นายกฯ ลั่นไม่ดึง ตปท.ร่วมสังเกตประชามติ ชี้แสดงความเห็นร่างฯได้ แต่อย่าผิด ก.ม. วอนชาวเชียงใหม่อย่าเอาคำพูดมาบิดเบือน แห่ประท้วงเข้า กทม. ย้ำปี 60 มีเลือกตั้ง แจง รบ.ใช้ ก.ม.เพื่อความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. เวลา 14.00 น. ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตอนหนึ่งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตนไม่โทษใคร แต่คนที่ต้องไปด้วยกัน ทั้งนี้การออกกฎหมายแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะทุกคนไม่ปฏิบัติตามถึงต้องมีวันนี้ ตนได้พยายามทำเต็มที่ ทำทุกอย่างให้เป็นธรรม แม้จะมีมากบ้างน้อยบ้างแต่ก็ทำทุกพื้นที่ แต่ไม่ต้องการให้แตกแยก เข้ามาไม่ต้องการคะแนนเสียง แต่มาเพราะจำเป็น จึงไม่อยากให้ฟังคำบิดเบือน ตนขี้เกียจตอบโต้ บางครั้งมีอารมณ์ต้องขอโทษ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าไม่เคยสนับสนุนคนที่ทุจริต ผิดกฎหมาย ถ้ามีใครเรียกรับผบประโยชน์ จะต้องถูกลงโทษทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ขออย่าทะเลาะด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอีก ขอให้ทุกคนตัดสินใจเอง อย่าให้ใครมาปลุกปั่น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เราต้องเอากฎหมายมาสร้างความร่วมมือ และประชาธิปไตยต้องไม่มีความขัดแย้ง หากย้อนไปดูความสูญเสีย เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกก็เป็นเพราะคนไทยเปิดประตูให้ข้าศึกเข้ามา เหมือนกับปัจจุบันที่คนไทยเปิดความขัดแย้ง เรียกให้ต่างชาติเข้ามาดู แล้วไม่รักแผ่นดินกันหรืออย่างไร ซึ่งตนอยู่มาทุกรัฐบาลไม่เคยมีความขัดแย้ง แต่เมื่อใดที่ชาติไม่ปลอดภัย ตนจึงต้องเข้ามา และที่เข้ามาก็ไม่ได้อยู่สบาย เพราะต้องทำเพื่อให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าคนไทยเป็นคนซื่อสัตย์ มีความกตัญญู ใครให้อะไรมาก็รับ แต่ต้องคิดใหม่ว่าเขาให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ นอกจากนี้ขอให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านเปิดใจให้กว้างอย่าฟังใครคนใดคนหนึ่ง

...

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทุกคนสัญญากับตนได้หรือไม่ว่าจะไม่เข้าไปกรุงเทพฯ อีก ตายไปมากแล้ว ยังไม่รู้ว่าตายเพราะอะไร คนที่พาไปไม่ตายสักคน และวันนี้ยังออกมาพูดกันเรื่อยๆ แต่ตนเชื่อว่าเวรกรรมมีจริง ทั้งนี้ ตนไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการออกเสียงประชามติ แค่ขอให้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ได้บอกว่าให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และอย่าลืมระมัดระวังกฎหมายด้วย วันนี้ขอเวลาแค่ 2 ปี ให้เดินหน้าได้ เพื่อมีการเลือกตั้งในปี 2560 จากนั้นมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ดูแลสถานการณ์ช่วง 5 ปีแรก ที่เหลือเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะปรับลดลงเรื่อยๆ ค่อยปรับ ส.ว.ออก ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับทุกคน ตนจำเป็นต้องรักษากติกา และย้ำว่าในช่วงการออกเสียงประชามติ อย่าตีกัน ต้องระมัดระวัง และบังคับใครไม่ได้ มิฉะนั้นจะเลือกตั้งไม่ได้ หน้าที่ตามประชาธิปไตยคือใช้สิทธิเลือกตั้งและลงประชามติภายใต้ความสงบเรียบร้อย รวมถึงรับฟังความเห็นต่าง ตลอดจนรับฟังคะแนนเสียงส่วนใหญ่ และดูแลเสียงส่วนน้อย.