เสาบอกระยะทางในไทย มีทำกันแต่โบราณนานมา แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานในหนังสือ คือเสาหลักจากกรุงศรีอยุธยา ไปถึงเมืองลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว

(เรื่องที่ 315 แรกมีเสากิโล หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 7 เอนก นาวิกมูล บริษัท 959 พับลิชชิ่ง)

บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ค.ศ.1685-1686 ว่า วันที่ 15 พ.ย. พ.ศ.2228 เดินทางจากอยุธยาไปลพบุรี เดินทางผ่านสุเหร่า แล้วก็ใช้ทางลัดผ่านเข้าทุ่งนา

เราได้พบหลักใหญ่ ป้ายสองขีด แสดงว่าเป็นระยะทางสองลิเออ (ลิเออ หรือลี้ สันต์ ท.โกมลบุตร อธิบายว่า ลี้กิโลเมตริก เท่ากับ 4 กิโลเมตร ลี้บกใช้วัดที่ดินเท่ากับ 4,444 กิโลเมตร ลี้ทะเลเท่ากับ 5,556 กิโลเมตร)

พจนานุกรมฝรั่งเศส-ไทย อธิบายว่า 1 ลิเออ เท่ากับ 3 ไมล์ (1 ไมล์เท่ากับ 1.6 กิโลเมตร)

ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส เข้าเมืองไทย ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. พ.ศ.2230 ถึง 3 ม.ค. พ.ศ.2231 บันทึกไว้ว่า การซื้อขายผ้าในสยาม วัดกันด้วยแขน หาได้ใช้ไม้หลา เมื่อพูดถึงการวัดระยะทาง ชาวสยามยังมีไม้วา เท่ากับ 1 ตัวซ์ หรือ 1.949 เมตร ใช้วัดในการก่อสร้าง หรือรังวัดที่ดิน วัดถนนหนทาง หรือแม่น้ำลำคลอง

เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนิน เช่นจากพระนครศรีอยุธยา ไปเมืองละโว้ ทุกๆลี้มีไม้หลักปักหมายไว้เป็นสำคัญ มีป้ายตอกเขียนบอกจำนวนลี้ไว้

ประเทศของพระมหาราชาแห่งมะหง่ล เขาใช้วัดโกซ หรือกึ่งลี้ ด้วยหลักทูแรต เป็นกองหินน้อยๆ รูปพีระมิด เหมือนกับชาวโรมันกำหนดระยะด้วยหลักหินเมื่อพันปีที่แล้ว

ย้อนไปเรื่องที่ 314 หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 7 เอนก นาวิกมูล บอกว่า ในสมัย ร.4 มีการปักเสาหินไว้ 4 ทิศ

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 47 วันพฤหัสฯ เดือน 7 แรมค่ำ 1 ปีมะโรง อัฐศก พ.ศ.2399 มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตามที่ไทยได้ทำไมตรียอมให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน เข้ามาอาศัยในพระราชอาณาจักรสยาม

...

ชาวต่างชาติเหล่านี้แปลกเพศภาษา ต่างจริตกิริยา ต่างธรรมเนียม

“ครั้นจะยอมให้ไปอยู่ไกล ห่างพระนครไปนัก กลัวคนที่ไกลๆไม่เคยพบเห็นฝรั่ง จะสำคัญคิดว่าเป็นคนแปลกมา จะพากันข่มเหงต่างๆ เมื่อเดินทางไกล หรืออยู่ในที่เปลี่ยว....

ทรงอยากให้ผู้ที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ๆ รวมทั้งคนในบังคับ เช่าที่หรือซื้อที่ใกล้พระเนตรพอสมควร

หลักเกณฑ์ที่ทรงกำหนดและทำข้อตกลงกับทูตทั้ง 3 ประเทศ...สรุปได้ว่า

1.เข้ามาอาศัยได้แต่ในเขตพระนคร ที่สามารถเดินทางไปถึงด้วยเรือภายใน 24 ชั่วโมง หรือภายใน 200 เส้น นับจากกำแพงพระนครออกไป

2.เช่าที่ในเขตดังกล่าวได้ แต่ซื้อไม่ได้ ยกเว้นอยู่ถึง 10 ปีแล้ว

3.เมื่อจะซื้อหรือเช่า ให้บอกกงสุลจะได้บอกเจ้าพนักงานฝ่ายไทยไปดูแลปักที่ ทำหนังสือปิดตราให้ไว้เป็นสำคัญ แล้วจะฝากฝังเจ้าเมือง กรมการให้ช่วยดูแลด้วย

ในการทำสัญญา ฝ่ายอังกฤษปรึกษากับเสนาบดีไทย...ถ้าประกาศออกไปโดยไม่ได้วัด และทดลองระยะไว้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะไปถึงไหน จะเป็นเหตุให้สงสัยและถกเถียงกัน

ฝ่ายไทยจึงให้เจ้าพนักงานกรมเมืองไปกับขุนนางอังกฤษ วัดทางสองร้อยเส้น รอบพระนคร ปักเสาศิลาไว้ 4 ทิศ เป็นที่หมาย ของวงเวียนรอบพระนคร การปักเสาหินทั้ง 4 ทิศนี้ มีขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2399

น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุว่า ปักเสาหินที่ตำบลไหน ถึงเวลานี้จะไปหาดูที่ไหนก็ยากนัก

แต่เสาหินที่ยังหาดูได้ คือเสาหินคลองดำเนินสะดวก รายละเอียดได้จากการสำรวจของพระครูสิริวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม หมู่ที่ 4 ต.ศรีสุราษฎร์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

ท่านพระครูเขียนไว้ในหนังสือ เมื่อปี พ.ศ. 2536...ว่า

ร.4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุดคลองดำเนินสะดวก เมื่อ พ.ศ.2409 เพื่อจะได้เดินทางจากกรุงเทพฯไปราชบุรีได้สะดวก

(ตั้งชื่อคลองให้คล้องกับคลองภาษีเจริญ ซึ่งเป็นต้นทางออกจากกรุงเทพฯ)

ความยาวของคลอง 840 เส้น หรือ 32 กิโลเมตรเศษ เป็นคลองตรง ผ่าน 3 อำเภอ คือ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

หลักหินที่ปักบอกระยะทางห่างกันหลักละ 100 เส้น (ราว 4 กิโลเมตร) เป็นหินแกรนิตสี่เหลี่ยม บนสุดแกะเป็นรูปพระเจดีย์อย่างพระปฐมเจดีย์ ถัดไปแกะเป็นเลขไทย โรมัน จีน เรียงลงไปตามลำดับ


หลักทั้ง 9 ยังอยู่ครบ แต่บางอันอาจชำรุดไปบ้าง บางแห่งเจ้าของบ้านที่มีเสาปักอยู่ในบริเวณบ้าน ก็ช่วยดูแลรักษาไว้

หลัก 0 ใส่เลขศูนย์ตัวเดียว ปักตรงจุดที่เริ่มต้นขุดคลอง ณ ปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว ไม่มีเจดีย์ แต่ไม่มีใครเรียก “หลักศูนย์” นิยมเรียกกันว่าประตูน้ำบางยาง

เอนก นาวิกมูล กับคณะ เคยเช่าเรือจากบางคนทีไปดูเสาคลองดำเนินสะดวกแต่มีเวลาดูแค่หลัก 2 หลักเดียว เขาทิ้งท้ายว่า “เสาหินเหล่านี้ถือเป็นของมีค่ามาก นึกไม่ถึงว่าจะมีหลงเหลือให้ชม”.

บาราย