วันที่ 14 มีนาคม ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย ลัดฟ้าไปมาเลเซีย ร่วมลงนามกับ Dr.Zeti Akhtar Aziz ผู้ว่าการแบงก์ชาติมาเลเซีย เพื่อเปิดกลไกชำระเงินสกุลท้องถิ่นสองประเทศอย่างเป็นทางการ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป การค้าระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย จะชำระเป็น “เงินบาท” หรือ “เงินริงกิต” ก็ได้ ไม่ต้องใช้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวกลางอีกต่อไป
การค้าขายระหว่างไทยกับมาเลเซีย จะมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
มาเลเซีย เป็น ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน เป็น คู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในตลาดโลก แต่ผมไม่สามารถหาตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียล่าสุดจากหน่วยงานรัฐบาลได้ เท่าที่หาได้จากข่าวสารต่างๆ การค้าไทย–มาเลเซีย ปี 2557 มีมูลค่า 25,500 ล้านดอลลาร์ ราว 9 แสนกว่าล้านบาท เป็นการส่งออกไปมาเลเซีย 12,760 ล้านดอลลาร์ กว่า 453,000 ล้านบาท
แต่ข้อมูลนี้แตกต่างจากที่ผมคุยกับ คุณนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา วันก่อน ซึ่งระบุว่า จังหวัดสงขลามีด่านชายแดนค้าขายกับมาเลเซียถึง 5 ด่าน แต่ละด่านมีมูลค่าการค้ากว่า 2-3 แสนล้านบาท รวมตัวเลขคร่าวๆก็กว่า 1 ล้านล้านบาท ที่สำคัญ จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่ทำรายได้ภาษีศุลกากรจากการส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
การสร้างกลไกชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินท้องถิ่น “บาท” และ “ริงกิต” จึงช่วยให้การค้าชายแดนไทย–มาเลเซีย มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ไม่ต้องแลกเป็นเงินดอลลาร์ ลดต้นทุนการค้า ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ดึงดูดให้คนสองประเทศหันมาซื้อขายด้วยเงินสองสกุลมากขึ้น
การลงนามครั้งนี้ ฝ่ายมาเลเซีย แต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพมาเลเซีย ธนาคารซีไอเอ็มบี ธนาคารมาลายัน (เมย์แบงก์) เป็นผู้ให้บริการฝ่ายมาเลเซีย ฝ่ายไทย แต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ให้บริการฝ่ายไทย
...
งานนี้ ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จึงได้ประโยชน์สองเด้ง ได้เป็นผู้รับชำระเงินทั้งสองขาในมาเลเซียและในประเทศไทย ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น
การคัดเลือกธนาคารสามแห่ง แบงก์ชาติ ระบุว่า เนื่องจากเป็นโครงการนำร่อง จึงคัดเลือกเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับสถาบันการเงินทั้งสองประเทศในปัจจุบัน หรือมีศักยภาพในการรองรับธุรกรรมการชำระเงินริงกิตและบาท แบงก์ชาติจะผ่อนปรนกฎระเบียบบางประการ เพื่อให้บริการเงินบาทและริงกิตได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการให้บริการ รับฝากเงินสกุลริงกิต และบาท การทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า และการให้บริการผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงต่างๆ
ประเทศไทย เป็น ประเทศแรก ที่ มาเลเซีย เลือกทำธุรกรรมการเงินสกุลท้องถิ่นด้วยผมก็เพิ่งไปสงขลา ได้เห็นการค้าไทย-มาเลเซีย ที่ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะ “ด่านสะเดา” รัฐบาลก็เพิ่งไปจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา” สงขลามียอดส่งออกสินค้าไปมาเลเซียสูงเป็นอันดับหนึ่ง ทุกวันรถบรรทุกคอนเทนเนอร์จะติดยาวเหยียดหลายกิโลที่ด่านสะเดา รอข้ามด่านไปมาเลเซีย เพื่อขนส่งสินค้าไทย เช่น ปลากระป๋อง อาหารทะเล นํ้ายางพารา ยางแผ่น ไปลงเรือที่ ท่าเรือนํ้าลึกปีนัง เพื่อส่งออกไปทั่วโลก เนื่องจากท่าเรือนํ้าลึกสงขลาเต็มแล้ว ไม่สามารถรองรับสินค้าส่งออกเพิ่มได้
ท่านผู้อ่านคงจำได้ โครงการท่าเรือนํ้าลึกสงขลา 2 และ ท่าเรือนํ้าลึกปากบารา ถูก เอ็นจีโอ ต่อต้านจนไม่สามารถสร้างได้ ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมภาคใต้ไม่มีทางออก ต้องส่งข้ามแดนไปขึ้นท่าเรือปีนังของมาเลเซียแทน มาเลเซียได้ แต่คนไทยเสียรายได้มหาศาล
เมื่อ ไทย–มาเลย์ เปิดให้บริการ ธุรกรรมเงินริงกิต–บาท ภาคใต้ของไทยก็ยิ่งเสียรายได้มากขึ้น การค้านของเอ็นจีโอ ใช่ว่าจะมีประโยชน์ต่อคนไทยทุกเรื่องเสมอไป.
“ลม เปลี่ยนทิศ”