"หมอบรรลุ" ชงฟันทุจริตไทยเข้มแข็งสธ. 4 นักการเมือง- 8ขรก.เอี่ยว  เสนอนายกฯทบทวนทั้งโครงการ "มานิต" โต้ลั่น  โกงได้ไง ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง-ไม่ได้จ่ายเงินสักบาท-ไม่ได้เขียนทีโออาร์ด้วยซ้ำ..

ที่อาคารบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล  เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 28 ธ.ค. นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการสอบสวนว่า การจัดตั้งงบประมาณดังกล่าว มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง โดยมีพยานหลักฐานที่มอบให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำนวน 4,733 แผ่น พบผู้ที่กระทำความผิด 12 ราย แบ่งเป็น ข้าราชการทางการเมือง 4 ราย ข้าราชการประจำ ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้วและที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ 8 ราย

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในฝ่ายข้าราชการการเมือง 4 คน ได้แก่ 1. นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความบกพร่อง ส่อเจตนาไม่สุจริต และการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ได้ 2. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งและไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ของตน รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย 3. นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต และ 4. นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยระบบอัลตร้าไวโอเลต (ยูวีแฟน)

ในส่วนของข้าราชการประจำมี 8 คน ได้แก่ 1. นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ 8.6 หมื่นล้านบาท กลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ 2. พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสาธารณสุข ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคที่มีผู้ทำงานกว่า 50 คนดูแล โครงการใหญ่ขนาดนี้ เป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต 3. นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริต 4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต 5. นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค  คณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขได้สอบสวนก่อนหน้านี้และชี้มูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน

ส่วนรายที่ 6-8 พบว่าแม้จะไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต แต่ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ ได้แก่ 6. นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ สบภ. แต่โครงการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของพญ.ศิริพรดูแล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ 7. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น และ 8. นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง

นพ.บรรลุ กล่าวต่ออีกว่า  คณะกรรมการได้เสนอให้ทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร  ต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกัน โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องลงมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส ใช้บุคลากร สาธารณสุขที่มีคุณภาพที่มีอยู่มากช่วยกัน เชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน รวมถึงการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่รับราชการอยู่และเกษียณ ไปแล้วตามความผิดที่กระทำมา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

"ในส่วนของนักการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามกฎเหล็ก 9 ข้อ ที่นายกฯได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด และข้อ 9 ที่ระบุว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย" นพ.บรรลุ กล่าว

นพ.บรรลุ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ได้นำผลสรุปรายงานการสอบให้นายอภิสิทธิ์ ทราบ ได้สนใจและซักถามเพิ่มเติมประมาณ 30 นาที  ยืนยันว่าจะนำผลสรุปไปอ่านในช่วงปีใหม่ด้วย  ส่วนตัวหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและจะมีความชัดเจนหลังปีใหม่ นี้ ว่าจะส่งกรณีใดไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็แล้วแต่รายละเอียดที่เห็นสมควร ส่วนใครจะรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่นั้น แล้วแต่กรณี ส่วนพฤติกรรมที่พบมีทั้งสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่างกว้างขึ้น งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มีความกระจุกตัวในบางจังหวัด แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่น จ.ราชบุรี  มีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 โรง และยังมีโรงพยาบาลศูนย์อยู่อีก 1 โรง ทั้งที่ส่วนใหญ่ จังหวัดหนึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดเพียงแห่งเดียว ขณะที่บางจังหวัด ขาดแคลนกลับได้รับการจัดสรรน้อย

ในส่วนงบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ มีการจัดซื้อสิ่งไม่จำเป็น และ ราคาแพงจำนวนมาก นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต ครุภัณฑ์บางอย่างไม่ได้ต้องการหรือขอมา แต่จัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้นครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น นพ.บรรลุ กล่าวด้วยว่า งบประมาณส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า

ด้าน พล.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ความรับผิดชอบที่ฝ่ายการเมืองต้องดำเนินการในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจให้คุณแต่งตั้งและถอดถอนใครก็ต้องดำเนินการ ในส่วนของรัฐมนตรีใครหน้าบางก็ลาออก เหมือนก่อนหน้านี้ที่ตนเองมีปัญหาทะเลาะวิวาทในสภา แม้ว่าจะดำเนินการเพื่อปกป้องตัวเอง และมีคนสนับสนุนการกระทำในครั้งนั้น ก็ยังเห็นว่าไม่เหมาะสมไม่ถูกต้องจึงได้ลาออก

วันเดียวกัน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังรับทราบผลการแถลงของคณะกรรมการฯ ว่า สำหรับกรณีดังกล่าว นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พูดเสมอว่าเงินยังไม่มาจะเป็นการทุจริตได้อย่างไร ที่ผ่านมาตนลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ก็ได้รับคำขอในเรื่องต่างๆ ก็เพียงแต่นำมาส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น  อาจทำให้ดูเหมือนก้าวล่วงแต่เกิดจากการเดินทางไปทำงานเท่านั้น  ต่อจากนี้ตนคงไม่กล้าไปรับฟังความคิดเห็น และนำปัญหาของแต่ละพื้นที่มาเสนออีก

ต่อข้อถามว่า เมื่อคณะกรรมการชี้ว่ามีพฤติกรรมลูกล้วงและส่อไปในทางทุจริตจะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า จะตัดสินใจอย่างไรคงต้องคุยกับนายวิทยา ก่อน เพราะเงินยังไม่ได้จ่ายสักบาท ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่ได้เขียนทีโออาร์ด้วยซ้ำ ส่วนที่คณะกรรมการระบุว่าตนเข้าพบกับบริษัทผลิตรถพยาบาลเพื่อตกลงเรื่องการฮั้วประมูลนั้น ขอยืนยันว่าไม่เคยเข้าไปพบแต่อย่างใด ส่วนเรื่องของโรงพยาบาลราชบุรี ก็เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ก่อนตนเป็น ส.ส. และโครงการเมกะโปรเจกต์ก็ดำเนินมานานก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง.

...