เผยเหตุ พท.เต้นแถลงจุดยืน ตัดหาง “พัลลภ-เสธแดง”ผวากระทบกระแส หวั่นมือที่สามสร้างสถานการณ์ป่วน ชงให้ ส.ส.เกาะติดพื้นที่ ฟันธงมาร์คถึงทางตันโอกาสยุบสภาสูง......
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ก่อนที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ แถลงจุดยืนแนวทางของพรรคนั้น ที่ประชุมได้วิเคราะห์ถึงการเคลื่อนไหวของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก โดยวิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวที่มีลักษณะรุนแรงของ พล.ต.ขัตติยะ ไม่เป็นผลดีต่อทั้งพรรคเพื่อไทย และกลุ่มเสื้อแดง ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ควรแสดงบทบาทและย้ำจุดยืนของพรรคในการต่อสู้ ตามหลักการระบอบประชาธิปไตย และต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยเฉพาะการที่ พล.อ.พัลลภ ออกมาเสนอแนวคิดตั้งกองทัพประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น แม้พรรคเคารพในการนำเสนอเพราะถือเป็นสมาชิกพรรค แต่พรรคมีความกังวลว่า ประชาชนจะเกิดความสับสน และเสียแนวร่วมของพรรคและกลุ่มเสื้อแดง รวมทั้งอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามใช้โจมตี หรือสร้างสถานการณ์ได้
โดยเฉพาะเรื่องกองทัพประชาชนฯดังกล่าว เพราะในสถานการณ์ขณะนี้มีความอ่อนไหวมากประกอบกับการปลุกเร้ากระแสการชุมนุม ของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งล่อแหลมอาจสุกงอมและนำไปสู่การสร้างสถานการณ์ของมือที่ 3 ทำให้สถานการณ์รุนแรง ดังนั้น จึงควรที่ประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญหากเหตุการณ์ รุนแรงและทำรัฐประหารก็จะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนโดยรวมและ อาจทำให้มีใช้กำลังปราบคนเสื้อแดง ดังนั้น ที่ประชุมได้มีแนวคิดเสนอให้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ทางการเมืองในขณะนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทำความเข้าใจประชาชน ไม่ให้นำไปสู่การเผชิญหน้า
ทั้งนี้ ที่ประชุม ยังมีการวิเคราะห์ปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลหลายเรื่องโอกาสนำไปสู่ทางตันสูง โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลจากการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากการพิจารณาแล้วมีการหยิบเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร..ของ นพ.เหวง โตจิราการ ที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นหลักขึ้นพิจารณาร่วมแล้ว อาจทำให้เสียงในพรรคร่วมรัฐบาลแตกซึ่งอาจเกิดการสลับขั้ว นอกจากนี้ อีกเงื่อนไขหนึ่ง หากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะเป็นแรงกดดันบีบรัฐบาลอีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามจะทำให้เพิ่มอำนาจการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลมีสูงขึ้นเพราะมีปัญหารุมเร้าและเงื่อนไขต่างๆอาจส่งผลให้นายกรัฐมนตรี เลือกชิงยุบสภา ก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ.
...