เรื่องทางโลกเขียนมาจนเบื่อแล้ว วันเสาร์สบายๆวันนี้ เขียนเรื่องธรรมะบำรุงสุขภาพจิตกันบ้าง วันนี้ผมจะนำเรื่อง “ขันติ” และ “กิเลส” ใน พระพุทธศาสนา มาเล่าสู่กันฟัง เพราะโลกที่วุ่นวายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในวันนี้ ล้วนเกิดจาก “กิเลส” และการ “ขาดขันติ” ทั้งสิ้น ถ้าคนเรารู้จักเพิ่มขันติในตัวให้มากขึ้น ลดกิเลสให้น้อยลง ความสงบสุขในโลกนี้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน

ขันติ ในพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 อย่าง กิเลส แบ่งออกเป็น 3 อย่าง

“ขันติ” ในพระพุทธศาสนาก็คือ ความอดทนอดกลั้น จำแนกออกเป็น 2 อย่างคือ อธิวาสนขันติ และ ตีติกขาขันติ

1. อธิวาสนขันติ แปลว่า ความอดกลั้น ทำให้ยับยั้งอยู่ ความ อดกลั้นนี้ถือเป็นขันติสามัญ เช่น เมื่อได้รับความลำบากจากการตรากตรำ ความทุกข์ในยามป่วยไข้ หรือได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจจากการถูกกล่าวว่ากระทบกระทั่ง ร่างกายก็จะรู้สึกทุกข์ เพราะความลำบากตรากตรำ จิตใจก็รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะความเจ็บช้ำน้ำใจ

ผู้ที่ไม่มีความอดกลั้น เมื่อได้รับความลำบาก เช่น เวลาป่วยไข้ก็ร้องครวญคราง ได้รับความลำบากก็ทนไม่ได้ ได้รับความเจ็บใจก็ทนไม่ได้ ต้องผลุนผลันทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตอบแทนออกไป เช่น การวิวาทโต้เถียงหรือทำร้ายร่างกายกัน

แต่ผู้ที่มี “อธิวาสนขันติ” จะอดกลั้นเอาไว้ ยับยั้งเอาไว้ ได้รับความทุกข์ในยามป่วยไข้ก็ยับยั้งเอาไว้ ได้รับความลำบากก็ยับยั้งเอาไว้ ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจก็ยับยั้งเอาไว้ แต่ความทุกข์กายทุกข์ใจยังมีอยู่ เพียงแต่ยับยั้งเอาไว้ จึงจัดเป็น “ขันติสามัญ” แต่ก็ช่วยให้แผดเผากิเลสส่วนนั้นไว้ได้ กิเลสไม่ลุกฮือขึ้นมาทำให้เสียหาย

2. ตีติกขาขันติ เป็นขันติที่สูงขึ้น เป็นขันติที่ได้ปฏิบัติมาในขันติสามัญนั่น แต่ปฏิบัติจนมีจิตใจแข็งแกร่ง ทนทานต่ออารมณ์ยั่วต่างๆ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์เหล่านั้น

...

เมื่อเทียบระหว่าง “อธิวาสนขันติ” กับ “ตีติกขาขันติ” จะเป็นดังนี้ เมื่อมีอารมณ์มายั่วให้โกรธ ถ้ามีเพียงอธิวาสนขันติ ก็ยังโกรธอยู่ แต่ยับยั้งเอาไว้ได้ แต่ถ้ามีตีติกขาขันติแล้ว จะไม่โกรธ เพราะตีติกขาขันติทำให้จิตใจเข้มแข็งพอที่จะไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มายั่ว ตีติกขาขันติจึงไม่ต้องอดกลั้น เพราะทนทานแข็งแกร่งในตัวมันเอง

เรื่องอย่างนี้ต้องฝึกและปฏิบัติเป็นประจำครับ จึงจะเกิดตีติกขาขันติ

ทีนี้ไปดูเรื่อง “กิเลส 3” กันบ้าง ความจริงกิเลสไม่ใช่ธรรมชาติของจิต แต่เป็น “อาคันตุกะ” ที่เข้ามาเยือนจิตของเราเท่านั้น กิเลสเข้ามาในจิตของเราได้หลายทาง เช่น รูปารมณ์ ผ่านเข้ามาทางตา สัททารมณ์ ผ่านเข้ามาทางหู คันทารมณ์ ผ่านเข้ามาทางจมูก รสารมณ์ ผ่านเข้ามาทางลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ ผ่านเข้ามาทางกายที่สัมผัส เป็นต้น อารมณ์เหล่านี้ทำให้เกิดมีราคะโลภะ โมหะ โทสะ อันเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นในจิต

พระพุทธเจ้า ทรงแบ่งกิเลสเหล่านี้จากหยาบไปละเอียดเป็น 3 ชั้นดังนี้

1. ปริยุฏฐานะ คือ กิเลสที่เป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต ซึ่งเป็นอาคันตุกะที่ผ่านมาเข้าทางหู ตา จมูก และกายสัมผัส ก่อให้เกิดกิเลสราคะ โลภะ โมหะ โทสะ

2. วีติกกมกิเลส เมื่อกิเลสที่อยู่ในชั้นที่กลุ้มรุมจิตอยู่ถูกยั่วยุให้แรงขึ้น ก็จะกำเริบขึ้นจนถึงขึ้นเป็นตัวอกุศลมูล คือ เป็นตัวก่อกรรมทางกาย วาจา ใจ ถือเป็นกิเลสอย่างแรง ทำให้เกิดการล่วงละเมิด ไม่เก็บอยู่ในใจ เมื่อล่วงละเมิดไปแล้ว ก็ถือว่าก่อกรรมไปแล้ว เป็นตัวนิวรณ์ที่ทำให้ปิดกั้นในเรื่องคุณงามความดี แต่กิเลสเหล่านี้ก็มีเวลาสงบ ตามหลักธรรมดาว่าทุกสิ่งมีเกิดย่อมมีดับ แต่ตะกอนของกิเลสยังไปตกนอนจมอยู่ในส่วนลึกของจิต

3. ราคานุสัย คือ ตะกอนกิเลสที่นอนจมอยู่ในจิต ฉะนั้นเมื่อคนเราเกิดอารมณ์ราคะ โลภะ โมหะ โทสะ กันอยู่เสมอ ก็จะสงบกันอยู่เสมอ แต่ยังตกเป็นตะกอนอยู่ในจิต

พระพุทธเจ้า จึงสอนว่า “ธรรมทั้งหลายมีมานะ (ความเพียร) เป็นหัวหน้า มีมนะประเสริฐ สำเร็จด้วยมนะ ถ้าบุคคลมีมนะอันโทษประทุษร้ายแล้ว จะพูดหรือจะทำ ทุกข์ย่อมติดตามไป แต่ถ้าตรงกันข้าม บุคคลมีใจผ่องแผ้ว จะทำหรือจะพูด สุขย่อมติดตามไป เหมือนเงาที่ไม่ละตัว” ลองปฏิบัติดูนะครับ เพิ่มขันติ ลดกิเลส แล้วท่านจะมีจิตใจที่เข้มแข็งผ่องแผ้ว มีความสุขเดินเป็นเงาตามตัวไปทุกหนทุกแห่ง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”