ทีโอที ร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กสทช.โอนลูกค้ามือถือ 2 จี ให้เอไอเอสและบริษัทลูกขัด ก.ม.อัดเอาเปรียบส่อทำรัฐเสียหายกว่า 6.3 หมื่นล้านต่อปี

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน (สรท.) จำนวนมาก นำโดย นายอนุชิต ธูปเหลือง ประธาน สรท. ได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเรียกร้องให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบความจริงพร้อมดำเนินการทางวินัย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีเอื้อประโยชน์โอนย้ายลูกค้าสัมปทานของ บมจ.ทีโอที ให้เอกชน และการนำคลื่นความถี่ ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปเปิดประมูลทำให้รัฐเสียหาย เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ บมจ.ทีโอที ตรวจสอบพบว่า การโอนย้ายลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสัญญาสัมปทานของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ไปยังบริษัทแอดวานซ์ ไวเลส เน็ทเวอร์ค (AWN) มีการกระทำที่ผิดประกาศกฎเกณฑ์ กสทช. รวมทั้งจำนวนลูกค้า ที่ต้องดำเนินการเรียกคืนกลับ บมจ.ทีโอที ทั้งสิ้น 30,434,523 ราย และเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

...

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า เอไอเอส มีการโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทเอไอเอส 2 จี 900 เมกะเฮิรตซ์ ของบมจ.ทีโอที ไปยังระบบ 3จี 2100 ของบริษัทลูกที่ชื่อ AWN ซึ่งเป็นการผิดประกาศ คงสิทธิหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่จริง หากกสทช. นำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปเปิดประมูล โดยจะเคาะราคา ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ และบมจ.ทีโอที ไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อจากเอไอเอส ลูกค้า จำนวน 30,434,523 ราย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือของบมจ. ทีโอที ที่จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวในการให้บริการต่อเนื่อง เนื่องจากลูกค้าที่ใช้เครื่องโทรศัพท์รุ่นเก่าต้องใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น จะต้องย้ายไปใช้เอกชน ที่ประมูลคลื่นความถี่ได้ ส่งผลให้รัฐ หรือ บมจ.ทีโอที เสียหายเป็นมูลค่า 63,912,498,300 บาทต่อปี รวมทั้งมูลค่าทรัพย์สินอุปกรณ์ โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของรัฐ ซึ่ง บมจ.ทีโอที รับมอบมา ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน มีมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ทรัพย์สินอุปกรณ์ดังกล่าว จะด้อยค่าทันที

ดังนั้น บมจ.ทีโอที ไม่สามารถดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นเครื่องมือถ่วงดุล ลดการเอาเปรียบของเอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ อีกทั้งประชาชนถูกบังคับซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือ 3จี และ 4จี ใหม่ เนื่องจากจะไม่มีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 จี ในประเทศไทยอีกต่อไป ตามนโยบาย กสทช.ที่กำลังดำเนินการอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ กลุ่ม สรท.ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว