"จาตุรนต์" จวก คสช.คว้าน้ำเหลวปฏิรูปประเทศ เหตุขาดการมีส่วนร่วม ชี้ศาลรธน.ยังมีอำนาจมหาศาล หวั่นเกิดวิกฤติ-รัฐประหารซ้ำ ด้าน "จุรินทร์" แนะ 3 แนวทางปฏิรูป รัฐต้องทำทันที ขณะที่ "วันชัย" ชี้ไทยไม่ควรเกิดการปฏิวัติอีก เพราะการยึดอำนาจไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ด้าน"รสนา"ตั้งฉายา รธน.ฉบับทุนขุนนาง ลดอำนาจ ปชช.ให้อำนาจ ขรก.มากขึ้น

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 59 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาภาษาสิงห์ ในหัวข้อ "ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่คนไทยอยากเห็น" โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม

โดย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นจริง เพราะคนมีความเห็นหลากหลาย แต่กระบวนการกลับทำโดยคนส่วนน้อยที่ไม่มีความชอบธรรม ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ฟังเสียงใคร ร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนมาไม่สามารถแก้ไขได้ หากจะแก้คงต้องไปแก้ที่ดาวอังคาร ต้องปฏิรูปตามแนวทางของข้าพเจ้าไปอีก 20 ปี ทั้งที่การร่างรัฐธรรมนูญควรฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน แม้ปัจจุบัน กรธ.จะลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีอำนาจมหาศาล โดยให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ จะเป็นกลไกนำไปสู่วิกฤติในที่สุด และเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง ส่วนกรณีที่ให้ ส.ว.สรรหามาจาก คสช.ได้นั้น จะทำให้ ส.ว. มีอำนาจเหมือนรัฐธรรมนูญปี 21 หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยเมื่อไหร่ รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้

"การร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้กำลังวัดใจ 2-3 ฝ่าย คือวัดใจ 1. กรธ.จะไม่ทำตามที่ คสช.ต้องการหรือไม่ 2. วัดใจว่าสุดท้าย คสช.จะยืนยันอย่างไร 3. วัดใจประชาชน ว่าจะเลือกอย่างไร การที่กรธ.บอกว่าใครโหวตโนถือเป็นเผด็จการ เท่ากับไม่เคารพกติกาของตัวเอง และที่น่าเป็นห่วง หากร่างรธน.นี้ผ่าน โดยไม่แก้ไขก่อนวันที่ 29 มี.ค. ประเทศจะเสียหายยับเยิน" นายจาตุรนต์ กล่าว   

...

ด้าน นายจุรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้สุดท้ายต้องอยู่ไปเกือบ 4 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญ รัฐบาลต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และดำเนินการทันทีใน 3 เรื่อง 1. ต้องปฏิรูปประเทศและบริหารราชการแผ่นดินตามเวลาปกติ 2. อะไรที่สวนทางกับทิศทางการปฏิรูปรัฐบาลต้องจัดการหรือไม่ทำ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน 3. รัฐบาลควรเร่งทำและให้ความสำคัญกับสิ่งที่คิดว่าหากมีรัฐบาลเลือกตั้งแล้วจะทำได้ยาก อาทิ การปฏิรูปตำรวจ สุดท้ายการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ ต้องปฏิรูปคนให้มีคุณภาพ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมีทั้งข้อดี ที่จะต้องแก้ไขและเพิ่มเติมบ้างบางส่วน และข้อเสียที่จะต้องปรับปรุง แต่ส่วนตัวเป็นห่วงในเรื่องบทเฉพาะกาล ซึ่งไม่ทราบว่าจะออกมาเป็นอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากจะทำให้วงจรอุบาทว์กลับมาอีกครั้ง จึงอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับสู่เงื่อนไขภาวะปกติ แก้ไม่ยากเกินไป ส่วนที่เขียนรัฐธรรมนูญให้บริหารประเทศ 2 ช่วงเวลา มองว่าทำเพื่อให้ลงจากหลังเสืออย่างราบรื่นและปลอดภัย

นายวันชัย สอนศิริ สปท.กล่าวว่า การปฏิวัติไม่ควรมีอีกแล้วในประเทศไทย ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่าไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย การเอาปืนมายึดอำนาจไม่ถูกต้อง เอาเงินมาซื้อเสียงยึดอำนาจก็ไม่ถูกต้อง เป็นความเลวพอกัน การเอาอำนาจไปจากประชาชนแล้วทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี บริหารให้สงบสุขดีหรือไม่คือหัวใจ แม้ว่าจะไม่ได้มาจากประชาธิปไตยแต่ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่นั้นคนไทยรับได้ ถ้าการเมืองดีแล้วทุกอย่างจบ ทหารหน้าไหนจะกล้าปฏิวัติ ประชาชนก็ไล่ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ได้เพราะคนเห็นว่าดี การเข้ามาทำงานปฏิรูปนั้นตนไม่เคยหวังอะไรเลย หวังอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้การเมืองสุจริตได้

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า ทิศทางการปฏิรูปที่คนไทยอยากเห็นคือ ให้คนไทยได้กินอิ่มและนอนอุ่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดสิทธิเสรีภาพประชาชนลง ตนขอตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นฉบับทุนขุนนาง ทำให้รัฐมีอำนาจใหญ่ขึ้น ลดอำนาจประชาชน และทำให้อำนาจข้าราชการมากขึ้นและถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน การจะสร้างดุลยภาพต้องให้อำนาจประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากขึ้น ที่ผ่านมากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผ่านจากรัฐสภาไทยน้อยมาก ถามว่ารัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นมาถึงจุดนี้หรือไม่ อย่าคิดว่าจัดการนักการเมืองอย่างเดียว ยังมีกลุ่มทุนผูกขาดที่ยังไม่สามารถจัดการได้ จะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง อีกทั้งการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 จะส่งผลให้เสพติดอำนาจพิเศษและทำให้คนไทยเคยชิน ควรพัฒนากลไกปกติให้มีประสิทธิภาพ