"อุเทน" ชง "ประยุทธ์" ใช้ ม.44 ระบายข้าวในสต็อกรัฐ ห่วงล่าช้าเสียงบจัดเก็บบาน ชี้ข้าวเสื่อมมูลค่าลดฮวบ สับ นบข.ทำงานอืด อนุมัติแต่ละทีจำนวนน้อย วางระเบียบหยุมหยิม สวดกำหนดกรอบการใช้ข้าวที่ออกประมูลเหมือนล็อกสเปก หนุนหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจทบทวนลดขั้นตอน เพื่อลดการสูญเสียของรัฐ

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงมาตรการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลว่า ได้ติดตามการเปิดประมูลข้าวในสต็อกของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาหลายครั้ง ที่มักพบว่าผู้ชนะการประมูลไม่ยอมลงนามในสัญญา จนทำให้การประมูลต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งผู้ประกอบการก็รับโทษเพียงการริบเงินค้ำประกันเท่านั้น จึงไม่กลัวที่จะทิ้งการประมูล นอกจากนี้ยังพบว่าติดขัดขั้นตอนของทางราชการ ทำให้ข้าวที่นำออกมาประมูลแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร อย่างเช่น การประมูลรอบเดือน มี.ค.นี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ก็อนุมัติออกมาเพียง 3.6 แสนตัน หรือ ล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.มีการนำข้าวออกมาประมูลเพียง 5.7 แสนตัน ก็มีผู้สนใจประมูลได้ไปไม่ครบทั้งหมด ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ต้องสูญเสียงบประมาณการรักษาข้าวในสต็อกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ตลอดจนความเสื่อมสภาพของข้าวที่เก็บไว้ในโกดังนาน ก็ทำให้มูลค่าลดลง

"ตอนนี้ข้าวในสต็อกของรัฐบาลมีอยู่มากกว่า 18 ล้านตัน แต่ นบข.กลับอนุมัติออกประมูลครั้งละไม่มาก ทั้งยังจำหน่ายได้ไม่ครบจำนวนที่นำออกมาประมูล ทำให้รัฐสูญเสียทั้งงบประมาณและรายได้ ถ้ายังยึดวิธีการเช่นนี้อีก ถามว่าอีกเมื่อไหร่จึงจะระบายข้าวได้หมด ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของข้าวเสื่อมสภาพที่มีอยู่กว่า 5 ล้านตันนั้น นับวันก็ยิ่งเน่าเสียลง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะรีบระบายออกมา ทั้งที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงไม่ควรนำข้ออ้างเรื่องการทุ่มตลาดถ้าระบายออกมามาก หรืออ้างไปถึงคดีความที่มีอยู่ เรื่องนี้ นบข.ต้องพิจารณาการทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะ นบข.คงไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้" นายอุเทน ระบุ

...

นายอุเทน กล่าวด้วยว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงขอเรียนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนรูปแบบการระบายข้าวทั้งหมดใหม่ และหากเป็นไปได้ก็ควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ในการเร่งระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง โดยการลดระเบียบข้อกำหนด ลดขั้นตอนของทางราชการ และลดการสูญเสียงบประมาณ ในการจัดเก็บรักษาข้าว โดยเฉพาะในส่วนของข้าวเสื่อมคุณภาพที่นับวันจะเสียหายมากขึ้น ควรที่จะหาวิธีการระบายออกอย่างรวดเร็ว ไม่ควรอนุมัติออกมาทีละน้อย หรือไปตั้งกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้มีความยุ่งยาก อย่างเช่นกำหนดวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้หรือแปรรูปต่อ ก็ควรเป็นเรื่องของเอกชนไปคิดและดำเนินการ รัฐบาลไม่ต้องไปตั้งธง กำหนดกรอบ หรือคิดแทนผู้เข้าประมูลอย่างที่เป็นอยู่ เพราะเหมือนเป็นการล็อกสเปกให้กับทางภาคเอกชน ควรแค่กำหนดราคากลางขั้นต่ำในการประมูลไว้ก็พอ.