ผมเขียนคอลัมน์นี้ในวันเสาร์ ยังไม่รู้ผลการลงคะแนน ร่างรัฐธรรมนูญ ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เลยขอนำเรื่องแผนการจัดตั้ง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” เพื่อ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ ป้องกัน “นักการเมือง” เข้าไปโกงกินในอนาคต มาเล่าสู่กันฟัง
รัฐวิสาหกิจไทย มีอยู่ทั้งหมด 56 แห่ง มูลค่าสินทรัพย์ปี 2557 อยู่ที่ 12.3 ล้านล้านบาท เกือบเท่าจีดีพีประเทศไทย แต่เป็นเงินที่อยู่นอกงบประมาณ ไร้การตรวจสอบควบคุมที่เข้มงวด นักการเมืองเลยหม่ำกันอย่างเพลิดเพลิน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีกำไรและเงินลงทุนเป็นกอบเป็นกำ
เรื่อง “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” นี้ ทีมซุปเปอร์บอร์ด ประกอบด้วย คุณบรรยง พงษ์พานิช ซีอีโอธนาคารเกียรตินาคิน ดร.วิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. คุณกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ ว่าที่อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่งมาเล่าให้ ทีมเศรษฐกิจ และ คอลัมนิสต์ไทยรัฐ ฟังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง
ทำไมจึงต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ? เป็นคำถามง่ายๆ แต่ฟังคำตอบจาก คุณบรรยง แล้วก็น่าตื่นตะลึง รายได้ของรัฐวิสาหกิจปัจจุบันเท่ากับ 44% ของจีดีพี ประมาณ 570,000 กว่าล้านบาท เทียบกับจีดีพีปัจจุบัน 13 ล้านล้านบาท เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ก๊อ มากกว่างบลงทุนของรัฐบาลทั้งหมด และกำไรของรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ก็เป็นกิจการที่ผูกขาด
ถึงบางอ้อหรือยังครับ ทำไมการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี จึงมีการแบ่งกระทรวงเป็นเกรด A เกรด B เขาแบ่งตามผลประโยชน์ที่จะได้รับครับ ถ้าเป็นกระทรวงเกรดเอ ก็มีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่สังกัด มีกำไรเยอะ มีงบลงทุนเยอะ รับประทานได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ก็ต้องแย่งกันเป็นเจ้ากระทรวงเกรดเอ ส่วนใหญ่จะตกกับนักการเมืองขาใหญ่
...
ความจริง 4 ซุปเปอร์บอร์ด ได้ยกตัวอย่างรัฐวิสาหกิจมาให้ดูหลายแห่ง แต่ไม่ขอเปิดเผยก็แล้วกัน มันเป็นเรื่องปัจจุบัน ไปดูเรื่องในอนาคตดีกว่า เพราะ ร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐที่มี คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นผู้ยกร่าง เพื่อจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือ “ซุปเปอร์โฮลดิ้ง” กำลังจะเข้า ครม.ในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนพฤศจิกายน เพื่อจัดตั้งในต้นปี 2559
เนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้จะแบ่งรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่จะโอนเข้าไปอยู่ใน บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ มีอยู่ 12 บริษัทเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 6 แห่ง คือ ปตท.ปตท.สผ. การบินไทย ท่าอากาศยานไทย ธนาคารกรุงไทย อสมท และบริษัทที่อยู่นอกตลาดอีก 6 แห่ง เช่น ทีโอที กสท โทรคมนาคม ไปรษณีย์ไทย บริษัทขนส่ง เป็นต้น
รัฐวิสาหกิจที่เหลือ จะมีการตั้ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ขึ้นมาดูแลโดยตรง ต้องมีการเสนอแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เมื่อ คนร. อนุมัติแผนแล้ว ต้องประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ใครมาเป็นรัฐมนตรีก็รื้อเพื่อโกงกินไม่ได้
กลับมาดู บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กันต่อครับ เมื่อจัดตั้งขึ้นในต้นปีหน้า จะมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และ ห้ามนำหุ้นบรรษัทนี้ออกจำหน่ายไม่ว่ากรณีใดๆ ส่วนหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง จะโอนให้บรรษัททั้งหมด และกำไรของบรรษัทจะส่งเข้าเป็นเงินของแผ่นดิน
สิ่งสำคัญที่สังคมจับตาก็คือ ผู้บริหารบรรษัท ในวาระแรกกฎหมายกำหนด ให้ ครม.แต่งตั้งกรรมการสรรหาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการที่นายกฯแต่งตั้ง ปลัดคลัง, เลขาธิการ สคก. เลขาธิการ สศช. ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เลขาธิการ ก.ล.ต. และ ผอ.สคร.เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อสรรหาคณะกรรมการบรรษัท และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รวม 10 คน กรรมการมีวาระ 3 ปี อยู่ได้ 2 วาระ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ วาระ 4 ปี
ถามว่า ในอนาคตการเมืองจะเข้าไปแทรกแซงซุปเปอร์โฮลดิ้งได้ไหม ก็ต้องปล่อยไปตามชะตากรรมของบ้านเมือง นักการเมืองไทยลื่นเป็นปลาไหลอยู่แล้ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”