หนังสือ “สิ่งแรกในเมืองไทย” ชุดที่ 2 (พ.ศ.2502) สงวน อั้นคง เล่าถึงเรื่องเรือดำน้ำไทยเอาไว้ว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 รัชกาลที่ 6 ทรงเรียก “เรือใต้น้ำ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พล.ร.อ.หลวงสินธุ์ กมลรนาวิน ได้ให้ชื่อเรือนี้ว่า “เรือดำน้ำ” ชื่อนี้จึงเรียกกันเรื่อยมานับแต่นั้น
พ.ศ.2478 นาวาเอก พระยาวิจารณ์จักรกิจ ผู้บัญชาการทหารเรือเห็นว่า ประเทศไทยควรมีเรือน้ำใช้ รัฐบาลเห็นด้วย หลังการประกวดราคา บริษัทมิตซุยบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เสนอราคาได้ ลงนามเซ็นสัญญา 5 พ.ย.2478
เรือดำน้ำ 4 ลำที่กองทัพเรือไทยใช้สมัยนั้น ได้รับพระราชทานชื่อตามลำดับ ร.ล.มัจฉาณุ ร.ล. วิรุฬ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีระวางขับน้ำลำละ 370 ตัน เทียบกับขนาดเรือดำน้ำทั่วไป เป็นเพียงเรือดำน้ำ รักษาชายฝั่งทะเลเท่านั้น
บริษัทมิตซุยบิชิ เริ่มวางกระดูงูเรือ 2 ลำแรก เมื่อ 6 พ.ค.2479 โดยพระมิตรกรรมรักษา อัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว เป็นผู้ทำพิธี และวันที่ 1 ต.ค.2479 ก็ทำพิธีวางกระดูกงูลำที่ 3 และลำที่ 4
วิชาการของเรือดำน้ำ เป็นของใหม่สำหรับทหารเรือไทย ยังไม่มีผู้ใดมีความรู้ และเรือดำน้ำก็ไม่เหมือนเรือบนน้ำ ที่เราซื้อหรือสั่งต่อเสร็จก็ส่งคนไปรับเอามาใช้ได้เลย ทหารประจำเรือต้องมีความรู้ ความสามารถ ทั้งการใช้เครื่องมือและอาวุธประจำเรือ
หลังการตกลงซื้อเรือดำน้ำ ก็ต้องทำความตกลงกับกองทัพเรือญี่ปุ่น ให้ช่วยฝึกสอนทหารเรือไทย จากนั้นกองทัพเรือไทยก็คัดเลือกนายทหารกับทหารจากกองเรือรบ หรือกองเรือยุทธการปัจจุบัน
รุ่นแรก เป็นนายสัญญาบัตร 8 นาย ทหารชั้นประทวน 32 นาย รวมเป็น 40 นาย ทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของเรือเอก สวัสดิ์ จันทนี ออกเดินทางจากไทย เมื่อ 29 พ.ค.2479 ทหารเรือไทยได้ที่พักที่ตำบลฟูนานาชิ กรุงโตเกียว เริ่มศึกษาภาษาญี่ปุ่น พอใช้สนทนากันได้ จากนั้นก็เริ่มศึกษาวิชาเรือดำน้ำ
...
แต่เนื่องจากจำนวนเรือดำน้ำ 4 ลำ ต้องใช้นายทหารและทหารเพิ่มอีก 80 นาย ต่อมากองทัพเรือได้คัดเลือกนายทหารสัญญาบัตร 9 คน นายทหารชั้นประทวน 71 นาย ในความควบคุมของเรือโท ตี๋ รัตนอุบล เดินทางตามไปศึกษา เป็นชุดที่ 2 และยังส่งตามไปอีกหลายรุ่น จนครบจำนวนประจำการ
วันที่ 24 ธ.ค.2479 เรือดำน้ำสองลำแรก ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุฬ ก็เสร็จ หลังพิธีปล่อยเรือลงน้ำ วันที่ 4 ก.ย.2480 เรือดำน้ำสองลำก็เสร็จบริบูรณ์ พร้อมส่งมอบให้กองทัพเรือไทยนับเป็นครั้งแรก ที่ราชนาวีไทย มีเรือดำน้ำ
ด้วยเหตุนี้ทหารเรือดำน้ำ จึงถือเอาวันที่ 4 ก.ย. เป็นวันที่ระลึกเรือดำน้ำ
14 พ.ค.2480 ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล ก็สร้างเสร็จ พระมิตรกรรมรักษา เป็นประธานพิธีปล่อยเรือลงน้ำ พิธีมอบเรือเป็นทางการ 30 เม.ย.2481
เมื่อทหารลงประจำเรือพร้อม ก็ได้รับการฝึกหัดตามหลักสูตรวิชาการเรือดำน้ำ ร.อ.จรัส ดวงอุไร กล่าวในวันที่ระลึกเรือดำน้ำ ว่า มีการฝึกหัดดำ ฝึกหัดยุทธวิธีของเรือดำน้ำ เป็นขั้นๆไป
จนสามารถปล่อยเดี่ยว คือสามารถบังคับและใช้เรือได้ โดยพวกทหารเรือไทยเอง
5 มิ.ย.2481 เรือดำน้ำ 4 ลำของราชนาวีไทยก็ได้ฤกษ์ถอนสมอ เคลื่อนที่จากน่านน้ำญี่ปุ่น ขณะแวะพักที่ฟิลิปปินส์ คนญี่ปุ่นและคนอเมริกันได้แสดงความประหลาดใจ ที่รู้ว่าเรือดำน้ำขนาดเล็กเดินทางไกลได้โดยไม่ต้องมีเรือพี่เลี้ยง
นี่คือสัญลักษณ์ แสดงถึงสมรรถภาพและความสามารถของลูกนาวีไทย
29 มิ.ย.2481 รวมระยะทางกว่า 3,000 ไมล์ ขบวนเรือดำน้ำไทย ก็เดินทางถึงประเทศไทย ท่ามกลางการต้อนรับจากประชาชนและราชการ
พิธีขึ้นระวางประจำการ เป็นเรือรบหลวง เริ่มที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิตถ์ พระนคร เมื่อ 19 ก.ค.2481 โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงเป็นผู้เจิมหัวเรือ
ในพิธีขึ้นระวางประจำการเดียวกันนี้ มีร.ล.ศรีอยุธยา และเครื่องบินทะเล 8 เครื่องรวมอยู่ด้วย
ต่อมา กองทัพเรือได้เห็นความสำคัญของกำลังทางเรือดำน้ำมากขึ้น จึงได้เปิดโรงเรียนเรือดำน้ำขึ้น เพื่อฝึกอบรมบ่มเพาะนักดำเรือดำน้ำขึ้นอีกหลายรุ่น
ครั้งสงครามอินโดจีน หมวดเรือดำน้ำ ได้แสดงบทบาท หลัง ร.ล.ธนบุรีจม ก็ทำการดำลาดตระเวนเป็น 4 แนว อยู่บริเวณหน้าฐานทัพเรือของฝรั่งเศศ โดยใช้เวลาดำใต้น้ำ นานถึงลำละ 12 ชั่วโมง
นับเป็นการดำน้ำที่นานที่สุด นับแต่เริ่มมีหมวดเรือดำน้ำ
29 มิ.ย.2494 หลังเกิดเหตุกบฏแมนฮัตตัน ทหารเรือกลุ่มหนึ่งจับจอมพล.ป. พิบูล สงคราม เป็นตัวประกัน ใน ร.ล.ศรีอยุธยา เหตุการณ์จบลงด้วยการจม ร.ล.ศรีอยุธยา และหลังจากนั้นหมวดเรือดำน้ำก็ถูกยุบเลิกไป
คงทิ้งให้เรือดำน้ำลอยเท้งเต้งอยู่บนพื้นน้ำอย่างไร้ความหมาย...และหายไปไม่เหลือร่องรอยให้เห็นจนถึงบัดนี้.
O บาราย O