สหรัฐฯ เตรียมจัดวงหารือถกกลาโหมไทย - สหรัฐฯ ปี 59 ด้านผู้ช่วยรมต.สหรัฐฯ ย้ำจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นหลักสากล อยากเห็นไทยกลับสู่ประชาธิปไตย ส่วนผลการประชุมร่วมยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ วันนี้ ราบรื่น-ครอบคลุมทุกด้าน
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.58 ที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ได้จัดการประชุมยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 5 โดยนายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายไทย ขณะที่ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นประธานฝ่ายสหรัฐฯ
โดย นายรัสเซล กล่าวช่วงต้นของการประชุมว่า การประชุมยุทธศาสตร์ฯ ครั้งนี้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งตนหวังว่าการหารือดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ร่วมกัน และจะมียุทธศาสตร์ที่ช่วยพัฒนา 2 ประเทศ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ โดยการหารือครั้งนี้อยู่ภายใต้บริบทที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข การต่อต้านการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ และการรักษาสันติภาพ รวมถึงจะหารือถึงประเด็นปัญหาในทะเลจีนใต้ ความร่วมมือในเวทีอาเซียน ความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และพัฒนาการในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
...
จากนั้น นายอภิชาติ แถลงภายหลังการประชุมฯ ว่า การหารือครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น มีการหารือเชิงยุทธศาสตร์ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตรงไปตรงมา มุ่งเน้นผลความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมหลายด้าน โดยด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงกลาโหมไทย-สหรัฐฯ ในปี 2559 ด้านการค้าและการลงทุนจะมีการส่งเสริมให้บริษัทของสหรัฐฯ มาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีการหารือกันเร็วที่สุดภายในปี 2559 เช่นกัน ด้านการศึกษาจะประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือน ต.ค.2559 ที่กรุงเทพฯ ด้านความร่วมมืออาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ เป็นต้น ทั้ง 2 ประเทศจะบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ทั้งนี้ ตนคาดว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไปในปี 2559 ที่สหรัฐฯ
ขณะที่ นายรัสเซล กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ ได้กำหนดถึงขอบเขตที่สหรัฐฯ จะสามารถจัดลำดับความสัมพันธ์ให้แต่ละประเทศ ซึ่งความร่วมมือต่างๆ จะกลับมาได้ต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยกลับคืนมา ส่วนความร่วมมือทางการทหารนั้น ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ในไทยจึงทำให้ยากต่อการสนับสนุน แต่สหรัฐฯพยายามที่จะให้การสนับสนุนโดยพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น การฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ ซึ่งจะเน้นให้การช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในอีกหลายมิติที่ไทยและสหรัฐฯ จะทำได้ แต่สหรัฐฯ อยากฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีให้กลับคืนมาเป็นเหมือนเดิม
ส่วนการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.นั้น นายรัสเซล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้อธิบายสถานการณ์การเมืองและโรดแม็ป ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยของไทยให้ฟัง ขณะที่ตนระบุว่าสหรัฐฯ ยังคงย้ำจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นหลักการสากลที่ทุกคนต้องการ ทั้งนี้ สหรัฐฯ อยากเห็นประเทศไทยมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย โดยสหรัฐฯ จะเป็นเพื่อนเคียงข้างไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทั้งภูมิภาคและระดับโลก