บิ๊กต๊อกปราม กระตุ้นสำนึก ต่อต้านทุจริต
“บิ๊กต๊อก” ในฐานะ ประธาน ศอตช.ชี้ข้าราชการ หรือผู้ใหญ่ในบ้าน เมือง ต้องใช้ดุลพินิจไปออกรายการ “สรยุทธ” ติงกรณีนี้ไม่มีกฎหมายรองรับ เชื่อองค์กรสื่อจะกำหนดกติกาขึ้นมาใช้ควบคุม ด้าน “ม.ล.ปนัดดา” ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท ร่วมกระตุกต่อมจริยธรรม ย้ำคนเป็นผู้บริหารต้องมี ส่วน ป.ป.ช.ชี้จริยธรรมนักเล่าข่าวชื่อดังสื่อต้องว่ากันเอง ขณะที่ “พญ.พรทิพย์” โฆษกวิป สปท.จ่อดันวาระพิธีกรชื่อดังโหนกระแสยื่นญัตติขย่ม ด้านอัยการยันไม่อุทธรณ์คดี “สรยุทธ” กับพวก โกง อสมท ชี้ศาลลงอัตราโทษสูงสุดแล้ว
กรณีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามว่า นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง มีความเหมาะสมมากแค่ไหนกับการทำรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 หลังศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีบริษัทไร่ส้ม จำกัด ร่วมกับพนักงานช่อง 9 อสมท ทุจริตเงินค่าโฆษณา 138 ล้านบาท ซึ่งนายสรยุทธ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม จำกัด จำเลยที่ 3 ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยผู้บริหารช่อง 3 มีมติอุ้มพิธีกรชื่อดัง ทำงานต่อไปเพราะคดีความยังไม่สิ้นสุด พร้อมติดตามว่าสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ส่วนประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ชี้ต้องมอง 2 มุม ให้ความเป็นธรรมรอผลการติดสินสิ้นสุดถึงศาลฎีกา หรือให้พิจารณาความเหมาะสม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ถนนวิทยุ กทม. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวว่า กรณีที่ข้าราชการหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมือง จะไปออกรายการของนายสรยุทธ เป็นเรื่องดุลพินิจทางจริยธรรมคุณธรรมของแต่ละคนว่ามองเรื่องคดีทุจริตอย่างไร เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ต้องคิดเอง เพราะในชั้นนี้ไม่มีกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใด แต่เป็นคุณธรรมจริยธรรม และทัศนคติในจิตใจของแต่ละคน และเชื่อว่าองค์กรวิชาชีพสื่อ จะกำหนดกติกาเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีกติกาชัดเจน ส่วนกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรไปออกรายการนายสรยุทธทราบมาว่าเป็นการบันทึกเทปรายการก่อนศาลตัดสิน
...
“ไม่ขอออกความเห็นเจาะจงเฉพาะกรณีนายสรยุทธ แต่ขอพูดถึงกรณีทุจริตในทุกกรณี ว่า ไม่ว่าองค์กร หน่วยงานใด การเมือง หรือภาครัฐหรือ เอกชน หากมีความมัวหมองเรื่องทุจริตแล้วสังคมย่อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระแสที่เกิดขึ้น คือสังคมกำลังตระหนักกับปัญหาทุจริต เพราะเราบอบช้ำกับเรื่องทุจริตมามาก ประเทศเสียงบประมาณไปจำนวนมากกับปัญหาการทุจริต ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและประกาศจัดการกับปัญหาทุจริต ส่วนกรณีหากนายสรยุทธเชิญไปออกรายการจะไปหรือไม่นั้นก็ลองทายดูว่าตนจะไปหรือไม่ บรรทัดฐานของตนเป็นอย่างไร” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท กล่าวถึงกระแสสังคมเรียกร้องให้นายสรยุทธหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หลังศาลตัดสินให้จำคุกในคดีทุจริตเงินโฆษณาของ อสมท ว่า เรื่องของตัวบุคคลคงไม่ไป วิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องจริยธรรมถือเป็นหัวใจรัฐบาล โดยเฉพาะข้าราชการต้องมีจริยธรรมในหัวใจตัวเอง ไม่ต้องมาเสริมสร้างอะไร ควรมีโดยธรรมชาติ รู้อะไรควร หรือไม่ควรปฏิบัติ โดยเฉพาะคนที่หัวหน้าส่วนราชการต้องเป็นตัวอย่าง เพราะถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ผู้บริหารทั้งหลาย ต้องเป็นแบบอย่างด้วย เรื่องจริยธรรมทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ บ้านเมือง ข้าราชการ ทำโดยโดดเดี่ยวไม่ได้ ขณะ เดียวกัน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องของการซื่อสัตย์สุจริต
ส่วนนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถทำอะไรในกรณีนี้ได้แล้ว เพราะกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงเอกชนที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องของตัวเขาเอง และสื่อมวลชนต้องไปกำกับดูแลกันเอง กรณีของนายสรยุทธ ป.ป.ช.ทำได้แต่เพียงชี้ถูกชี้ผิดตามกฎหมายเท่านั้น ขณะเดียวกัน เรื่องดังกล่าวเองก็ผ่านขั้นตอนของ ป.ป.ช.มานานแล้ว
ที่รัฐสภา พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปท.) แถลงว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวบรวมรายชื่อสมาชิก สปท.บางส่วน เพื่อเสนอญัตติต่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ในหัวข้อการปฏิรูปจริยธรรมของสื่อมวลชน และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง โดยจะนำญัตติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมวิป สปท.ในวันที่ 3 มี.ค. หากวิป สปท. เห็นด้วย จะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่วาระการประชุม สปท.ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ ญัตติดังกล่าวไม่ใช่การกดดันนายสรยุทธ เรื่องนี้อยู่ที่สามัญสำนึกของแต่ละบุคคล ส่วนตัวหากนายสรยุทธจะเชิญไปออกรายการหลังจากนี้จะไม่ไป กรณีนี้เห็นความจริงเด่นชัด ทั้งการปลอมแปลงเอกสารใช้น้ำยาลบคำผิดลบเอกสารหลักฐานให้ข้อมูลตรงกับเอกสารราชการ อีกทั้ง ป.ป.ช.ตรวจสอบและลงโทษผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว จนนำไปสู่คำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษมีความผิดจริง
ด้านคดีความนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาที่สั่งจำคุก 13 ปี 4 เดือน นายสรยุทธกับพวก ในคดีที่ไม่จ่ายค่าโฆษณาเกินเวลา 138 ล้านบาทแก่บริษัท อสมท ว่า ตามหลักการแล้วเมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามอัตราโทษสูงสุดแล้ว ในอัตราโทษ 20 ปี ซึ่งลดแล้วเหลือ 13 ปี 4 เดือน พนักงานอัยการจะไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาอีกแต่อย่างใด คดีนี้ฝ่ายจำเลยยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน นับจากวันคำพิพากษา หรือตัวจำเลยอาจจะขอขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ตามที่ศาลจะอนุญาตได้ตามกฎหมาย และเมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์แล้วพนักงานอัยการจะทำหน้าที่แก้อุทธรณ์จำเลยเท่านั้นและหลังจากการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะรับคำร้องอุทธรณ์จำเลยไว้พิจารณาต่อไป ส่วนศาลอุทธรณ์จะทำคำพิพากษาเสร็จและอ่านคำพิพากษาเมื่อไหร่ไม่อาจก้าวล่วงได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ในกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำคำพิพากษาไว้แต่อย่างใด
ขณะที่นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าสหพัฒน์ได้ถอนโฆษณาจากช่อง 3 ทั้งหมดว่า ทางบริษัทยังซื้อโฆษณาปกติ แต่ไม่ได้โฆษณาในรายการของนายสรยุทธตามคำแนะนำของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ขอความร่วมมือไปยังบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้พิจารณาด้วยความระมัดระวังในการทำธุรกิจร่วมกับบุคคลที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย