ตอนนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกำลังอ่วม จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แม้รัฐบาลจะอัดฉีดสารพัด ก็ยังไม่ฟื้น เพราะกำลังซื้อไม่มี ไปไม่รอดก็ต้องล้มละลาย แต่วันนี้มีข่าวดีมาบอก ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหา ถ้าขาดทุนไปไม่รอด ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์อีกต่อไปแล้ว มีกฎหมายใหม่ออกมาให้โอกาสฟื้นฟูเพื่อต่อสู้ต่อไป

กฎหมายใหม่นี้ก็คือ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เสนอให้มี กฎหมายล้มละลายฉบับนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ บุคคลธรรมดา คณะบุคคล และ นิติบุคคลตามกฎหมาย ที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือจดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายนี้กำหนด

ผมก็หวังว่า พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายที่ สามารถใช้ได้จริง ไม่ใช่กฎหมายบนหิ้ง ที่ถูกดองอยู่ในกระทรวงเกือบร้อยฉบับ แม้แต่เจ้ากระทรวงยังไม่รู้ว่ามีกฎหมายเหมือนอย่างที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรียุติธรรม แถลงวันก่อน

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หลังจากที่ พล.อ.ไพบูลย์ แถลงเรื่องนี้แล้ว ยังไม่เห็นมีกระทรวงไหนเคลื่อนไหว นำกฎหมายเหล่านี้มาปัดฝุ่นใช้บังคับ เห็นเงียบกริบกันทั้งรัฐบาล

กฎหมายล้มละลายฉบับนี้ ผมเห็นว่า เป็นกฎหมายที่ช่วยสร้างขวัญ และกำลังใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในธุรกิจอย่างแท้จริง ช่วยให้เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหาการเงิน แต่ใจยังสู้เต็มร้อย ได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการของตัวเอง เหมือนบริษัทจำกัดทั่วไป หลังจากที่ธุรกิจเอสเอ็มอีถูกรัฐบาลละเลยมานาน ใครขึ้นมาก็บอกว่าสนับสนุน แต่ไม่เคยดูแลช่วยเหลืออย่างจริงใจให้เกิดความเท่าเทียมกัน

...

คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้เปิดเผยว่า การฟื้นฟูกิจการธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. หรือจดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ หากไม่สามารถชำระหนี้จากการประกอบกิจการได้ สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ตามกฎหมาย

กฎหมายได้กำหนด “มูลหนี้” ที่จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้ คือ บุคคลธรรมดา ต้องมีหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ถ้าเป็น คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องมีหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท และ บริษัทจำกัด ต้องมีหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน หรือในอนาคตก็ตาม

เมื่อ ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จะต้องพักการชำระหนี้ทันที ไม่ถูกบังคับให้ชำระหนี้ ไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ไม่ถูกยึดทรัพย์ เจ้าหนี้รายอื่นๆก็ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ขณะที่เจ้าหนี้ใหม่หรือสถาบันการเงินก็จะให้เงินกู้ก้อนใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

ผมไม่รู้ว่า ศาลล้มละลายกลาง ได้เตรียม ผู้พิพากษา และบุคลากรไว้รองรับกฎหมายล้มละลายเอสเอ็มอีไว้เพียงพอหรือไม่ เพราะเชื่อว่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นขอฟื้นฟูกิจการหลายหมื่นรายขึ้นไปแน่นอน แค่กฎหมายออกมาไม่กี่วัน ก็มีแบงก์รัฐส่งรายชื่อกว่า 4 พันรายไปให้แบงก์เอสเอ็มอีแล้ว ยังไม่นับลูกค้าจากแบงก์พาณิชย์อีก

เขียนเรื่องนี้แล้วผมก็นึกถึงเหตุการณ์ วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ขึ้นมาทันที

เศรษฐกิจไทยอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ แบงก์และธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากการดิ้นรนต่อสู้ของ “เจ้าของกิจการ” ทั้งสิ้น ไม่เพียงต้องดิ้นเอาตัวรอดจากเจ้าหนี้ ยังต้องดิ้นรนหนีจากการถูกรัฐบาลมัดมือเอาไปขายโบรกเกอร์ต่างชาติในราคาถูกอีกด้วย ถ้าไม่ใช่ธุรกิจที่มีเจ้าของเอกชน ไม่มีทางรอดแน่นอน การให้โอกาสเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีในการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นเรื่องที่ดี ยกเว้น “พวกตั้งใจโกง” ที่มีอยู่เต็มตลาด น่าจะออกกฎหมายใหม่มาจัดการให้เข็ดเสียบ้าง ก็จะดีนะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”