"เนติบริกร" แจง นักการเมือง-องค์กรอิสระ นั่งกรรมการร่าง รธน.ไม่ได้ ยอมรับ เที่ยวนี้หาคนยาก เหตุ คนมาต้องชั่งใจ กลัวคว่ำซ้ำสอง นับถือ "บวรศักดิ์" เหมือนเพลง"ยังยิ้มได้เมื่อภัยมา"

วันที่ 8 ก.ย. เมื่อเวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 21 คน จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมหรือไม่ ว่า ในกติกาไม่มีการกำหนดไว้จะเป็นฝ่ายใดก็ไม่มีปัญหา แต่ในทางปฏิบัติจริงเห็นสมควรว่า มีหรือไม่ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงแม้ว่า จะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาก็ต้องมีปัญหาอยู่ดี เพราะเราไม่สามารถเอามาทุกฝ่ายได้ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการร่างฯ ไว้แล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่แล้ว ซึ่งระบุว่า จะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ย้อนหลัง 3 ปี จึงต้องพิจารณาในส่วนนี้ก่อน ส่วนบุคคลในองค์กรอิสระ จะมาเป็นคณะกรรมการร่างฯ ในขณะเดียวกันไม่ได้ ยกเว้นลาออกแล้วมาเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผ่านมา จะเป็นอุปสรรคในการชักชวนใครเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างฯ ชุดใหม่ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการทุกคณะ ระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะยากกว่า มธ.ยกร่างฯ ชุด 36 คน เพราะตอนนั้น เป็นการเข้ามาทำงานใหม่ ยังไม่เห็นถึงปัญหา แต่คราวนี้มีเดิมพัน เพราะได้เห็นว่า มีการคว่ำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ดังนั้น คนที่จะเข้ามาต้องคิดว่า หากทำแล้วต้องทำให้ดี และต้องไม่ล้ม ถือเป็นความรู้สึกกดดันอยู่ จึงทำให้หาคนมาร่วมยาก แต่เชื่อว่า สามารถหาได้ อาจมีบางคนที่ได้ปฏิเสธจากคราวที่แล้ว อาจจะรับในคราวนี้ก็ได้ เพราะข้อขัดข้องที่เคยมีอาจหมดไปแล้ว

...

เมื่อถามว่า มีการปลอบใจนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีต ประธานกมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ได้ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผมอยู่คณะเดียวกับ นายบวรศักดิ์ ก็ไม่เห็นว่า ท่านจะเฮิร์ตอะไร ผมยังขอพระท่าน ท่านบอกว่า แจกหมดแล้ว คนที่มีความสามารถยิ้มได้เมื่อภัยมา คือ คนที่ควรยกย่อง เหมือนเพลงยิ้มได้เมื่อภัยมา ในทุกสถานการณ์ ถึงจะยิ้มแหยๆ ช่างเถอะ ก็ขอให้ยิ้ม"

เมื่อถามว่า การที่ สปช. หมดวาระไปแสดงว่า ผลงานที่ทำมาไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเรียกว่า ไม่ยอมรับ แต่อะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญเขียนกติกาไว้ และมีการลงมติหมายความว่า จะรับหรือไม่รับก็ได้ แต่เมื่อผลออกมาไม่รับ จะบอกว่าไม่เป็นที่ยอมรับก็ไม่ใช่ และผลงานจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นเรื่องของสังคม แต่เสียงโหวตเป็นเรื่องนิตินัย ซึ่ง กมธ.ชุดเดิมและตนไม่ถือว่าผลงานดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะกรรมการชุดใหม่อาจจะหยิบยกจากชุดเดิมมาใช้ประโยชน์ได้.