ในที่สุดก็คลอดออกมาเรียบร้อยแล้วนะครับ สำหรับร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก ที่เสนอโดยรัฐบาลนี้ ด้วยคะแนน 145–5 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง ในการประชุมลงมติวาระที่ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากนี้ก็รอวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้เพื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
สาระใหญ่ใจความที่มีการแก้ไขปรับปรุงจากร่างเดิม จนเป็นที่พอใจของ สนช. และร่วมโหวตให้อย่างท่วมท้น ได้แก่การปรับฐานภาษีจากเดิมที่กำหนดมูลค่าไว้ 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท
โดยให้เสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 10 แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีร้อยละ 5
ถือเป็นการรอมชอมที่พอยอมรับกันได้ โดยเฉพาะในการขยายฐานภาษีขึ้นอีกเท่าหนึ่ง คือจาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐีใหม่ หรือคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวใหม่มีกองมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท สบายอกสบายใจขึ้นเยอะ
โดยหลักการแล้ว ภาษีมรดกไม่ใช่ภาษีที่จะเป็นช่องทางในการหารายได้แก่รัฐโดยตรงเหมือนภาษีอื่นๆ แต่เป็นภาษีที่มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาประเทศ รายได้ที่รัฐได้เพิ่มขึ้นจากภาษีประเภทนี้ถือเป็นผลพลอยได้ทางอ้อมเท่านั้น
อาจจะมีการตั้งประเด็นว่า ภาษีมรดกเป็นภาษีซ้ำซ้อนที่ดูไม่เป็นธรรมนัก เพราะเงินมรดกทั้งหมดเป็นเงินที่ผ่านการเสียภาษีมาแล้ว
แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง ผู้ที่ทำงานหนัก และเสียภาษีก็ได้จากไปแล้ว โดยทิ้งมรดกก้อนใหญ่เอาไว้ก้อนหนึ่งให้แก่ผู้ที่อาจจะไม่เคยทำงานหรือมีส่วนในการเสียภาษีมาแต่แรกเลยเป็นผู้รับเงินก้อนดังกล่าว
ดังนั้น ผู้ที่จะรับมรดกซึ่งเหมือนได้ลาภก้อนใหญ่มาก้อนหนึ่ง ก็ควรจะแบ่งค่าภาษีให้แก่รัฐบ้าง
...
ที่สำคัญ โดยหลักการนะครับ รัฐก็จะไม่เอาเงินไปไหน แต่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อความอยู่ดีมีสุขอย่างทั่วถึงของประชาชนในประเทศนั่นเอง
ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า ประเทศไทยเราทำไมมาเริ่มต้นเก็บภาษีมรดกเอาในตอนนี้ ในขณะที่หลายๆประเทศทั่วโลกเขากำลังจะพิจารณาเลิก
ก็ต้องเข้าใจว่า เหตุที่ประเทศส่วนมากจะเลิก หรือเลิกไปแล้ว ก็เพราะเขาได้พัฒนามาถึงจุดหนึ่งแล้ว ความแตกต่างในด้านรายได้ของผู้คนในชาติเหลือน้อยลงแล้ว
ความจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีมรดกจึงน้อยลงไปด้วย
แต่ของไทยเราเคยมีการเก็บภาษีมรดกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ แต่ก็มาประกาศเลิกใช้เมื่อ พ.ศ.2487
เมื่อเริ่มมีการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรก พ.ศ.2504-2509 คณะผู้ร่างแผนฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไทย ระดับบรมครูทั้งสิ้น จึงได้เริ่มรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง
เพราะเชื่อว่าผลการพัฒนาจะตกแก่ผู้ได้เปรียบในสังคมกลุ่มหนึ่งมากกว่าราษฎรส่วนใหญ่โดยทั่วไป เว้นแต่จะมีระบบการจัดเก็บภาษีทุกประเภทอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งควรจะมีภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก เพื่อช่วยลดช่องว่างในอนาคตขึ้นมาด้วยอีกประเภทหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาฉบับที่ 1 ก็เพียงแค่เสนอความคิดเอาไว้เท่านั้น และต่อมาก็มีการเสนออีกหลายๆแผน โดยไม่มีการปฏิบัติแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อตัวเลขของความเหลื่อมล้ำชัดเจนยิ่งขึ้น เสียงเรียกร้องว่าจะต้องมีภาษีมรดกจึงดังมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้
กล่าวกันว่า หากไม่มีคุณสมชาย หรือ คสช. เกิดขึ้น ภาษีมรดกก็คงจะถูกแช่แข็งต่อไปอีกนานแสนนาน หลังจากที่รอคอยมาตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 จนถึงบัดนี้ 51 ปีเต็มๆเข้าไปแล้ว
ผมขอต้อนรับภาษีมรดกด้วยความยินดี และขอขอบคุณผู้ที่จะต้องเสียภาษีมรดกเป็นการล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้
ทุกครั้งที่ท่านเสียภาษีมรดก ก็ขอให้นึกสภาพของพี่น้องของเราที่ยังอดอยากยากแค้นอีกนับสิบล้านคนไปด้วยก็แล้วกัน จะรู้สึกสบายใจขึ้น จากการที่มรดกของท่านจะหดหายไปส่วนหนึ่งเพื่อพี่น้องเหล่านั้น
นี่ผมก็ว่าไปตามหลักการนะครับ...ส่วนในข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐจะเอาเงินไปใช้อย่างไร? อีลุ่ยฉุยแฉกแค่ไหน? โกงกินขนาดไหน? ถึงมือผู้ยากไร้จริงหรือไม่? ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องช่วยกันจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไปนับตั้งแต่บัดนี้.
“ซูม”