ในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 ข่าว เรื่องแรกคือคำแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจลงอีก เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากผลกระทบของภัยแล้งมากกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการ
ใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาด
ข่าวที่สองได้แก่คำแถลงของรองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย บอกว่าอัตราการลงทุนภายในประเทศ ในภาคธุรกิจยังตํ่า เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบถึงการส่งออกซึ่งติดลบอย่างต่อเนื่อง กำลังการผลิตเฉลี่ยเพียง 60–63% ทำให้แนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้จบปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์
ส่วนข่าวที่สาม คือผลการสำรวจความเห็นคนไทยทั่วประเทศ โดยสวนดุสิตโพลครั้งล่าสุด แม้คนส่วนใหญ่จะชื่นชมความตั้งใจทำงานของนายกรัฐมนตรี และพอใจผลงานของรัฐบาลในด้านดูแลความสงบเรียบร้อยและอื่นๆ แต่มองว่าผลงานยอดแย่ที่สุดที่จะต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ปัญหาเศรษฐกิจ สินค้าแพง สินค้าเกษตรราคาตกตํ่า ปัญหาปากท้องประชาชน
ผลโพลทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง ออกมาคล้ายกัน คือไม่พอใจผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง แม้นายกรัฐมนตรีจะชี้แจงทางโทรทัศน์เป็นประจำ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ และรัฐบาลประกาศแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความหวังให้ประชาชน แต่ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น เพราะยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรม
คสช.ยึดอำนาจเข้าบริหารประเทศจะครบ 2 ปีในเดือนพฤษภาคมนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแก้ปัญหาของชาติ แต่โชคไม่ดีที่เข้ามาในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมีปัญหา การส่งออกติดลบต่อเนื่องยาวนาน การลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนลดตํ่า ที่ยังไปได้ดีมีเพียงการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ
...
รัฐบาล คสช.แก้ปัญหาเศรษฐกิจในแนวทางเดียวกันกับรัฐบาลที่ผ่านๆมา นั่นก็คือเน้นการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ และการลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แก้ปัญหายังไม่ตก แม้จะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีเสียงเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนว่าไทยติดกับดักความคิดเรื่องเศรษฐกิจ คือการส่งออกและลงทุนจากต่างชาติ
โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใช้งบประมาณมหาศาล แต่ยังไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ซํ้ายังซํ้าเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้พุ่งสูงขึ้นจาก 55% เป็น 85% ของจีดีพี นายกรัฐมนตรีเคยปรารภในรายการคืนความสุขฯ ว่า ไม่คาดคิดว่าปัญหาจะหนักหนาสาหัสถึงขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าการเมืองและเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ไม่อาจแก้ได้เพียงด้วยอำนาจหรือคำสั่ง.