คนไทยสมัยก่อน มักจะทักทายกันว่า “ไปไหนมา” เหมือนคนจีน ที่จะทักกันว่า “ขื่อตีก้อไล้” เมื่อมีแขกมาเยือนถึงบ้าน คนไทยก็เชื้อเชิญเข้าบ้าน แล้วถามว่า “กินข้าวมาแล้วหรือยัง”

เช่นเดียวกับคนจีนที่ชอบพูดว่า “เจี๊ยะบ่วย”

(เรื่อง “คำสวัสดี” หนแรกที่เพชรบุรีนำมาใช้ หนังสือ บอกเล่าเก้าสิบ จัดพิมพ์ ในวาระ อายุครบ 7 รอบปี อาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ 24 มิ.ย. 2555)

อาจารย์บุญมีเขียนว่า คำทัก ไปไหนมา มีผู้รู้วิเคราะห์ว่า เป็นคำถามที่ไม่สมควร เพราะเป็นการไปอยากรู้เรื่องราวส่วนตัวของคนอื่น แต่โดยทั่วไปคำไปไหนมา ถือเป็นคำทักทาย โดยผู้ถูกทัก ไม่ต้องมีคำตอบก็ได้

ส่วนคำ “กินข้าวมาแล้วหรือยัง” มีผู้ให้ความเห็นว่า คงใช้ในสมัยสงคราม ขณะหลบหนีภัยเอาตัวรอด หรืออาจหมายไปถึงชาวจีน ที่มีสภาพความเป็นอยู่ขาดแคลน แม้ข้าวก็ยังต้องต้มกิน และตักแบ่งกินเป็นถ้วยเล็กๆ

แต่บางคนก็โต้แย้งว่า เป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความไม่มักมากในการบริโภค

ฝรั่งมีธรรมเนียมการทักทาย เป็นไปตามระยะเวลา ตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น และ ที่เป็นกลางวันและกลางคืน โดยนำหน้าด้วย คำว่า good คล้ายกับคนลาว ที่ใช้ “สบายดี” ทักกันได้ทุกเวลา

มีท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง คือ ท่านเจ้าคุณพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) อาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นท่านแรกที่แนะนำให้นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยใช้ในการทักทายกันในครั้งแรกที่พบกันว่า สวัสดี

มีบันทึกเป็นหลักฐานว่า คำแนะนำให้ทักสวัสดี นี้ เริ่มเมื่อปี 2478

อาจารย์บุญมีอธิบายว่า คำ สวัสดี เป็นพยางค์สั้น ที่มีคำว่า “ดี” ประกอบอยู่ คล้ายคำ good ของฝรั่ง และสบายดี ของลาว

...

คำว่า “ดี” ยังเป็นคำที่จะนำไปรวมกับวลีอื่นๆให้มีความหมายที่เป็นมงคลได้อีกมาก

ดังเช่นผู้หลักผู้ใหญ่ท่านให้ศีลให้พรลูกหลาน และผู้เยาว์ เมื่อจะลากลับว่า

ขอให้อายุมั่นขวัญยืน ให้อยู่ดีกินดีไม่มีโรคภัย ให้อยู่ดีมีศรีสุข หรือขอให้ดีวันดีคืน

โดยปกติ เมื่อมีคำว่า ดี อยู่ด้วยแล้ว เมื่อถูกแนะให้ใช้คำว่า สวัสดี จึงเป็นคำทักทายที่คนทั่วไป จะรับได้โดยเร็ว พร้อมนำไปใช้

คำ “สวัสดี” มีที่มาจากคำบาลี และสันสกฤต ตรงกับคำว่า โสตถิ เช่นอยู่ในคำที่พระสงฆ์ท่านให้พรญาติโยม ในบทที่ขึ้นต้นว่า ยถา สัพพี และจบลงด้วยคำว่า โสตถี ภวันตุ เต นั่นเอง

นอกจากคำว่า “สวัสดี” ท่านเจ้าคุณอุปกิตศิลปสาร ยังมีคำอื่นที่ควรนำมาใช้ ในการสนทนา หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ เมื่อมีสิ่งบกพร่อง เช่น ขออภัย ขอโทษ

และเมื่อใดได้รับความเมตตากรุณา ก็ควรใช้คำว่า ขอบคุณ หรือ ขอบใจ

คำที่พระยาอุปกิตศิลปสาร แนะนำเหล่านี้ ถึงวันนี้ใช้กันแพร่หลาย...ไปแล้ว

จนเกินกว่าจะนึกย้อนหลัง “เราเริ่มใช้กันตั้งแต่เมื่อไหร่”

อาจารย์บุญมีค้นเจอเอกสารของอาจารย์ลำไย แกวกก้อง ผู้บริหารโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี ที่วัดคงคาราม...

อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้มากด้วยภูมิรู้ ภูมิ-ธรรม เห็นว่าคำทักทาย “สวัสดี” เหมาะที่จะนำมาเผยแพร่และขยายผลในโรงเรียน ให้ปรากฏเป็นวัฒนธรรม และเป็นธรรมเนียมที่ดีของสังคม

อาจารย์ลำไย แกวกก้อง ออกเป็นคำสั่งของโรงเรียน เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2479 ให้ครูอาจารย์ และนักเรียน นำไปใช้

จากเอกสารเก่าที่เพิ่งค้นพบ มีลายเซ็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.7 เซ็นชื่อรับทราบ...

เอกสารที่รอดจากไฟไหม้ และจากขนย้ายถึง 4 ครั้ง ฉบับนี้ ทำให้รู้ว่า โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรีสมัยนั้น มีครูทั้งโรงเรียน 23 คน สอนถึงชั้นสูงสุด แค่ ม.7 ครูประจำชั้น ม. 7 ชื่อ กิมอิ้น แซ่ต่อ.

O บาราย O