ยังแทงกั๊กรับ-ไม่รับ บิ๊กตู่จวกนักการเมือง กลัวคสช.ปฏิรูปสำเร็จ
“อภิสิทธิ์” นำทีมแถลงจุดยืน ปชป.ไม่รับคำถาม พ่วง ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ-ไม่เห็นด้วยร่าง รธน. ชี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี แต่แทงกั๊กไม่ฟันธงรับหรือคว่ำร่าง รธน.รอฟันธงก่อนลงประชามติ จวก คสช.ให้ ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิเท่า ส.ส.ลบล้างเจตจำนงของประชาชน โวยแก้ รธน.ยาก วางกับดักบท เฉพาะกาลให้ ส.ว.เอี่ยวตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง คล้าย รธน. ปี 2521 เปิดช่องต่ออายุยืดบทเฉพาะกาล พท.เตือนผู้มีอำนาจเร่งถอดสลักก่อนเกิดวิกฤติ “วรชัย” สวน “มาร์ค” จ้อเอาดีใส่ตัว กล่าวหาบางกลุ่มยกปมรับ-ไม่รับมาเล่นการเมือง กกต.หารือ “วิษณุ” ตีกรอบ หลักเกณฑ์ซาวเสียงส่งข้อกังวลคำถามพ่วงของ สนช. ใส่มือรัฐบาล “อลงกรณ์” ผวา ปชป.-พท.-นปช.ผนึกกำลังต้าน ถ้าเสียงเห็นชอบก้ำกึ่งเสี่ยงก่อชนวนขัดแย้งอีกรอบ
หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ยืนยันว่าประเด็นคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ที่ถูกฝ่ายการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน ไม่สามารถปรับแก้ไขอะไรได้แล้วต้องยึดตามมติสนช.ทุกถ้อยคำ ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์แถลงจุดยืนของพรรคระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และไม่รับคำถามพ่วงประชามติดังกล่าว
ปชป.โชว์จุดยืนไม่รับ ส.ว.โหวตนายกฯ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 เม.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายอภิสิทธิ์แถลงว่า พรรคมีจุดยืน 3 ประเด็นคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเสรีเป็นธรรม แต่เนื้อหาที่ออกมายังสับสนว่าเรื่องใดห้ามหรืออนุญาต เรื่องไหนชี้นำหรือไม่ชี้นำ กกต.ต้องออกมาทำให้ชัดเจน เดี๋ยวประชามติจะเสียเปล่า จากการที่ สนช.ให้ พ.ร.บ.ประชามติคุ้มครอง แต่ กรธ.กับเจ้าหน้าที่รัฐที่รณรงค์และ ชี้นำได้ 2.พรรคไม่เห็นด้วย ไม่รับคำถามพ่วงประชามติที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง เปลี่ยนผ่าน 5 ปี ประชาชนสมควรลงมติไม่รับคำถามนี้ การเริ่มต้นให้ ส.ว.ที่ คสช.สรรหามาร่วมลงคะแนนร่วมกับ ส.ส. โดยมีสิทธิเท่ากันถือว่าลบล้างเจตจำนงของประชาชน เป็นสูตรสำเร็จของการเริ่มต้นความขัดแย้ง จำได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ว่า ไม่เห็นด้วยกับ หลักการนี้ หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะคงยืนยันคำพูด
...
ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า 3.พรรคไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ข้อดี พรรคสนับสนุนเรื่องปราบคอร์รัปชัน ส่วนข้อเสียเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ประชาชน หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยกว่าปี 50 จะแก้รัฐธรรมนูญก็ทำยาก ส่วนในบทเฉพาะกาล 5 ปี ไปทำให้ ส.ว. เกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง คล้ายกับรัฐ– ธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่เปิดช่องให้ ส.ว.มีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สุดท้ายเกิดการต่ออายุบทเฉพาะกาลให้ยืดยาวออกไป พรรคเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีข้อเสียมากกว่าข้อดีจึงไม่เห็นด้วย ประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญปราบโกง เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรต้อง เลือกระหว่างเผด็จการกับคอร์รัปชัน ท่านอาจคิดในใจว่าตนใช้คำว่าไม่เห็นด้วย แต่ทำไมยังไม่พูดว่ารับหรือไม่รับ การตัดสินใจมีปัจจัยทางการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ประชาชนควรมีหลักประกันว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เลวร้ายกว่า มีสิทธิได้คำตอบจาก คสช. นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกเตรียมไว้หมดแล้ว แสดงว่ารู้แต่ไม่บอก ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างยิ่ง
บี้ คสช.เผยแผนสำรองถูกคว่ำไปทางไหน
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคนกลุ่มหนึ่งเอาประเด็นการรับไม่รับร่างไปเล่นการเมือง ขอเรียกร้องให้หยุดการกระทำ เมื่อถามว่า คำว่าไม่เห็นด้วย หมายความว่า ท่าทีของพรรคคือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าว ว่า เราชัดเจนแล้ว เรื่องเนื้อหาสาระไม่เห็นด้วย แต่ การรับหรือไม่รับมีปัจจัยทางการเมืองที่เป็นอนาคตประเทศ จึงเรียกร้องให้ คสช.ควรรับผิดชอบ ให้เกียรติประชาชนให้ชัดเจนก่อน บอกด้วยเมื่อไม่รับร่าง ประเทศชาติมีทางเดินที่ไม่วุ่นวาย ถ้าไม่บอก เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกตนต้องตัดสินใจ แต่ไม่มีสิทธิไปขีดเส้น ให้นายกฯอยู่แล้ว ตนไม่ได้เรียกร้องเพื่อไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจ แต่เพื่อให้ประชาชนที่จะลง ประชามติเขารู้ก่อน คงเป็นเรื่องแปลก ที่จะให้คนไปเลือกระหว่างสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ไม่เห็น
ก่อน 7 ส.ค.ถึงจะฟันธงชัดรับ–ไม่รับ
เมื่อถามว่า ก่อนการลงประชามติ 7 ส.ค. พรรค จะมีจุดยืนที่ชัดเจน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ใช่ อาจก่อน วันลงประชามติพอสมควรด้วย แต่ตอนนี้ถ้าเป็นความ เห็นสุจริต ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ได้ข่มขู่ หยาบคาย ก้าวร้าว ปลุกระดม ควรต้องทำได้ เมื่อถามย้ำว่า จะสรุปท่าทีได้หรือไม่ ถ้ากระบวนการจัดทำประชามติยังไม่เสรีและเป็นธรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นปัญหาในอนาคต ถ้าเกิดการไม่ยอมรับจะเสียหายใหญ่หลวงต่อสิ่งที่ คสช.ทำมาทั้งหมด เมื่อถามว่า เมื่อถึงจุดที่ไม่ยอมรับจะแสดงท่าทีอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เวลาถึงจุดนั้น สุดท้ายหนีไม่พ้นความรุนแรง จะเกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่นายกฯพูดทุกวันว่ากลัว คำว่ากลัวเหมือนอดีตท่านต้องไปดูว่าอดีตเกิดขึ้นจากการไม่ยอมรับกติกา ไม่ยอมรับการใช้อำนาจ แต่ไม่ได้เกิดเพราะว่ามีเลือกตั้ง มีผลการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก
กระทุ้งตราชั่งห้ามเอียงข้างผู้มีอำนาจ
เมื่อถามว่า การให้วุฒิสภามาร่วมเลือกนายกฯเกี่ยวข้องอะไรกับการความพยายามต้องการให้ผู้มีอำนาจกลับมามีอำนาจสูงสุดอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว ต้องเชื่อท่าน ถ้าไม่รักษาคำพูด ก็เห็นบทเรียนในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เมื่อถามว่าบรรยากาศขณะนี้จะมีการประชามติเกิดขึ้นจริงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนที่จะทำให้ไม่เกิดประชามติได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะใช้มาตรา 44 หรือจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เราคิดอยากให้บ้านเมืองเดินหน้าโดยไม่วุ่นวาย จึงระมัด– ระวังอย่างมากในการแสดงจุดยืนทางการเมือง วันนี้ต้องถอยออกมาจากการบอกแค่เพียงว่าจะอยู่ข้างนั้น ข้างนี้ แล้วต่อสู้กัน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา วันนี้ใครมีอำนาจทำให้ชัดเจน กกต.ต้องกล้า อย่าปล่อยให้ประชามติกลายเป็นเรื่องที่มีเฉพาะ กรธ.กับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่พูดรณรงค์ได้ กกต.และองค์กรอิสระต้องกล้าหาญ ยืนหยัดเที่ยงตรง มากกว่า คำนึงถึงความต้องการของผู้มีอำนาจ ถ้าองค์กรอิสระทำไม่ได้ ระบบที่ออกแบบมาทั้งหมดเดินไม่ได้ ส่วนผู้มีอำนาจต้องวางตัวให้องค์กรอิสระทำงานได้ ห้ามไปแทรกแซงกดดัน ไม่ควรมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 กับองค์กรอิสระ ยกเว้นทุจริตหรือทำเสียหายถึงขั้นไม่สามารถใช้วิธีการปกติได้
“ปึ้ง” ชี้ต่างชาติจับตานายกฯใหม่
ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า จากการยืนยันของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุด และจากกระแสเรียกร้องจากนานา ชาติที่ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ถือเป็นแรงกดดันอย่างยิ่ง จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งคงต้องมีขึ้นในปี 2560 แน่นอน แต่หากกฎกติกาที่นำมาใช้ในอนาคตถูกกำหนดขึ้นมาในแบบที่ต่างชาติมองว่า ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ก็น่าเป็นห่วงมาก สื่อต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่การรณรงค์และทำประชามติ และอาจนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดกำหนดทิศทางท่าทีความสัมพันธ์กับไทย รวมถึงการตัดสินใจของนักธุรกิจต่างชาติที่จะเข้ามาค้าขายลงทุน นอกจากนี้ตัวผู้นำหรือนายกฯคนใหม่ จะมีส่วนสำคัญมากที่ต้องนำพาประเทศในรัฐบาลชุดใหม่ จะเป็นใครเข้ามา ด้วยวิธีใด และมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง หรือจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดในสายตาของ สังคมโลกได้หรือไม่ เปรียบเหมือนเถ้าแก่หน้าตาดีขายอะไร คนก็เข้ามาซื้อ
จวกว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานีพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการตั้งคำถามพ่วงประชามติว่า แสดงให้คนทั่วประเทศเห็นว่านี่เป็นการต่อท่ออำนาจ และเห็นชัดว่า สนช.อยู่ภายใต้อำนาจใคร ที่ ชี้หน้าด่านักการเมืองว่าอยู่ภายใต้อำนาจพรรคหรืออำนาจนายทุน วันนี้นิ้วที่เหลือมันชี้เข้าหาตัวเอง เหมือนคำพังเพยว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง คำถามที่จะให้ ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกฯ อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ นี่เป็นการต่อสู้กันระหว่างคนที่มาจากการเลือกตั้งกับคนที่อยากเป็นใหญ่ด้วยการแต่งตั้ง หรืออำนาจประชาชนกับอำนาจแอบแฝง
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำถามพ่วงดังกล่าวเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคม การจะให้ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้ง คสช.เข้ามาเพื่อสร้างความปรองดองอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชนในชาติ การตั้งคำถามเช่นนี้จึงขัดกับเจตนารมณ์ของ คสช.อย่างสิ้นเชิง
เตือนสติเร่งถอดสลักก่อนวิกฤติ
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ อยู่ในช่วงวิกฤติรัฐธรรมนูญ เพราะ 1.พรรคเพื่อไทยและภาคส่วนต่างๆ เช่น เอ็นจีโอ กลุ่มนักศึกษา นัก วิชาการ ออกแถลงการณ์ไม่รับร่างฯ คาดว่าจะมีภาค ส่วนอื่นทยอยให้ความเห็นออกมาเป็นระยะ 2.พรรคประชาธิปัตย์แถลงว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี และยังมีปัญหาในกระบวนการจัดทำประชามติ และจุดยืนที่ไม่รับ คำถามพ่วง 3.สหรัฐฯและอียู มหาอำนาจโลกส่งสัญญาณเตือนประเทศไทยหลายครั้ง หากเหตุการณ์พัฒนาไปถึงขั้นถูกบอยคอตหนักขึ้น ไทยจะเสียหายด้านเศรษฐกิจแค่ไหน เมื่อมีความเห็นต่างอย่างมีนัย สำคัญ ทั้งจากในและนอกประเทศที่มีศักยภาพสูงยิ่ง ผู้รับผิดชอบควรไตร่ตรองทุกแง่ทุกมุมอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน การถอดสลักออกจากวิกฤติเป็นหน้าที่ ของผู้เรียนผูกก็ควรริเริ่มเป็นผู้เรียนแก้
สวน “มาร์ค” พ่นหาประโยชน์ใส่ตัว
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่มีคนกลุ่มหนึ่งนำประเด็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาเล่นการเมืองว่า ไม่รู้ว่านายอภิสิทธิ์หมายถึงใคร แต่คงไม่ต้องปฏิเสธรวมถึงไม่ต้องเอาดีเข้าตัวกันแล้วว่าทุกอย่างเป็นเรื่องการเมือง ที่ผ่านมาทั้งตนและพรรคเพื่อไทยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก ไม่เคยคิดจะใช้รัฐธรรมนูญหาผลประโยชน์ เพื่อหาคะแนนหรือทำให้พรรคดูดี แต่พูดด้วยเจตนาดี พูดโดยหลักการ ไม่ได้คิดจะเล่นการเมือง หรือต้อง การสร้างความขัดแย้งเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต่างมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ต่างมีจุดยืนที่รักประเทศและประชาชนเหมือนกัน แต่การที่นายอภิสิทธิ์พูด ลักษณะนี้ อยากถามว่าเป็นการหาประโยชน์ให้ตัวเอง หรือไม่ เป็นการเล่นการเมืองหรือเปล่า
สนช.ถกชี้แจงคำถามประชามติ
ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการชี้แจงคำถามพ่วงประชามติที่ สนช.เสนอว่า ขณะนี้ สนช.ยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการว่าจะออกไปชี้แจงหรือไม่อย่างไร คงต้องรอประชุมวิปฯ สนช.อย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังสงกรานต์ว่าจะมีแนวทางหรือรูปแบบใด แต่ส่วนตัวไม่อยากให้ออกไปในส่วนของโครงการ สนช.พบประชาชน เพราะโครงการนี้เป็นการไปรับรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ หากจะออกไปชี้แจงคำถามประชามติ ควรตั้งเป็นอีกโครงการไปเลยแยกกันให้ชัดเจน เมื่อถามว่าจะเชิญสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาร่วมชี้แจงคำถามพ่วงด้วยหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ได้ประสานกัน แต่ในวันที่ 20 เม.ย. จะมีการประชุมร่วมวิปฯ 3 ฝ่าย ระหว่าง สนช. สปท. และครม.ที่ประชุมน่าจะหยิบยกประเด็นนี้มาหารือด้วยว่าการออกไปชี้แจงจะให้เป็นความร่วมมือของหน่วยงานใดบ้าง
อัด กกต.ทำไม่เหมาะต้องทำตามมติ สนช.
นายพีระศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ระบุว่า มติ สนช.ที่เสนอคำถามพ่วงการทำประชามติเป็นคำถามชี้นำและยืดยาวเกินไปว่า เรื่องนี้ กกต.ไม่น่าออกมาให้ความเห็น การจะออกมาวิจารณ์นั้นไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ประชาชนสับสนไปกันใหญ่ กกต.เป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเรื่องคำถามพ่วง สนช.ทำตามขั้นตอนและเป็นมติของที่ประชุม กกต.ต้องปฏิบัติตามมตินั้น การวิจารณ์อะไรต่างๆ ปล่อยให้นักวิชาการหรือนักการเมืองวิจารณ์กันไปจะดีกว่า
“อลงกรณ์” ผวา 2 พรรคใหญ่ระดมต้าน
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าว ถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่รับคำถามพ่วงประชามติว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติมีความเสี่ยงมากขึ้นในการออกเสียงประชามติ หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วย ขณะนี้มี 2 พรรคการเมืองใหญ่คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยและ 1 กลุ่มการเมืองใหญ่คือ นปช.แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ หากการออกเสียงประชามติเห็นชอบก้ำกึ่ง ไม่เด็ดขาดจะมีความเสี่ยงที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งก่อความไม่สงบตามมาจนกระทบต่อโรดแม็ปของแม่น้ำ 5 สาย ที่ต้องการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้งภายในปี 2560