บวรศักดิ์ ขอสื่อฯ อย่าถามประเด็น รธน.แต่กับนายกฯ ให้ไปถามความเห็น ปชช.บ้าง ยัน ร่าง รธน.ภาค 4 ไม่ให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ กก.ปรองดอง ยอมถอย ตัด “หน้าที่” เป็น"ความรับผิดชอบ"ไม่รวมศาล

วันที่ 7 เม.ย.58 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ออกมาเกือบสมบูรณ์ แต่มีบางประเด็นที่ถูกคัดค้าน ว่า ไม่อยากให้นักข่าวถามแต่นายกฯ แต่ให้ไปถามประชาชนบ้าง แล้วจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าถามนักการเมืองซึ่งบางคนที่ได้ประโยชน์ก็ไม่พูด แต่นักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยก็เข้าใจ เช่น การจัดระบบบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ ก็เห็นใจบางพรรคที่รู้สึกว่ามีความเสี่ยง เพราะเดิมอยู่ในบัญชีไม่ต้องหาประชาชนก็ได้รับเลือก แต่ต่อไปนี้ต้องไปเดินทุกคน หรือกรณีนายกฯ คนนอก ที่แก้ไขให้ใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อในยามวิกฤติไม่ต้องรบกวนเบื้องพระยุคลบาท หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญ จึงขอให้เข้าใจว่า เป็นข้อยกเว้นอย่างมาก แต่กลับเอาไปพูดจนกลายเป็นหลัก

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีนักการเมืองออกมาทักท้วงในหลายประเด็นก็ไม่กังวล สามารถอธิบายประชาชนได้ และตนไม่เคยกลัวประชามติ เมื่อถามว่า กรณีภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่า “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” ทำให้คณะกรรมการปรองดองมีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ ตนมองว่าไม่มีเรื่องรัฏฐาธิปตย์เพราะอำนาจตามภาค 4 มีเฉพาะการปฏิรูป แต่เมื่อแย้งว่าในบททั่วไปกำหนดว่า ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ หน่วยงานรัฐ และพลเมืองต้องปฏิบัติตามแนวทางการปฏิรูปและปรองดองตามบทบัญญัติในภาคนี้ ตนก็ยังคงยืนยันว่า มีเฉพาะเรื่องปฏิรูป และไม่มีการให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ใดที่อยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการตามภาคนี้จะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนด โดยได้ร่วมประชุม กมธ.ยกร่างฯ และไม่อนุญาตให้สื่อเข้าสังเกตการณ์

...

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมนายบวรศักดิ์ ได้ยกประเด็นดังกล่าวมาหารือ จนในที่สุด ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ มีมติเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในจากที่กำหนดว่า “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่" มาเป็น "ก่อให้เกิดความรับผิดชอบ" แทน และให้ตัดคำว่า “ศาล” ออกเป็น “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานและพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” เพิ่มบทเฉพาะกาล ม.307 ดันแผนปฏิรูปเป็น พ.ร.บ.

นอกจากนี้ ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ยังได้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของ สปช.ในบทเฉพาะกาล ม.307 โดยเพิ่มวรรคท้าย หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว โดย สปช.ต้องทำหน้าที่ต่ออีกระยะเวลาหนึ่งในกรณีที่ สปช.จะเสนอแผนงานการปฏิรูปด้านต่างๆ นั้น จะต้องยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ให้เสนอต่อที่ประชุม สปช. และหากจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ต้องมีสมาชิก สปช.ร่วมเป็น กมธ.วิสามัญร่วมด้วยไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวน กมธ.วิสามัญที่ต้องมี.