วิษณุมั่นใจผ่านฉลุยนปช.ชี้อย่าหลงเกม

“มีชัย” เผยบทเฉพาะกาลเสร็จแล้ว คงอำนาจรัฐบาล คสช.ไว้เต็ม แบะท่าถ้าร่าง รธน.ถูกคว่ำในชั้นประชามติ ได้ใช้ รธน. ฉบับ คสช.แน่ กรธ.แจงผู้แทนสหรัฐฯซักหลายปมที่ยังคาใจ นัดประชุมร่วม สปท.-สนช.รับฟังข้อเสนอ “นิกร” ลั่นต้องเซตซีโร่ศาล รธน. ห่วง กรธ.วางยาแรงทำร่างฯถูกคว่ำ “สมบัติ” ฟันธงรอดยากถ้าไม่แก้ รธน.ชั่วคราวปมประชามติ “วิษณุ” อุบไต๋ประชามติฉลุยแบเบอร์ ไม่พูดแล้ว “รับไว้ก่อนแล้วแก้ทีหลัง” “นิพิฏฐ์” แนะ “บิ๊กตู่” ทิ่มปากพวกเลียหน้าแข้งบ้าง “วัฒนา” จัดหนัก “ขยะประชาธิปไตย” นปช.เตือนอย่าหลงเกมเลือกตั้งจอมปลอม นายกฯซัดพวกบิดเบือนโทษ คสช.ทำ ศก.หด ชิ่งตอบทหารอุ้ม นศ.ม.บูรพา ผบ.มทบ.14 แจงเคลียร์กันเข้าใจแล้ว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย โดยพิจารณาบทเฉพาะกาลเสร็จแล้ว ก่อนเปิดร่างสมบูรณ์ร่างแรกให้เห็นในวันที่ 29 ม.ค.นี้ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เผยว่า หากประชามติไม่ผ่าน ก็มีโอกาสที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของ คสช.มาบังคับใช้เป็นการถาวร

“มีชัย” เผยบทเฉพาะกาลเสร็จแล้ว

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาหมวดบทเฉพาะกาล โดยนายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า เบื้องต้นร่างบทเฉพาะกาลเสร็จแล้ว ส่วนการคงสภาพของรัฐบาลหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังคงมีอำนาจตามปกติ และคงไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลรักษาการณ์ เพราะจะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้เลย สำหรับบทเฉพาะกาลเราจะเขียนเฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น ยังกำหนดตายตัวไม่ได้ ต้องฟังความเห็นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้ รวมถึงหลายฝ่ายและพรรคการเมืองด้วย จะทยอยส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.เป็นต้นไป

...

ขู่ประชามติถูกคว่ำได้ใช้ รธน.คสช.

เมื่อถามว่า กรธ.จะส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการทำประชามติหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ถ้ารัฐบาลเข้าใจตรงกันว่า นับคะแนนเฉพาะผู้มาใช้สิทธิก็ไม่จำเป็นต้องแก้ แต่ถ้าอยากจะแก้ก็แก้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของ กรธ. เมื่อถามว่า ถ้าไม่แก้แล้วมีฝ่ายที่ไม่เข้าใจนำประเด็นนี้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้ผลประชามติล่าช้าหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า รัฐบาลต้องปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญก่อน ได้ผลอย่างไรค่อยดำเนินการ เมื่อถามว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อหาทางออกกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ส่วนนั้นทำไม่ได้ ถ้าระบุทางออกไว้คนจะไม่ดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าหากไม่รับร่างฯก็ไม่มีรัฐธรรมนูญใช้ และจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันมาแทน หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านค่อยไปคิดกันอีกที เมื่อถามว่า การไม่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะกลัวไม่ผ่านประชามติใช่หรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ไม่ใช่ เพราะถ้าทำอะไรแล้วไปตั้งเงื่อนไข แสดงว่าสิ่งที่เราทำก็ไม่ใช่ของดี

ผู้แทนสหรัฐฯซักแหลกปมคาใจ

ต่อมา นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงภายหลังการประชุมว่า หัวหน้าฝ่ายการเมืองของสหรัฐอเมริกาขอเข้าพบนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งนายมีชัยมอบหมายให้ตนพูดคุยแทน โดยทางสหรัฐฯหยิบยกประเด็นที่นักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์มาสอบถาม อาทิ การปิดห้องประชุมพิจารณาร่างฯ การเบิกงบประมาณของ ส.ส. ซึ่งพยายามอธิบายให้เข้าใจ ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องในประเทศ ไม่ใช่เรื่องระหว่างประเทศ สำหรับการกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีจำนวน 3 รายชื่อก่อนการเลือกตั้งนั้น กรธ.ยังยืนยันหลักการเดิม ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อ จะไม่สามารถเข้ามาเป็นนายกฯได้เด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด เมื่อถามว่า หากเกิดกรณีเสียชีวิตก่อนการโหวตเลือกนายกฯทั้ง 3 รายชื่อ จะเสนอรายชื่อใหม่เข้ามาได้หรือไม่ นายอมรตอบว่า ไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าพรรคนั้นหมดสิทธิ์ และไม่สามารถเสนอชื่อคนอื่นเข้ามาเพิ่มใหม่ได้อีก

นัดประชุมร่วม กรธ.-สปท.-สนช.

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการคณะกรรมธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) กล่าวภายหลังเข้าหารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ว่า วันที่ 3 ก.พ. เวลา 13.00 น. กรธ.จะเป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมระหว่าง สปท. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรับฟังคำชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความเห็น ที่จะจัดทำเสร็จในวันที่ 29 ม.ค. โดยนายมีชัยต้องการให้ตั้งคำถามประเด็นที่สงสัย โดยตนจะนำข้อมูลที่ได้หารือกับวิป สปท.วันที่ 28 ม.ค. เพื่อให้ร่วมพิจารณาและกำหนดแนวทางอีกครั้ง สำหรับร่างรัฐธรรมนูญทราบว่า กรธ.จะเป็นผู้ผลิตเอง คาดว่าคงใช้เวลาผลิตและแจกให้สมาชิกได้ไม่เกินวันที่ 1 ก.พ.

“เสรี” ชี้ตีโจทย์แก้ซื้อเสียงไม่แตก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า วันที่ 26 ม.ค. กมธ.ฯจะประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดูว่าสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาตามที่ กมธ.ฯเคยเสนอไปได้หรือไม่ เท่าที่ดูเป็นห่วงเรื่องการแก้ปัญหากลุ่มทุนการเมือง ปัญหาการซื้อเสียง ที่ยังไม่เห็นความชัดเจน คงต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 29 ม.ค. ส่วนเรื่องนายกฯคนนอกมองว่าไม่ควรไปปิดกั้น เพราะที่ผ่านมาการให้มีนายกฯมาจาก ส.ส.เป็นเวลา 20 ปี พิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเวลาเกิดวิกฤติประเทศได้ จึงควรเปิดช่องไว้ อย่าไปตั้งแง่รังเกียจ แม้จะถูกพรรคการเมืองต่อต้านหนัก แต่คนตัดสินใจคือประชาชน เชื่อว่าขณะนี้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถชี้นำประชาชนได้แล้ว

“นิกร” ลั่นต้องเซตซีโร่ศาล รธน.

นายนิกร จำนง กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า กมธ.ฯจะเสนอ ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วม กรธ. สปท. และ สนช. วันที่ 3 ก.พ. พร้อมจับตาดูการออกกฎหมายลูก 14-15 ฉบับ ที่จะสอดรับกับร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ตลอดจนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระต่างๆ ทั้ง กกต. ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนตัวมองว่าเนื้อหาที่น่าห่วงคือ การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจทำให้เป็นที่กังขาของสังคม เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเชื่อมโยงกับการเมือง จึงควรให้ศาลฎีกาทำหน้าที่ถอดถอนแทนจะได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่า หรือหากจะให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ถอดถอนต้องเซตซีโร่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยตั้งองค์คณะชุดใหม่มาทำหน้าที่ และกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน

ห่วง กรธ.วางยาแรงทำร่างฯถูกคว่ำ

นายนิกรกล่าวว่า สำหรับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกได้ทั้ง ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกรัฐมนตรี ต้องอธิบายให้ชัดเจนกว่านี้ ขณะนี้ทุกคนยังงงกับระบบดังกล่าว เพราะไม่เคยใช้มาก่อน กรธ.ต้องวางโมเดลเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะมีความเป็นไปได้ที่ระบบเลือกตั้งวิธีนี้จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง เท่าที่ดูเนื้อหามองว่ามีการใช้ยาแรงหลายขนาน ทั้งเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก การเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อม การเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นเหล่านี้หลายฝ่ายไม่ชอบก็จะไปเสริมฤทธิ์กัน ถือเป็นตัวอันตราย มีผลให้ถูกน็อกได้ต้องระวัง อาจทำให้รัฐธรรมนูญถูกคว่ำตอนทำประชามติ ควรเพลาๆหน่อย

“สมบัติ” ฟันธงไม่แก้ รธน.รอดยาก

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ก่อนการทำประชามติ กรธ.คงใช้สื่อของรัฐอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในเนื้อหา ประเด็นไหนดีอยู่แล้ว กรธ.ต้องหนักแน่นอย่าไขว้เขว แม้ถูกนักการเมืองถล่มหนักแค่ไหน แต่ประเด็นใดที่ไม่เหมาะสมก็อย่าดึงดัน เช่น การให้นายกฯมาจากคนนอกได้ แบบนี้ต่อให้ใช้สื่อรัฐชี้แจงอย่างไรคงฟังไม่ขึ้น พูดไปเปลืองตัว ประชาชนที่นิยมกลุ่มการเมืองจะฟังสัญญาณจากผู้นำมวลชนของเขาว่าจะให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่ ถ้าสัญญาณไม่ดีถูกส่งไปยังประชาชนคงสุ่มเสี่ยง อุปสรรคอีกประการคือ ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 37 วรรค 7 ที่ระบุว่า การออกเสียงประชามติให้ยึดเสียงข้างมากของ “ผู้มีสิทธิ์” ออกเสียง ถ้าไม่แก้ไขให้เป็น “ผู้มาใช้สิทธิ์” โอกาสที่จะผ่านประชามติยิ่งแย่ขึ้น

“วิษณุ” อุบไต๋เหตุประชามติผ่าน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ฝ่ายการเมืองข่มขู่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เขาขู่มานานแล้ว ไม่เป็นไร กรธ. คงได้ยิน แต่อะไรที่สำคัญเขาตั้งใจไว้คงไม่แก้ แต่บางเรื่องสำรวจความคิดเห็นแล้วประชาชนเห็นด้วย เช่น การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ก็ทำให้มั่นใจขึ้นว่ามาถูกทาง ส่วนการเสนอให้ดีเบตกันระหว่างนักการเมืองกับ กรธ. การเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นเป็นเรื่องดี แต่จะดีเบตหรือไม่ต้องถาม กรธ.ว่าพร้อมหรือไม่ ที่สำคัญประชาชนควรได้อ่านเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อน จะได้รู้ว่าถ้อยคำจริงเป็นอย่างไร เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเทียบกับฉบับก่อนๆถือว่าใช้ได้ จะบอกว่าเลวทั้งหมดคงไม่ใช่ ฝ่ายการเมืองติดตามตลอดจึงเห็นประเด็นชัด แต่ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดจึงอาจถูกชักนำให้คล้อยตาม เมื่อถึงเวลาลงประชามติต้องมาพูดกันทั้งหมด และทำฉบับย่อให้ประชาชนเข้าใจทุกมาตรา ยังเชื่อว่าจะผ่านประชามติ แต่ไม่ขอพูดถึงเหตุผล

ไม่พูดแล้ว “รับไว้ก่อนแล้วแก้ทีหลัง”

เมื่อถามว่าการรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ ทำได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า วันนี้อาจทำยาก แต่เชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องผ่อนคลายลง ไม่ต้องการให้ประชาชนรับทราบแต่เพียงข้อดี จึงต้องพูดทั้ง 2 ทางแล้วชั่งน้ำหนัก แต่สำหรับตนไม่ขอพูดว่ารับไว้ก่อนแล้วแก้ทีหลัง ไม่กล้าพูดแล้ว แต่เท่าที่ดู ดีเกินครึ่ง เมื่อถามว่าถึงเวลาพูดคุยถึงการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อรองรับการทำประชามติหรือยัง นายวิษณุตอบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังคิดกัน รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน โรดแม็ปที่นายกฯกำหนดไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2560 ยังเหมือนเดิม

“นิพิฏฐ์” เหน็บเอาที่ผู้มีอำนาจสบายใจ

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางโทรทัศน์ ว่า ไม่เป็นไรเอาเท่าที่ผู้มีอำนาจสบายใจ ประเทศเรามีปัญหา แยกไม่ออกระหว่างความเห็นต่างกับความขัดแย้ง ประชาธิปไตยสนับสนุนให้เห็นต่างได้ แต่ระบอบที่ต้องเห็นไปในทางเดียวแบบสุดโต่งเรียกเผด็จการ ตนไม่ได้เสนอให้ไปดีเบตทะเลาะกันผ่านหน้าจอ แต่ไม่เป็นไรหากกลัวควบคุมไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน แต่ย้ำว่าน่าจะเปิดเวทีให้คุยกันได้ และทีมงานรัฐบาลต้องทำงานให้หนัก ห้ามไปทะเลาะด้วย เพราะพรรคเพื่อไทยมักโจมตีทำนองว่า กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมให้ผู้ยึดอำนาจ ล้างผิดให้ทั้งก่อนและหลังการยึดอำนาจ ประชาชนส่วนหนึ่งอาจเชื่อแล้วพานจะไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงต้องแจงให้ประชาชนเข้าใจ

แนะ “บิ๊กตู่” ทิ่มปากพวกเลียหน้าแข้ง

นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า ต้องปรามกองเชียร์ตัวเองอย่าไปเชียร์แบบสุดขั้ว อย่างนายวันชัย สอนศิริ โฆษก สปท. ทหารถูกเชลียร์จนขนหน้าแข้งเตียนหมดแล้ว ปล่อยให้ขนหน้าแข้งทหารขึ้นบ้างเถิด อย่าไปเชียร์เสียจนสุดลิ่มนัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์-โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยบอกอยากหาอะไรทิ่มปากนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. ขอแนะนำให้นายกฯหาอะไรไปทิ่มปากปรามคนเหล่านี้เสียบ้าง เพราะอาจทำให้งานของนายกฯเสียหายได้ ฟันธงไว้เลยคนบางกลุ่มจะโหนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับมาเป็น ส.ว.อีกแน่ ขอให้เกรงใจทหารบ้าง

เปลี่ยนชื่อเป็น รธน.ฉบับช่วยกันโกง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังมีคำสั่ง คสช. ห้ามเคลื่อนไหว ห้ามประชุมหรือชุมนุมทางการเมือง จึงเชื่อว่าประชาชนจะได้ฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจากฟากฝั่งเดียว ส่วนความเห็นต่างจากอีกฟากฝั่ง ประชาชนไม่มีโอกาสได้ฟังแน่นอน แบบนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และไม่อยากให้ประชาชนหลงเชื่อคำพูดให้รับกันไปก่อนค่อยแก้ในภายหลังอีก อยากให้ประชาชนเข้าใจนักการเมืองว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องลงเล่นการเมืองภายใต้กฎกติกาที่กรรมการมาร่วมวงเล่นด้วยและไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะในที่สุดก็หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์ซ้ำแล้วซ้ำอีก นักการเมืองตกเป็นจำเลยสังคมอยู่ตลอด แต่อยากถามคนไทยว่าการทุจริตโกงบ้านกินเมืองยังคงมีอยู่หรือไม่ในทุกวันนี้ ทั้งที่ไม่มีนักการเมืองแม้แต่คนเดียว แบบนี้จะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงได้อย่างไร น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐธรรมนูญฉบับช่วยกันโกง จะเหมาะสมกว่าหรือไม่

“วัฒนา” จัดหนัก “ขยะประชาธิปไตย”

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ โพสต์ลงเฟซบุ๊กเรื่อง “เศษขยะประชาธิปไตย” ระบุว่า เห็นสมุนเผด็จการดาหน้าออกมาสนองคุณข้าวแดงแกงร้อน ที่เผด็จการเมตตาให้มีกินมีใช้ บางคนออกมาปกป้องชื่นชมผลงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเผด็จการ แม้จะเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกประณาม บางคนชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และยังบิดเบือนทำนองว่า ที่นักการเมืองต่อต้านเพราะเป็นยาแรงต่อต้านการทุจริต ปกติตนให้เกียรติทุกคนและตัดสินคนจากการกระทำเสมอ แต่คนเหล่านี้คือขยะทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย คำว่ายาแรงเป็นเพียงวาทกรรม คนที่มาจากประชาชนไม่มีใครกลัวยาแรง และยอมรับการตรวจสอบเสมอ มีแต่พวกขยะทางการเมืองเท่านั้นที่กลัวและกำลังหนีการตรวจสอบ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนี้นิรโทษกรรมให้ คนเหล่านี้ไม่เคยกล้าพูดว่าไม่ต้องการการนิรโทษกรรมและพร้อมให้ตรวจสอบ


“ตู่” เตือนอย่าหลงเลือกตั้งจอมปลอม