สนช.รับรองรายงานกมธ.รวบรวมความเห็นร่าง รธน. ให้มี ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ ส่วน ส.ว.ให้สรรหาทั้งหมด อ้างเลือกทางอ้อมส่อล็อบบี้ หนุน ตั้งองค์กรคอย

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.58 ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุมพิจารณารายงาน การรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ พิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเสร็จแล้ว มีสาระสำคัญคือ ควรมี ส.ส. จำนวน 500 คน มาจากแบบแบ่งเขต 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนที่เคยใช้มา แล้วคิดคะแนนแบบสัดส่วนผสม เขตเลือกตั้งควรเป็นเขตใหญ่เรียงเบอร์ 3 คน ต่อ 1 เขต ส่วน ส.ว.ควรมีจำนวน 200 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด และควรคงอำนาจถอดถอนไว้ สำหรับ นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีองค์กรหรือคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แก้วิกฤติของประเทศ ในกรณีที่ไม่มีบัญญัติไว้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารประเทศได้ 
         
จากนั้นจึงเปิดให้สมาชิก สนช.อภิปราย โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อภิปรายว่า การเขียนรัฐธรรมนูญประเทศไทย ต้องพิเศษ ต้องขัดใจนักการเมือง เพราะที่ผ่านมา เห็นเรียกร้องกันแต่ประชาธิปไตยกัน ซึ่งตนไม่เห็นว่า ประเทศไทยจะเป็นเผด็จการตรงไหน แต่ทั้งนี้รัฐธรรมนูญต้องถูกใจประชาชนด้วย เพื่อให้ผ่านประชามติ แล้วมีการเลือกตั้ง ตามโรดแม็ปที่รัฐบาลวางไว้ ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กล่าวว่า สนับสนุนให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ แล้วคิดคะแนนแบบสัดส่วนผสม ตามแบบประเทศเยอรมนี เหมือนที่ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยเสนอแล้วไม่ผ่าน เพราะถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก เหมาะสมกับประเทศไทย จึงอยากเน้น กรธ. ให้ความสำคัญตรงนี้ด้วย 
         
ด้าน นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สนช. อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับการที่ให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด และให้คงอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.เหมือนเดิม แต่ต้องหาวิธีการสรรหาให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันการฮั้วหรือล็อบบี้ นายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า ส.ว.ควรมาจากการสรรหาทั้งหมด เพราะการให้เลือกตั้งทางอ้อมอาจจะมีปัญหาเรื่องการล็อบบี้ ต่างจาก ส.ว.สรรหา ที่มีต้นทุนค่าสมัครเพียง 5,000 บาท
          
ภายหลังอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานข้อเสนอแนะ ส่งให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนน 144 ต่อ 1 เสียง

...