‘ชุดนักเรียน’กว่า3แสนตัว เครื่องเล่นเด็กตั้งในป่าช้า ยากําจัดศัตรูพืชปลอมปน เตรียมฉะเป็นรายกระทรวง

นายกฯบี้หน่วยงานต้นสังกัดสอบบัญชี ข้าราชการสีเทาพัวพันทุจริต พร้อมใช้มาตรา 44 คืนความเป็นธรรมให้ หากพบไม่มีการทุจริต “วิษณุ” แฉรูปแบบ กลโกง พบพิรุธหลายหน่วยสั่งซื้อของเกินความจำเป็น ประธาน คตร.จับผิดกระทรวงศึกษาธิการรัฐบาลที่แล้ว ซื้อชุดนักเรียนเกินความต้องการ เหลือค้างสต๊อกจำนวนมาก ปลัด ศธ.ยอมรับ สกสค.สั่งซื้อชุดนักเรียนเก็บค้างสต๊อกมากกว่า 3 แสนตัว หวังฟันค่าหัวคิว สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง รอรายงาน รมว.ศึกษาธิการ ขณะที่ สตง.เกาะติดสองหน่วยงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซื้อเครื่องเล่นเด็กซ้ำซ้อน แต่ไม่มีที่ตั้ง ต้องนำไปไว้ที่ป่าช้า จ.พระนครศรีอยุธยา

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศนโยบายเด็ดขาดกวาดล้างการทุจริตทั่วประเทศ โดยจัดทำบัญชีรายชื่อข้าราชการสีเทา และใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักงานข้าราชการไปแล้วสามรอบ พร้อมส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนบัญชีรายชื่อข้าราชการที่พัวพันการทุจริตในสามรอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้หน่วยงานต้นสังกัดเร่งตรวจสอบ เพราะถ้าไม่ผิดจะได้คืนความเป็นธรรม ใช้คำสั่งมาตรา 44 ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเห็นใจ เพราะการพักงานอยู่เช่นนี้ถือเป็นบาปกรรม บางคนถูกสั่งพักงานจนหมดวาระ บางคนใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการท้องถิ่น แต่คงไม่มีการเยียวยา ส่วนกรณีถ้าพบว่า มีความผิดจริง ให้เดินหน้าสอบเต็มที่ และลงโทษทางวินัยต่อไป บางคนถูกสอบหลายข้อหา โดยการตรวจสอบจะยึดผลสอบของต้นสังกัดเป็นหลัก

...

นายวิษณุกล่าวว่า จากการสอบสวนบัญชีรายชื่อข้าราชการทั้งสามรอบ พบการโกงที่พิลึกพิลั่น มีทั้งทุจริตการสอบ การทุจริตสั่งซื้อของเกินจำนวนที่จำเป็น ซึ่งมีหลายหน่วยงาน แทนที่จะซื้อเท่าที่ใช้ประโยชน์ แต่ซื้อเกินจำนวนหลายแสนหลายล้านชิ้นอาทิ การสั่งจัดซื้อเสื้อผ้า ที่ทำสูญเสียงบประมาณหลายร้อยล้านบาท ขณะนี้ยังไม่ได้คำตอบว่า ซื้อเกินทำไม ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานกลาง โดยเร็วๆนี้หน่วยงานที่ถูกตรวจสอบพบ ทางเจ้ากระทรวงต้นสังกัดจะออกมาให้ข่าว ตนกำลังคิดว่า หากสอบเสร็จแล้ว จะนำของเหล่านี้มาขายเลหลัง ส่วนบัญชีข้าราชการพัวพันการทุจริตลอตที่ 4 ทางศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ยังไม่มีการส่งรายชื่อมาให้พิจารณา

พล.อ.ชาตอุดม ดิตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวว่า ความผิดปกติจากการจัดซื้อสิ่งของเกินความจำเป็นของหน่วยงานรัฐนั้น เบื้องต้นที่ตรวจสอบพบคือ หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดซื้อชุดนักเรียนเกินความจำเป็น อาทิ มีความต้องการ 3 หมื่นชุด แต่มีการจัดซื้อถึง 5 หมื่นชุด ทำให้ ณ วันนี้เหลือชุดนักเรียนเป็นจำนวนมาก เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการไปตรวจสอบ และสอบสวนหาคนทุจริตมาดำเนินคดี นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งการให้ทุกกระทรวงตรวจสอบว่า มีการกระทำความผิดในลักษณะนี้อีกหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบคดีที่หมดอายุความว่า มีคดีใดบ้าง ความล่าช้าอยู่ที่ใคร มีเจตนาปล่อยให้คดีหมดอายุความ เพื่อไม่ให้มีผู้รับผิดชอบหรือไม่ เพื่อหาคนรับผิดชอบ

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี คตร.ตรวจสอบพบกระทรวงศึกษาธิการจัดซื้อชุดนักเรียนเกินความจำเป็น ทำให้มีชุดนักเรียนเหลือเป็นจำนวนมากว่า เท่าที่ทราบน่าจะเป็นกรณีองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่มีการสั่งซื้อชุดนักเรียนเพื่อจำหน่าย และเกิดการค้างสต๊อกสะสมมาเป็นเวลา 5-10 ปี ซึ่งจำนวนตัวเลขไม่ใช่แค่ 5 หมื่นแต่มีมากถึง 3 แสนกว่าตัว โดยไม่ได้นำของเก่าที่มีอยู่ออกมาจำหน่าย จากการพิจารณาเบื้องต้นน่าจะเป็นการสั่งซื้อมาเพื่อที่จะกินหัวคิว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ไปตรวจสอบข้อมูล และให้รีบรายงานกลับมาภายในวันที่ 18 เม.ย.นี้ และนำเสนอ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เชื่อว่าคงเอาผิดผู้ดำเนินการได้ยาก เพราะเป็นการสั่งซื้อที่สะสมมาเป็นเวลานาน

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่ คตร.ตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างชุดนักเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความผิดปกติว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์การค้าฯหรือไม่ เพราะไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน แต่ทราบว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การค้าฯมีการจัดซื้อจัดจ้างชุดนักเรียนมาไว้ในสต๊อก เพื่อจำหน่ายในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายหมื่นตัว สะสมมาเรื่อยนับ 10 ปี มียอดรวมกว่า 360,000 ตัว ซึ่งองค์การค้าฯกำลังจะนำชุดที่ค้างสต๊อกขณะนี้ออกมาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูกตามนโยบายของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมาจะผิดปกติหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไป

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุการตรวจสอบข้าราชการที่มีรายชื่อพัวพันการทุจริตในสามรอบ ซึ่งมีการซื้อสิ่งของซ้ำซ้อนกันจำนวนมากว่า นอกจากที่นายวิษณุยกตัวอย่างเรื่องการจัดซื้อเสื้อผ้าเกินความจำเป็นแล้ว สตง.ยังตรวจสอบพบว่า มีการจัดซื้อสิ่งของซ้ำซ้อนกันอีกหลายรายการ อาทิ ยากำจัดศัตรูพืชที่ซื้อทุกปีแล้วไม่ได้ใช้งาน จากผู้ขายที่ส่วนใหญ่เป็นรายเดียวกันเกือบทุกจังหวัด มีมูลค่ารวมกันกว่า 7 พันล้านบาท และยังพบว่า จัดซื้อในราคาแพงกว่าราคาจริงถึง 20 เท่า โดยครึ่งหนึ่งเป็นของปลอม หากนำทั้งหมดมาใช้ คนไทยคงตายทั้งประเทศ รวมถึงเครื่องเล่นสันทนาการเด็ก ที่มีการจัดซื้อซ้ำซ้อนในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระหว่างกรมการท่องเที่ยวกับกรมพลศึกษา ทำให้เครื่องเล่นบางส่วนไม่มีที่ติดตั้งในบางจังหวัด เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องไปติดตั้งในป่าช้า นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์การเรียน การสอนเช่น ซีดี สารคดี ที่จัดซื้อจำนวนมากในทุกปี สตง.ได้ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เรื่องการจัดซื้อเครื่องเล่นสันทนาการเด็กซ้ำซ้อนกัน ระหว่างกรมการท่องเที่ยวกับกรมพลศึกษานั้น เป็นการจัดซื้อเครื่องเล่นเด็กโดยใช้งบประมาณปี 2555-2556 ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไม่ได้นิ่งเฉย แม้จะไม่ใช่การจัดซื้อที่เกิดขึ้นในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง แต่ต้องเคลียร์เรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน ขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าระดับหนึ่งแล้ว โดยจะตรวจสอบทั้งประเด็นที่มีการจัดซื้อซ้ำซ้อนของทั้งสองหน่วยงาน และการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริง แต่รายละเอียดทั้งหมดจะเปิดเผยได้ เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช.กล่าวว่า ในส่วนของการทุจริตสิ่งปลูกสร้างสนามเด็กเล่นตามโรงเรียนต่างๆและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น ป.ป.ท.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปร่วมตรวจสอบในฐานะหน่วยงานของ ศอตช. พบว่าพื้นที่กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แถบอีสาน และภาคเหนือเป็นหลัก มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ ป.ป.ท. และดีเอสไอสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.ไปดำเนินการแล้ว