ปี 2507 ผมสมัครเรียนมหาวิทยาลัยทะเล สอบเอ็นทรานซ์ ผ่านวิชาเมาคลื่นจากฝั่งอ่าวไทย แล้วผมก็ข้ามอ่าว ไปเป็นลูกเรืออวนลำเล็กๆ กลางคืนทอดสมอปักหลักอยู่ในเวิ้งอ่าวตาโละอุดัง เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล
มองไปทางตะวันตก ยอดเขาสูงสีเทาเกาะอาดัง...ยืนตระหง่านทับเงาเกาะเล็กๆชื่อเกาะหลีเป๊ะ ที่เราเรียก “เกาะชาวน้ำ” ที่อยู่ด้านหน้า
ปี 2511 ผมเป็นทหารเรือ ภารกิจสำรวจสมุทรศาสตร์ เปลี่ยนแก๊สกระโจมไฟ...ก่อนหน้า 1 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ เสด็จประทับใน ร.ล.จันทร ไปเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลบนเกาะไม่เคยมีนามสกุล ก็มีนามสกุล ที่ผมจำได้ ทะเลลึก หาญทะเล
ปี 2524 ผมไปทำข่าวที่ภูเก็ต ค่ำวันหนึ่งไปนั่งกินข้าวที่ริมหาดราไวย์ เงาดำของชาวเลจำนวนนับร้อย กับเครื่องมือจับปลา ดาหน้าเข้าหาทะเล ตัดกับผืนน้ำสีคราม ความรู้สึกตอนนั้น หาดราไวย์เป็นของชาวเล
ผมชอบคำ “ราไวย์” ฟังแปลกหู เพิ่งมารู้เอาทีหลัง คำนี้เป็นภาษาชาวเล ชาวหาดราไวย์ ตัวแทนชาวเลอันดามัน 43 แห่ง ที่ดิ้นรนไปเรียกร้องถิ่นฐานทำกิน...ถึงทำเนียบฯ
ปี 2531 ข่าวเล็กๆชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อุทยาน...
ถึงวันเวลานั้น เกาะแก่งและทะเลกว้าง...ที่ชาวเลเคยเคลื่อนไหวไปมาอย่างเสรี...เริ่มมี “เจ้าของ”
ข่าวเล็ก มีข้อสะดุดใจ ทำไม หมาด หาญทะเล อายุเกิน 20 ปี ผู้ใหญ่คนเดียว อีก 7 คน เป็นชาวเลเยาวชน มีปืนแก๊ปโบราณ 2-3 กระบอก จึงยิงคนของรัฐ ซึ่งมีปืนยาวทันสมัยหลายกระบอก ตายและบาดเจ็บหลายคน
ความจริงนั้น ความบาดหมางระหว่างคนของรัฐ กับชาวเลบ่มเพาะมานาน หวายบนเกาะอาดังเคยตัดขายได้ ก็ตัดไม่ได้ ปลาในน้ำเคยจับได้ก็ไม่ได้ ชาวเลใช้ระเบิดจับปลา จึงถูกจับ คุมตัวมาขึ้นเกาะหลีเป๊ะ ก็ถูกชิงผู้ต้องหา
...
หลังปะทะชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ชวนกันอพยพหนี แหล่งชาวเลนอกจากเกาะหลีเป๊ะ ตั้งแต่สตูลไปถึงภูเก็ต ยังมีที่ให้ไป แต่ข่าวที่ผมได้ ชาวเลส่วนหนึ่งเลือกไปเกาะใหญ่ใกล้สุด คือเกาะลังกาวีของมาเลเซีย
น้ำทะเลน่านน้ำไทยร้อน แต่เมื่อผ่านเข้าเขตมาเลเซีย...น้ำทะเลก็เย็น ผมได้ข่าวทางการลังกาวี ต้อนรับดูแลชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะอย่างดี ให้สิทธิเป็นพลเมืองเต็มที่ ถึงขั้นทำบัตรประชาชนให้
หลับตานึกถึงภาพชาวเลเกาะหลีเป๊ะหนีภัย...ต่อด้วยภาพสิทธิของที่ดินทำกิน ที่ถูกเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น หลังทางการประกาศเปิดช่องให้แจ้งสิทธิ เมื่อปี 2498
ชาวเลเกาะหลีเป๊ะพูดไทยไม่คล่อง อย่าว่าแต่จะรู้หนังสือไทย...ผมดูสารคดีชุดที่ทีมงาน อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ทำ...ชาวเลเรียกตัวเองหลายชื่อ อูลักลาโว้ย มอแกน มอแกลน ที่ดินที่เคยเป็นถิ่นฐาน...ปลูกมะพร้าวให้ร่มเงาใกล้บ้าน
พอตายศพก็ฝังใกล้บ้าน พร้อมสิ่งของเครื่องใช้...
ตอนนี้ที่ดินราคาแพง...และเมื่อถึงยุคการท่องเที่ยวทะเลเฟื่องก็แสนแพง ที่ดินหาดราไวย์ ไร่ละถึง 60 ล้าน
เมื่อสิทธิที่ดิน ตราไว้ในแผ่นกระดาษ ชาวเลส่วนใหญ่จึงเหลือแค่ที่ทอดสมอลอยเรือ...ชาวเลอยู่ในทะเล ส่วนแผ่นดินวันนี้ เป็นของนายทุน
ใช้หลักกฎหมาย ชาวเลไม่ว่าที่หาดราไวย์ หรือที่เกาะหลีเป๊ะ...
แทบไม่มีที่ปลูกบ้าน สุสาน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ทางเดินทางน้ำ สมัยปู่ย่า กลายเป็นที่มีโฉนด
แต่หากจะเปลี่ยนใช้หลักปกครอง...วิถีชีวิตชาวเล...งดงาม ยิ่งใหญ่ รัฐเสียอีกจะต้องช่วยถนอมรักษาเอาไว้...เป็นจุดขายเรียกนักท่องเที่ยว เป็นความภาคภูมิใจ เอาไว้อวดชาวโลก
โฉนดแต่ละใบ ลองใช้อำนาจมาตรา 44 ตรวจสอบย้อนหลัง...ไม่เคยถูกถ้วน ถูกที่...ต้องมีนอกมีใน...ถ้าเอาคืนให้ชาวเล ได้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เสียงสาธุ จากคนทั้งบ้านเมือง
ผมดีใจที่เห็นนายทหารยศพลเอก เป็นตัวตั้งตัวดีช่วยชาวเล...ความรู้จากท่าน...ตอนที่ฝรั่งกำลังตั้งท่า...เชือดแบ่ง กลันตัน ตรังกานู ปลิศ ไทรบุรี ให้มาเลเซีย...ก็อาศัยชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เป็นหลักฐานยืนยันการเป็นของไทย
อีกข้อชื่อชาวเล ที่เรียกกันแต่โบราณ อีกชื่อคือ...ฉลาง ผมเดาเอาว่าเพี้ยนเป็นถลาง อำเภอหนึ่งของภูเก็ต
ก็ขนาดชื่อ ฉลาง ยังเป็นชื่ออำเภอ...ที่ดินกระหยิบมือหาดราไวย์จึงเป็นของชาวเลโดยไม่มีข้อสงสัยอะไรอีก.
กิเลน ประลองเชิง