"บิ๊กต๊อก" นำทีมแถลงผลสอบ "ราชภักดิ์" เผย ไม่พบทุจริต-ไม่ผิดระเบียบ มีแต่ค่าที่ปรึกษา โยนสังคมคิดเอาเอง ชี้ค่าหัวคิวเกิดจากความเข้าใจผิดของ "บิ๊กโด่ง" ระบุผลสอบชี้ชัด เป็นการจ่ายระหว่างเอกชนกับเอกชน แต่หลุดปากตอกย้ำ ค่าหัวคิว จน "บิ๊กโด่ง" ต่อสายตรงโต้ บอกไม่เคยพูด "มีค่าหัวคิว"
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 59 ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ท.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ นายยงยุทธ มะลิทอง รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
โดย พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ศอตช. เข้ามามีส่วนรับผิดชอบตรวจสอบ เนื่องจากมีการร้องเข้ามาโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากประเด็นการหักหัวคิว ในวันนี้มี ป.ป.ช.มาร่วมด้วย เพราะหลังจากนี้อาจมีบางส่วนต้องส่งต่อไปให้ ป.ป.ช. เรื่องที่ตรวจมี 3 ประเด็นหลัก คือ หัวคิว การจัดซื้อ และการใช้งบประมาณ เดิมเคยชี้แจงกับสื่อว่า ผู้ดำเนินการระบุว่ามีหัวคิว ตนยังยืนยันว่าพูดจริง ตนจึงบอกว่าหากมีการระบุเช่นนี้ หากเป็นหัวคิวถ้ามีต้องผิดกฎหมาย และต้องตรวจสอบว่ามีหรือไม่ ที่ไหน และอย่างไร
...
ด้าน นายประยงค์ กล่าวว่า ในส่วนของ ป.ป.ท.รับผิดชอบตรวจสอบเฉพาะกรณีหัวคิว โดยใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 69 รวบรวมข้อมูลหลักฐาน และบันทึกหลักฐานปากคำจากเอกชน และหน่วยงานของรัฐ พบว่ามีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายให้ข้อเท็จจริงว่า เป็นค่าตอบแทนทางธุรกิจ หรือค่าชักนำงานมาให้ เมื่อลงลึกในวงเงิน พบว่ามีการจ่ายกัน 6-7% ของวงเงินค่าจ้าง โดยราคาค่าจ้างเป็นไปตามราคาท้องตลาด เบื้องต้นยังไม่พบพิรุธ ทั้งข้อเท็จจริงจากการสอบปากคำและพยานเอกสาร รับฟังได้ว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นค่าหางานมาให้ ผู้ว่าฯ สตง.แจงไร้หัวคิว ค่าที่ปรึกษาเซียนอุ๊ 20 ล้านเป็นความสมัครใจ
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วน สตง. มีการตรวจสอบ 5 ประเด็น คือ 1. เงินบริจาคที่มีข้อกังวลว่าจะรับจ่ายครบและถูกต้องหรือไม่ 2. เรื่องกระบวนการจัดซื้อว่าเป็นไปตามระเบียบราชการ หรือมีข้อพิรุธหรือไม่ 3. เรื่องเนื้องานว่าตรงตามคุณลักษณะหรือไม่ 4. เนื้อโลหะถูกต้องหรือไม่ และ 5. มีหัวคิวหรือไม่ นอกนั้นอาจมีประเด็นภายหลัง เช่น เงินบัญชีกองทุน ว่ามีการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่ง สตง.จะตอบทุกประเด็นด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งพอสรุปได้ว่าการรับเงินบริจาคเข้ากองทุนของกองทัพ มีการแยกเม็ดเงินออกจากเงินสวัสดิการ สตง.เชื่อว่าจากหลักฐานมีการลงรับเงินเข้าบัญชีถูกต้อง ยอดเงินบริจาคตัดยอด เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 58 รวมประมาณ 733 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือยอดเงินประมาณ 140 ล้านบาท สำหรับประเด็นหัวคิวจากหลักฐานการเงิน และการให้ปากคำของ 5 โรงหล่อ มีข้อสรุปตรงกันว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า "ค่าที่ปรึกษา" ที่แนะนำให้ได้งาน เป็นการจ่ายโดยสมัครใจรวม 20 ล้านบาท สตง.ตรวจประวัติ "เซียนอุ๊" พบว่ามีความสามารถในการรับงานที่ปรึกษาได้ ต่อมา มีการแนะนำว่าไม่ควรรับเงินค่าที่ปรึกษา จึงนำไปสู่การบริจาค กองทัพออกใบเสร็จชัด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแนะนำ ดังนั้นจึงมองว่า กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในส่วนที่เห็นว่ามีเจตนาร้ายหรือผิดปกติ เพราะการบริจาคทำให้กองทุนรับเงินเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านบาท นอกจากนี้ ในการตรวจสอบการตกแต่งบัญชี นิติกรรมอำพราง สตง.ใช้เทคนิคตรวจทุกรูปแบบ ทั้งกระบวนการจัดซื้อ การทำสัญญา และรับจ่ายเงิน แต่พบว่าไม่น่าจะมีการตกแต่งบัญชี เพราะคำนวณราคากลาง ความเหมาะสมของราคากลางอย่างละเอียดแล้ว
"การที่มีใครให้คำแนะนำ และมีการตกลงยินยอมกันก็ทำได้ หลังจากนี้เรายังสามารถติดตามการลงบัญชี และการเสียภาษีขยายผลต่อได้ว่ามีการลงรับและเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ การก่อสร้างงานนี้เป็นงานศิลปกรรม ต้องแก้หน้างาน ต้องอาศัยผู้ชำนาญ เรื่องนี้ไม่เหมือนกรณีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน เพราะกรณีนั้นมีเจ้าหน้าที่หักเงินหัวคิวก่อนชัดเจน แต่กรณีนี้ตรวจราคากลางก็ไม่ได้แพง ค่าที่ปรึกษาเหมาะสมกับทางธุรกิจ เอกชนรู้ว่าควรหรือไม่ควรจ่าย เงินที่จ่ายค่าหล่อเป็นเงิน 318 ล้านบาท ตามหลักฐานเป็นการจ่ายทีเดียว" นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับลำดับเหตุการณ์เงินที่มาใช้จ่าย ไม่ได้มีเพียงเงินบริจาคกว่า 700 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังมีการจัดตั้งงบประมาณกลาง 63 ล้านบาท เพื่อทำ 5 โครงการ ซึ่งจัดทำไปแล้ว 4 โครงการ ส่วนอีก 1 โครงการ วงเงิน 9 ล้านบาท ถูกชะลอไว้ แต่ผูกพันงบฯ ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายเข้ามามีส่วนร่วมกับประชาชนในโครงการดังกล่าว จึงนำงบประมาณส่วนหนึ่งมาเสริมเงินบริจาคที่ได้รับมา ขณะอนุมัติใช้งบกลางก็มีการเชิญชวนขอบริจาคเพื่อร่วมใจก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และเงินอีกส่วนหนึ่งมาจากกองทัพบกเพื่อใช้ในการดูแลสถานที่ก่อสร้าง มีงบตั้งไว้ปกติเพื่อทำรั้วรอบ และโรงเรือนก่อสร้าง 2 สัญญา วงเงิน 27 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีการรับบริจาคเป็นสิ่งของ เช่น วัสดุก่อสร้าง ในส่วนนี้กองทัพเบิกจ่ายเฉพาะค่าใช้จ่ายแรงงาน เครื่องจักร และน้ำมันรถ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำของทหารที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง ผลการตรวจสอบพบว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติและอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ในส่วนของรายได้ที่มาจากผู้มีจิตศรัทธา จัดอยู่ในหมวดรายได้อื่นๆ เช่น บริจาคต้นไม้ สตง.ตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการซื้อต้นไม้ โดยต้นไม้ได้จากการบริจาค ผู้บริจาคไม่คิดค่าต้นไม้ แต่คิดค่าแรงในการขนย้ายต้นไม้และค่าน้ำมันประมาณ 4 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการปลูกต้นไม้นั้นเป็นวิธีการหารายได้เพิ่มเติม เช่น ติดราคาที่ต้นไม้ แต่ไม่ได้เขียนระบุว่าเป็นค่าปลูก ทำให้คนคิดไปได้ว่าเป็นค่าต้นไม้ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏผู้ปลูกต้นไม้ต้องเสียเงินค่าปลูก
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างว่าถูกต้องหรือไม่ สตง.ไม่ได้ดูเพียงว่า เป็นงบของกองทัพหรือเป็นงบกลาง แต่เป็นเงินราชการต้องใช้จ่ายตามระเบียบราชการ ซึ่งผลการตรวจสอบไม่พบความผิด จากการตรวจสัญญาแบบรูปรายการ ตรวจสอบที่หน้างานพบว่ามีความสมบูรณ์ 95% ขึ้นไป ไม่ถึง 100% เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นลูบไปแล้วต้องไม่สะดุดเลย ส่วนที่เหลือจึงเป็นประเด็นในเรื่องความประณีต จึงไม่มีข้อสังเกตถึงความผิดปกติ สำหรับประเด็นที่ว่าเนื้อวัสดุถูกต้องหรือไม่ สตง.ได้หาทางตอบปัญหานี้ ในเมื่อสงสัยว่าวัสดุคุณภาพตามสเปกหรือไม่ ในสัญญาระบุว่าโลหะที่ใช้นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลักฐานยืนยันการนำเข้าโลหะจริง ส่วนค่าของเนื้อวัสดุเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ สตง.ไม่มีทางเลือกอื่นเพื่อสนองตอบประเด็นข้อสงสัย จึงขอขมาลาโทษ แล้วตัดเนื้อโลหะส่วนหนึ่งจากองค์พระรูป ส่งตรวจพิสูจน์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลสอบพบว่า วัสดุมีคุณภาพตรงตามสเปก "เรืองไกร-จตุพร" ร่วมฟังคำชี้แจงพร้อมซักถาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวผลสรุปการตรวจสอบโครงการ โดยมีการซักถามถึงกรณีที่ พบว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กระทรวงกลาโหม อดีต ผบ.ทบ. ได้รับการชี้แจงผลสอบก่อนมีการแถลง โดย รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า วันที่อดีต ผบ.ทบ.พูดว่า "มีหัวคิว" เรายังไม่ได้ตรวจสอบว่า มีหรือไม่ ท่านคือผู้ดำเนินโครงการแล้วบอกว่า มีหัวคิวนั่นล่ะผิดกฎหมาย ตนพูดแบบนี้จึงถามว่าหัวคิวคืออะไร ทั้ง 3 หน่วยบอกถ้ามีผิดแน่นอน เมื่อผู้ว่า สตง.ตรวจสอบแล้วบอกไม่มีหัวคิว จึงให้ผู้ว่า สตง.ไปถามว่าทำไมจึงพูดว่า มีหัวคิว
ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ยังย้ำถึงการตรวจสอบของ สตง.ว่า ดูทั้งหลักฐานและข้อเท็จจริงเรื่องราคากลาง สตง.มีวิศวกรประเมินราคากลางว่า แพงเกินจริงหรือไม่ ดังนั้น หากมีหลักฐานเรื่องราคาแพงเกินจริง ขอให้ส่งเอกสารมาให้ สตง. ในชั้นนี้ สตง.ตรวจพบว่า ราคากลางมีความสมเหตุสมผล ส่วนที่ระบุว่า องค์พระรูปมีการชำรุดต้องแก้ไข ก็ตรงกับที่โรงหล่อทั้ง 5 แห่ง ก็ตอบมาตั้งแต่ต้นว่าต้องมีปัญหาหน้างาน จึงมีการจ่ายค่าตอบแทน โดยค่าตอบแทนโรงหล่อจ่ายจากเงินของเขา มีการลงรายจ่าย ขณะที่ผู้รับก็ลงรายได้ไว้แล้ว การเข้าพบอดีต ผบ.ทบ.นั้น ยืนยันว่า ตนทยอยเปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบมาเป็นระยะๆ ก่อนเข้าพบ ผบ.ทบ. การเข้าพบเพื่อไปสอบถามให้ได้ความจริง ไม่ได้ไปเล่าให้ฟังว่าผลสอบเป็นอย่างไร ส่วนท่านจะไปสรุปหรือให้สัมภาษณ์เพราะความสบายใจก็เป็นเรื่องของท่าน ในการสอบถามก็มีการบันทึกการให้ข้อมูล ซึ่งไม่ใช่การให้ปากคำ ส่วนเรื่องการจัดสร้างเหรียญนั้น ยิ่งการจำหน่ายได้กำไรมากก็เป็นทุนให้กับโครงการนี้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ หลังมีข่าวเรื่อง อุทยานราชภักดิ์ การก่อสร้างบางส่วนชะลอออกไป ตัวเลขการเช่าบูชาเหรียญก็นิ่ง บัญชีบริจาคก็ไม่มีการเคลื่อนไหว หลังจากนี้ สตง.จะติดตามตรวจสอบต่อไป
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า พล.อ.อุดมเดช ยืนยันมาตลอดว่าไม่ผิด และเคยต่อว่าตนด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าคำถามของนายจตุพร ว่าต้องการสื่ออะไร จากข้อสรุปที่ไปสอบถาม พล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่า "พลาด" พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่า หัวคิว ตนไม่พูดกับท่านมานานมากจนการตรวจสอบจบลง จึงไปเรียนให้ทราบว่าที่ท่านพูดว่า หัวคิว มันผิด เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนา แต่เกิดจากผู้สื่อข่าวซักถาม และมีการตอบคำถามกันไปมา จึงหลุดคำว่าหัวคิวออกไป โดยไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีการ