นปช. อดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั้งประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เกี่ยวกับประชามติ หลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตร. ฝ่ายปกครอง รับคำสั่งตรวจค้น และยุติการจัดกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด

จากกรณีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดกิจกรรมและเคลื่อนไหวก่อตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา (19 มิ.ย. 59) พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เข้าไปขอตรวจค้น และร่วมทำความเข้าใจกับผู้ที่จัดกิจกรรม เนื่องจากผิดคำสั่ง คสช. การชุมนุมเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ากลุ่ม นปช.ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และงดจัดกิจกรรมดังกล่าวในหลายจังหวัด

ขณะที่จ.เพชรบูรณ์ นายสิทธิชัย ต๊ะอาจ ผู้ประสานงานและแกนนำกลุ่ม นปช.เพชรบูรณ์ พร้อมแนวร่วมประมาณ 50 คน ได้นัดและรวมตัวกันที่ บ้านเลขที่ 319 หมู่ 13 ต.สะเดียง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ จัดกิจกรรมการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พร้อมติดตั้งแผ่นป้ายไวนิลข้อความ ปราบคนโกงประชามติและเปิดศูนย์ปราบโกงเพชรบูรณ์

ต่อมา เวลาประมาณ 09.30 พันโท วุฒิพัฒน์ ปรัชญ์ฐากรณ์ ผบ.ม.พัน 26, พ.ต.ต.เดือน วัฒนสุข สว.กก.สืบสวนฯ และ นายเอกชัย กังคำ ผู้ช่วยปลัดจังหวัดได้นำกำลังสามฝ่ายเข้าไปเจรจาขอความร่วมมือให้ปลดป้ายลง กระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. นายสิทธชัย จึงปลดป้ายออกโดยไม่มีการกระทบกระทั่งหรือเกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับ

...

ชาวบ้านนครพนมอ้างได้เงิน คนละ 200 ถือป้าย

ส่วนจ.นครพนม พ.ต.อ.อุกกฤษฎ์ ทรงชัยสงวน ผกก.สภ.เมืองนครพนม พ.ท.วิชิต สุภา รอง หน.กลุ่มข่าว กอ.รมน.นครพนม นำกำลังไปที่บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม โดยเชิญตัวกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไปร่วมถือป้ายเกี่ยวกับการลงประชามติ ที่ใต้สะพานข้ามโขง 3 นครพนม เมื่อตอนเย็นวันที่ 18 มิ.ย. 59 โดยเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปพูดคุยที่ สำนักงาน กอ.รมน.นครพนม เพื่อสอบปากคำ พบว่าแกนนำที่พาชาวบ้านไปถือป้ายคือ นายดำรงศักดิ์ พุทธา เป็นอดีต ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ไปติดตามตัวแล้วไม่พบ ทราบว่าไปกรุงเทพฯ

จากการสอบปากคำชาวบ้านให้การว่า รับเงินคนละ 200 บาท จากนายดำรงศักดิ์ ซึ่งไม่ได้คิดอะไรมาก หลังจากปรับความเข้าใจเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวชาวบ้านกลับบ้าน ส่วน นายดำรงศักดิ์ เจ้าหน้าที่จะติดตามตัวมาสอบสวนต่อไป

เชิญผู้มีส่วนร่วมมาปรับทัศนคติ จนเข้าใจ ยึดเสื้อที่จะแจก

เช่นเดียวกับจ.อุดรธานีพ.ต.อ.อำนาจ ถนอมทิพย์ ผกก.สภ.โนนสะอาด พร้อมด้วย ชปพท.1321 พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง อ.โนนสะอาด ออกไปยังหมู่บ้านหนองโก หมู่ที่ 7 ต.บุ่งแก้ว ที่มีการติดตั้งป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยเชิญ นางภริตพร หงษ์ธนิธร (ดีเจเก๋ง) อดีตที่ปรึกษาสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย และนางวาสนา เดนหล้า อดีตเหรัญญิก สมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงพร้อมด้วยชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่มาร่วมติดตั้งป้ายตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมฝ่ายปกครองได้ไปนำตัวบุคคลดังกล่าวพร้อมป้าย เพื่อนำมาสอบสวนข้อเท็จจริงและปรับทัศนคติ โดย นปช.ส่วนใหญ่เข้าใจ และไม่ตั้งศูนย์ดังกล่าวแล้ว

ส่วนความเคลื่อน กลุ่ม นปช.ในจ.อุบลราชธานี นำโดย นางรัตนา ผุยพรม อายุ 46 ปี พร้อมสมาชิกคนเสื้อแดง ประมาณ 20 คน ร่วมกันทำบุญเลี้ยงพระเพล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับเพื่อนสมาชิกที่เสียชีวิตไป หลังจากก่อนหน้านี้ ได้กำหนดเป็นวันเปิดศูนย์ปราบโกงการลงประชามติตามที่ได้รับการประสานจากกลุ่ม นปช.ส่วนกลาง แต่เมื่อได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของจังหวัดอุบลราชธานี จึงจัดกิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระเพลแทน

ขณะเดียวกัน ภายในงานได้มีการแจกเสื้อสีดำสกรีนข้อความ “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ให้กับผู้มาร่วมงาน แต่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำ จ.อุบลราชธานี ที่มาดูแลความสงบในงานได้ขอร้องไม่ให้สวมใส่ เพราะอาจเข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย

ทหารปลดป้ายศูนย์ปราบโกงฯ สาขาราชบุรี

ส่วนที่บ้านเลขที่ 3/4 ม.11 ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ของนายธีรทัต สระทองแก้ว อดีต สจ. เขต อ.บ้านคา แกนนำ นปช.ราชบุรี หลังจากทราบมาว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ พบว่าที่บริเวณหน้าบ้านนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตร. และฝ่ายปกครอง กว่า 20 คน โดยมี น.ส.เมธาวี หงส์มนัส ภรรยาของ นายธีรทัต ออกมาต้อนรับ และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาสังเกตการณ์

ทั้งนี้ ในกลุ่มของ นปช.ราชบุรี มีการพูดคุยตกลงกันว่า จะจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านของตนในวันนี้ และได้ขึ้นป้ายมาตั้งแต่เมื่อคืน ซึ่งได้มีการนัดหมายสมาชิกมาร่วมเปิดศูนย์ฯ ในเช้าวันนี้ด้วย แต่เมื่อช่วงเช้ามืดก็มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาหา และขอให้ปลดป้ายลง พร้อมทั้งเชิญตัว นายธีรทัต ไปพูดคุยทำความเข้าใจ โดยไม่ทราบว่าเป็นที่ใด

ด้านจ.ตาก ที่บ้านเลขที่ 75/28 บ้านสองแคว 2 เขตเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นบ้านของ นางฐานิตย์ อินทะสิน หรือ เจ๊แมว นายสมหมาย พานิชย์ และสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดง ประมาณ 20 คน ทำการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ มีการขึ้นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ที่หน้าบ้านมีข้อความ 'ประชามติต้องไม่ล้ม' รวมทั้งมีหมายเลขโทรศัพท์แจ้งการโกงในวันลงประชามติ

ต่อมา ทหารหน่วยเฉพาะกิจพร้อมอาวุธครบมือ ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด และตำรวจ สภ.แม่สอด กว่า 20 นาย ได้เข้าไปทำการปลดป้ายและยึดเก็บไว้ทันที และเจรจาขอให้หยุดกระทำดังกล่าว รวมทั้งบันทึกข้อตกลงจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวอีก และให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการสวมใส่เสื้อสีดำที่มีอักษร ไม้ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า อีกด้วย

เปิดบ้านเช่า 2 จุดในสตูล จ่อเปิดศูนย์ปราบโกงฯ

ฝั่งภาคใต้ที่จ.สตูล พล.ต.ต.ทัตธงสักก์ ภู่พันธัชสีห์ ผบก.ภ.จ.สตูล พร้อมด้วย นายชอบ จันทร์ฉาย นายอำเภอท่าแพ จ.สตูล ได้ระดมกำลังชุดควบคุมฝูงชน จากโรงพักต่างๆ ในพื้นที่ จ.สตูล ร่วมกับชุดสืบสวนตำรวจภูธร จ.สตูล ทหาร ร.5พัน2 อส. และตำรวจ สภ.ท่าแพ รวมประมาณ 150 นาย โดยกระจายกำลังเป็น 3 จุด จุดแรกที่บ้านเช่าเลขที่ 278/7 หมู่ที่ 2 (ริมถนนสายละงู-ฉลุง ฝั่งขาเข้าตลาด อ.ท่าแพ) ซึ่งเป็นบ้านที่กลุ่ม นปช.สตูล เช่าเพื่อเปิดเป็นศูนย์ปราบโกงประชามติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าตรึงกำลัง ทางเจ้าของบ้านเช่าได้ขึ้นป้าย (บ้านนี้ยกเลิกการเช่า” และไม่มีกลุ่ม นปช.เข้าไป ส่วนจุดที่ 2 ที่กำลังเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังคือ บริเวณท่าเรือบ้านทุ่งริ้น หมู่ที่ 1 ต.สาคร อ.ท่าแพ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทางการข่าวรายงานว่าจะมีการเปิดเป็นศูนย์ดังกล่าว ส่วนกำลังชุดที่ 3 เตรียมพร้อมที่ สภ.ท่าแพ เพื่อรอสนับสนุนหากมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น