บวรศักดิ์แย้ง เนื้อหาไม่มาก วัฒนาฉะรธน. สืบต่ออำนาจ

“บวรศักดิ์” แย้ง “วิษณุ” หั่นทิงรัฐธรรมนูญ 20-30 มาตรา ยกเหตุมีเนื้อหามาก เพราะเพิ่มหมวดปฏิรูปและปรองดอง มั่นใจชี้แจงที่มาได้ทุกมาตรา ค้านนำเนื้อหาใส่กฎหมายลูก หวั่นถูกดองซ้ำรอยรัฐธรรมนูญปี 40 และ50 แย้มเลื่อนเลือกตั้งต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทยขึงพืดถล่มร่างกติกาฉบับ ใหม่ “วัฒนา เมืองสุข” ของขึ้นซัดเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ ชี้สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศครองอำนาจล้นฟ้าไม่ต่างจากมาตรา 44 “จาตุรนต์” จี้ทบทวนร่างใหม่พร้อมให้ทำประชามติชี้ขาด ด้านการอภิปรายร่าง รธน. วันที่หก สปช.แย้มไต๋ขอนั่งเก้าอี้ต่อ ยึดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สืบทอดอำนาจต่อเนื่อง อ้างต้องใช้ความกล้าหาญ มิเช่นนั้นการปฏิรูปจะเสียเปล่า

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านเข้าสู่วันที่หก ในภาคการปฏิรูปและการปรองดอง ยังคงมีสมาชิก สปช.อภิปรายเนื้อหากันอย่างหลากหลาย ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 315 มาตรา ไม่ได้มีมากมายจนเกินไป

เปิดเวทีถกร่าง รธน.วันที่หก

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 25 เม.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่หก มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเป็นการพิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญในภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ในช่วงแรกเป็นการให้ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านต่างๆของ สปช. อภิปรายความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ นายจุมพล รอดคำดี ประธาน กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน อภิปรายว่า การปฏิรูปสื่อ ควรมีกลไกขับเคลื่อนการทำงานของสื่อให้มีอิสระ เสรีภาพ และสนับสนุนให้จัดตั้งองค์กรกลาง มาตรวจสอบหน้าที่การทำงานของสื่อ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องสื่อตรวจสอบกันเอง

...

ต้าน สปช.นั่งครองอำนาจต่อ

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรม อภิปรายว่า การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ต้องเกิดประสิทธิภาพ หลังจากที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ จึงจำเป็นต้องมีกลไกมาขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อ เพราะการปฏิรูปไม่ควรทำแค่ 5 ปี ต้องทำต่อจากนั้นด้วย จึงสนับสนุนให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มาทำงานการปฏิรูปต่อจาก สปช. แต่ที่มาควรมาจากการคัดสรรใหม่ทั้งหมด ถ้าจะให้ สปช.ไปทำหน้าที่ต่อกันเอง จะมีข้อครหาจากสังคม จึงไม่ควรมีใครอยู่ทำหน้าที่ต่อ

เน้นสื่อมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ

ขณะที่นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 ชี้แจงเรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชนว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพ เพื่อให้การทำงานแสวงหาข่าวสารและแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างรอบด้าน ให้ประชาชนนำไปประกอบการวินิจฉัย ถ้าประชาชนมีข้อมูลข่าวสารถูกต้องและรอบด้าน จะวินิจฉัยเรื่องต่างๆได้ถูกต้อง ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงกำหนดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและให้สื่อมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯกังวลเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวที่เนื้อข่าวอย่างหนึ่ง พาดหัวอย่างหนึ่ง การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อทำได้ แต่ต้องมีจริยธรรมบนพื้นฐานความเป็นจริง แต่แม้จะมีกลไกควบคุมสื่อฯ ประชาชนก็ต้องช่วยดูแลด้วย

สปช.ตราดหนุนยึดเก้าอี้ต่อ

ต่อมาเวลา 12 .40 น. เข้าสู่การอภิปรายในหมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยนายกิตติ โกสินสกุล สปช.ตราด อภิปรายว่า เสนอให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ เขียนบทบัญญัติให้ สปช.ทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่ต้องสนใจข้อครหาว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ หรือต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะการสืบทอดการทำงานด้านปฏิรูปจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญ ประชาชนจะได้ไม่ต่อว่าเป็นการปฏิรูปที่เสียเปล่า

นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี สปช.ยะลา อภิปรายว่า ในส่วนการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ขอเสนอให้มีการเพิ่มเติมสัดส่วนผู้หญิงจากสมาชิก สปช. สนช. และผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 15 คน เข้าไปทำงานตำแหน่งดังกล่าว เพื่อทำงานควบคู่ไปกับผู้ชาย

มึน รธน.อ่านแล้วเข้าใจยาก

จากนั้น พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก สปช. อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา วิธีการเขียน และวิธีการร้อยเรียงเรื่อง พบว่ามีการใช้คำและภาษาซ้ำไปซ้ำมา วกวนสับสน เข้าใจยาก อาจจะเกิดปัญหาตีความในอนาคตได้ แต่ในภาพรวมสมาชิก สปช.ยังรู้สึกพอใจ และให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในเกณฑ์สูง จึงไม่น่าเป็นเรื่องกังวล ขณะนี้ยังมีเวลาอีกมากในการปรับปรุงแก้ไข จึงอยากให้ทบทวนร่างให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย มั่นใจว่าภารกิจร่วมกันครั้งนี้ของ กมธ.ยกร่างฯและ สปช.จะสำเร็จลุล่วงได้อย่างแน่นอน

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สปช. อภิปรายว่า ขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายอยากให้มีเลื่อนการเลือกตั้ง ทำให้มีความกังวลเกิดขึ้น จึงอยากให้หนักแน่น เนื่องจาก สปช.กำลังทำภารกิจเพื่อประเทศ ส่วนตัวสนับสนุนการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ แต่ต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆให้การปฏิรูปสำเร็จ อย่างไรก็ตาม หากมีความจริงใจในการสร้างบรรยากาศความปรองดอง ขอให้ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชน เพราะพื้นที่ที่ปลอดภัยของการแสดงความเห็นเป็นจุดเริ่มต้นความปรองดอง

กมธ.ยอมถอยปฏิรูปตำรวจ

ต่อมานายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงเกี่ยวกับมาตรา 282 (8) เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่มีการบัญญัติให้ปรับปรุงระบบงานสอบสวนต้องมีความเป็นอิสระ แยกออกจาก สตช.ว่า กมธ.ยกร่างฯจะปรับถ้อยคำในมาตราดังกล่าวใหม่เป็น “การปรับระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ” โดยตัดข้อความ “แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ออกไป เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯพิจารณาดูแล้วว่า การตัดข้อความว่า แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกไป เพื่อให้ระบบงานสอบสวนมีความเป็นอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่า ระบบงานสอบสวนในอนาคตจะไม่ต้องแยกออกจาก สตช. เพียงแค่ให้ยึดหลักการเดิมคือ ให้ระบบงานสอบสวนมีความเป็นอิสระเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจะแยกระบบงานสอบสวนออกจาก สตช.หรือไม่ ก็สุดแล้วแต่

“บวรศักดิ์” ค้านหั่น รธน.ทิ้ง 30 มาตรา

ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตร่างรัฐ– ธรรมนูญมีเนื้อหามากเกินไป สามารถตัดออกได้ 20-30 มาตราว่า เข้าใจว่านายวิษณุพูดเป็นภาพรวม คงต้องรอดูคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจาก ครม. และ คสช.ว่า จะเสนอประเด็นและมาตราใดบ้าง เราจะรับฟัง ในฐานะผู้ยกร่างฯสามารถอธิบายได้ทุกมาตรา หากใครติดใจ แต่จะให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันหมดคงทำไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่ามาตราใดควรนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก เราก็ปรับแก้ไข ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีมากกว่าปี 40 หรือ 50 แต่ที่มีตัวเลขมาตรามาก เพราะมีเรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองเพิ่มเข้ามา ไม่อยากให้ดูว่า มีเนื้อหาสั้นหรือยาว แต่ให้ดูความเหมาะสมและความจำเป็นมากกว่า หากให้นำเนื้อหาไปใส่ในกฎหมายลูก จะมีปัญหาว่าจะออกทันเวลาหรือไม่ เพราะกฎหมายลูกปี 2550 หลายฉบับ ถูกดองไว้จนรัฐธรรมนูญถูกฉีก อีกทั้งกฎหมายลูกแก้ง่าย ดังนั้นไม่ต้องห่วง หากนายวิษณุอยากจะให้แก้สัก 50 มาตรา ก็พร้อมรับฟัง ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. กมธ.ยกร่างฯจะเชิญ ครม. คสช.และหน่วยงานที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาชี้แจง และอธิบายหลักการที่ขอเสนอปรับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งจะเชิญฝ่ายการเมืองมาชี้แจงในภายหลัง

ขอเลื่อนเลือกตั้งต้องแก้ รธน.

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน นายบวรศักดิ์ตอบว่า อย่ามาถามตนว่า เหมาะสมหรือไม่ ให้ไปถามพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองว่า ทำไมเสนอเช่นนี้ ตนมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ขณะนี้แม่น้ำ 5 สายทำงานอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้ขยายการเลือกตั้งก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ถ้ายังไม่มีการแก้ไข ก็ต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จตามโรดแม็ปภายในวันที่ 23 ก.ค. และ สปช.ต้องลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 ส.ค. เมื่อถามว่า นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญว่า “รัฐธรรมนูญฉบับฝันเฟื่อง” นายบวรศักดิ์ตอบว่า เข้าใจนายศรีราชา เพราะคงต้องออกมาปกป้องประโยชน์และต่อสู้เพื่อองค์กรของตัวเอง เนื่องจากองค์กรดังกล่าวถูกควบรวมไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ท่านปกป้องประโยชน์ของท่าน แม้กระทั่งกล่าวหาว่าตนเผด็จการ ยอมรับว่าเข้าใจและเห็นใจ แต่เราต้องปฏิรูปโดยยึดประชาชนเป็นหลัก

พท.ซัด รธน.เผด็จการเต็มรูปแบบ

นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ว่า ขอเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ ความเลวร้ายที่สุดของร่างนี้มีการออกแบบให้สืบทอดอำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ ผ่านองค์กรสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อใช้อำนาจเผด็จการต่อไปบนกระบวนการที่อ้างว่า เป็นประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาเป็นเครื่องมือ เห็นได้จากที่มาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมี 120 คน มาจาก สปช. 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปต่างๆ 30 คน ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ จะมีกรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คน ที่แต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แสดงให้เห็นว่า ล้วนมาจากฝ่ายเผด็จการทั้งสิ้น แต่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องในการคัดเลือกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ

ตั้ง 2 องค์กรครองอำนาจล้นฟ้า

นายวัฒนากล่าวว่า องค์กรดังกล่าวมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย สามารถเสนอแนะนโยบาย ข้อเสนอการปฏิรูป สร้างความเป็นธรรมด้านต่างๆต่อรัฐสภา ครม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศาลได้ด้วย ถือเป็นกรอบอำนาจที่กว้างขวางมาก เนื่องจากทุกเรื่องที่รัฐบาลดำเนินนโยบาย ล้วนมีจุดมุ่งหมายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐสภา ครม.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศาล ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายเผด็จการต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พูดให้เห็นภาพคือ มีการนำเอามาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาใส่ไว้ในองค์กรที่ตั้งขึ้นนี้ เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป จนกว่าการปฏิรูปประเทศจะบรรลุผล แต่ไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่จะมีการประชามติเห็นชอบให้มีต่อไปอีกไม่เกิน 5 ปี เท่ากับมีอำนาจครอบงำประเทศนี้ต่อไปอีกอย่างน้อยสองรัฐบาลหรือ 8 ปี

ผูกขาดอยู่เหนือ ครม.–ศาล

นายวัฒนากล่าวว่า อำนาจของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ เป็นอำนาจเผด็จการเด็ดขาด ครม.ที่เป็นตัวแทนอำนาจประชาชนไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ เช่น เมื่อ ครม.ได้รับข้อเสนอแล้ว ต้องดำเนินการตามข้อเสนอและจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้เพียงพอ ถ้า ครม.ขัดข้องต้องแจ้งเหตุผลต่อรัฐสภา และสภาขับเคลื่อนฯ และถ้าสภาขับเคลื่อนฯ ยืนยันว่า ต้องทำด้วยเสียง 3 ใน 4 ครม.ต้องจัดให้ออกเสียงประชามติ ผลออกมาเป็นอย่างไรให้ทุกฝ่ายปฏิบัติไปตามนั้น รวมทั้งสภาขับเคลื่อนฯ มีสิทธิเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อรัฐสภา ผ่านวุฒิสภา หากวุฒิสภาเห็นชอบให้เสนอร่าง พ.ร.บ.นั้น ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวให้ส่งคืนไปยังวุฒิสภา หากวุฒิสภายืนยันด้วยเสียง 2 ใน 3 ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา กระบวนการทั้งหมดคือการปล้นอำนาจประชาชน ไปให้เผด็จการที่สืบทอดอำนาจผ่านองค์กรดังกล่าว ทำให้สภาผู้แทนราษฎร ครม.อาจลามไปถึงตุลาการ ไม่มีอำนาจโดยสิ้นเชิง เป็นการมัดมือชกอำนาจอธิปไตย ที่สำคัญ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้สร้างกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ขอถามประชาชนว่า จะยอมให้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนรัฐธรรมนูญปล้นอำนาจไปมอบให้องค์กรและคณะบุคคลที่ประชาชนไม่มีส่วนแต่งตั้งหรือ

“จาตุรนต์” ชี้ทุกฝ่ายหนุนทำประชามติ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีฝ่ายการเมืองพร้อมให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ในระหว่างการแสดงความเห็นในเวทีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ว่าไม่ตรงกับที่พูดกัน แต่ที่เห็นตรงกันคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าบังคับใช้นำสู่ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด อาจจบลงด้วยการรัฐประหารอีก จึงมีความเห็นตรงกันว่าควรแก้ไขเนื้อหาสำคัญเสียก่อน และถ้าจะให้ดีควรทำลงประชามติด้วย ถ้ามีการลงประชามติจริง หลายคนในเวทีวันนั้นคาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน ประชาชนไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องร่างใหม่ แต่ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างปัญหาต่อไป ดังนั้นอันดับแรกคือ แก้ไขสาระสำคัญให้เป็นประชาธิปไตยก่อน แล้วถึงทำประชามติ

มั่นใจ สปช.ไฟเขียวผ่าน รธน.