ "ครูสอนว่าธงชาติเป็นของสูง เพราะแสดงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ต้องควรอยู่ที่สูง" และขอบคุณครูด้วย แต่ก็ห่วงอุบัติเหตุและสุขภาพของเขาเหมือนกัน เพราะยังเด็กอยู่ พร้อมขอบคุณ นายสุริยะ เจริญ นักเรียนรุ่นพี่ ที่พบเห็นสิ่งดีๆ ในสังคมแล้วถ่ายภาพมาแชร์ในสังคมออนไลน์ เป็นการใช้สื่อโซเชียลที่สร้างสรรค์ เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะถือเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เห็นว่ามันแสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ในสังคมไทย ที่เรามีประวัติศาสตร์ของสถาบันหลักมายาวนาน ให้ชนรุ่นหลังซึ่งมีความภาคภูมิใจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า "อีกบุคคลตัวอย่าง ขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวไทยในการแสดงความยินดีคือ คุณมณเฑียร บุญตัน ที่พิการทางสายตาแต่กำเนิด ในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ สมัยที่ 9 ได้มีมติ "เห็นชอบ" ให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ อีกสมัยหนึ่ง (วาระ 4 ปี พ.ศ. 2560–2563) แสดงให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้ประจักษ์ในศักยภาพ ผลงาน และความมุ่งมั่นในการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิคนพิการของ คุณมณเฑียร แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ เกิดในครอบครัวชาวนา แต่ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิต ปัจจุบันก็เป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนบทบาท นายมณเฑียร ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ต่อไป ผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น การลงประชามติ 7 ส.ค.นี้ ก็มีวิธีการพิเศษเฉพาะสำหรับคนพิการ"