ทั้งๆที่พายุสงกรานต์ผ่านไปแล้ว และกรมอุตุนิยมวิทยาท่านก็ยังไม่มีประกาศออกมาว่า พายุลูกใหม่จะมาเมื่อไรอีก
แต่ที่กระทรวงศึกษาธิการกลับมี “พายุหลง” ถล่มเข้าใส่อย่างจัง เกิดภาวะฝนตกลมแรง แถมมีฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้าง จนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงหลายท่านกระเด็นตกเก้าอี้เปียกปอนไปตามๆกัน
เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายออกมาอย่างไม่มีใครคาดคิดไว้ก่อน และที่สำคัญเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัยมาตรา 44 เอาเสียด้วย จึงทำให้พายุหลงลูกนี้ค่อนข้างรุนแรงไม่น้อย
เพราะธรรมดาของการโยกย้ายแค่ระดับ 11 กับระดับ 10 เช่นนี้ อาศัยเพียงอำนาจคณะรัฐมนตรีก็สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
แต่บิ๊กตู่ท่านใช้ ม.44 ที่ร่ำลือกันว่าเป็นมาตราที่น่ากลัวมาก เพราะให้อำนาจหัวหน้า คสช.แบบล้นฟ้า พอๆกับ ม.17 ในยุคเผด็จการเต็มรูปยุคก่อนมาจัดการแทน
ทำให้คอการเมืองข้างเวทีอย่างพวกเราทั้งหลายต้องหยิบยกมาอภิปรายเป็นเชิงถามไถ่กันว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลัง เบื้องหน้าหรือไม่?
ผู้ถูกย้ายบางท่านทำอะไรทุจริตเข้าบ้างหรือเปล่า?
หรือว่าท่านตั้งใจใช้ ม.44 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังที่จะปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุดของประเทศ
หากทำไปตามขั้นตอนปกติอาจจะล่าช้าไม่ทันกาล และดูไม่จริงจัง ไม่ขึงขัง จึงได้ออกคำสั่งชุดใหญ่ โดยอาศัยอำนาจของมาตรา 44 อย่างที่ว่า
ถ้าเรากลับไปอ่านอารัมภบทของคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ฉบับนี้อีกครั้ง จะเห็นได้ว่าเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะปฏิรูปการศึกษา โดยเขียนไว้เป็นประโยคแรกเลย ก่อนที่จะมีประโยคตามมาว่า...เพื่อให้เป็นไปตามนั้น จึงมีคำสั่งออกมาเป็นข้อๆดังกล่าว
แสดงให้เห็นว่า หัวหน้า คสช.กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนเดียวกัน มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง จึงเลือกใช้มาตรการที่มิใช่ขั้นตอนปกติของระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรวดเดียวให้มีการโยกย้ายและยุบเลิกคณะกรรมการสำคัญ ทั้ง 3 ชุดของกระทรวงศึกษาธิการ
...
ก็เอาเถอะไม่ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังที่แท้จริงของการใช้มาตราครอบจักรวาลมาตรานี้คืออะไรก็ตาม...แต่ประเด็นที่เราต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ กระทรวงศึกษาธิการสมควรถูกฟ้าผ่ามานานแล้ว
เพราะเป็นกระทรวงที่สำคัญที่สุดในการสร้างทรัพยากรมนุษย์และกำลังคนอันแข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไกลออกไปในอนาคต
ทว่า ผลงานที่ผ่านมากลายเป็นสอบตกโดยสิ้นเชิง เพราะคุณภาพของพลเมืองไทยดูเหมือนจะถดถอยลงเรื่อยๆ จากการประเมินผลในด้านต่างๆ
โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการใช้ ม.44 โยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และยุบบอร์ดที่สำคัญอีก 3 บอร์ด ของกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้
ดูจากตัวบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ นพ.กำจร ตติยกวี นั้น ก็ถือว่าพอจะฝากความหวังไว้ได้
ท่านจบหมอแต่มาทำหน้าที่ด้านบริหารการศึกษา เคยเป็นทั้งรองอธิการบดีจุฬาฯ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และล่าสุดขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปี 2557 หลัง คสช.ควบคุมอำนาจการบริหารประเทศไม่นานนัก
อย่างน้อยเปรียบเฉพาะตัว “ปลัดกระทรวง” ละก็ คนใหม่น่าจะเหมาะสมกว่าคนเก่า หากจะมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างที่ต้องการ
แต่ก็นั่นแหละครับ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงเก่าแก่มากกระทรวงหนึ่ง มีบุคลากรที่มีลักษณะเฉพาะตัว และมีวัฒนธรรมความเชื่อตลอดจนแนวทางในการทำงานที่ผมเองก็บอกไม่ถูก
บอกได้แต่เพียงว่าในช่วงที่ผมเคยรับราชการ และมีหน้าที่ในการประสานกับกระทรวงต่างๆ 6-7 กระทรวง เพื่อการพัฒนาชนบท และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคในยุคโน้น
กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ผมทำงานด้วยยากที่สุด และต้องใช้ความอุตสาหวิริยะมากกว่ากระทรวงอื่นๆ
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะ “ปลัดกระทรวง” หรือ ผู้บริหารระดับสูงเพียง 4-5 ท่าน อาจไม่ใช่หลักประกันได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาจะเดินทางไปสู่ความสำเร็จ
ยังมีงานอันเหน็ดเหนื่อยที่จะต้องทำอีกมากสำหรับการผ่าตัดกระทรวงนี้
แต่ก็ดีแล้วครับ...ที่มีการเริ่มต้นขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการส่งสัญญาณไปสู่เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการในทุกระดับว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป คสช.และรัฐบาลนี้จะเอาจริงในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย.
“ซูม”