"จาตุรนต์" เตือนรัฐบาล ระวังถูกโลกมองเผด็จการเบ็ดเสร็จ ถ้าใช้มาตรา 44 ไร้การถ่วงดุล หลังรวบ 3 อำนาจหลัก นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ในมือหัวหน้า คสช. ย้ำถ้ายังจำกัดสิทธิประชาชน สื่อมวลชน หวั่นเสียเปล่า ยังขอรอดูเนติบริกร คสช.-รัฐบาล ร่างอำนาจก่อน...
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 58 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เตรียมยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก มาใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน ว่า การที่นายกฯ มีความคิดยกเลิกกฎอัยการศึก มีข้อดีคือเป็นการแสดงความเข้าใจ หรือยอมรับผลเสียต่อการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ มีผลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน
ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการสอบสวน และมีผลต่อภาพลักษณ์ของการยอมรับในต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อเสียหลายด้าน แต่ไม่แน่ใจว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้มาตรา 44 แทน เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด หรือจะแก้ปัญหาเฉพาะภาพพจน์ ถ้าคิดจะแก้แค่ปัญหาภาพพจน์ในการไม่ยอมรับกฎอัยการศึก แต่ยังคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน อย่างเดียวกับที่ใช้กฎอัยการศึก ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปัญหาเดิมๆ ยังอยู่
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาพพจน์ได้แล้ว จะเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้นด้วย ทำให้ถูกสังคมโลกมองว่า ประเทศไทยกำลังใช้ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ คสช. และคณะ คสช. ที่มีอำนาจยับยั้ง หรือสั่งการให้กระทำใดๆ ทั้งในทางฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเท่ากับมีอำนาจเหนืออธิปไตย 3 ฝ่าย อย่างเด็ดขาด ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ ที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด แต่มาตรา 44 กลับกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นระบบที่นานาประเทศจะยิ่งไม่ยอมรับ
...
"ขณะนี้ผมนึกไม่ออกว่า จะใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งอย่างไร เพราะถ้าใช้แล้ว ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ เหมือนกฎอัยการศึกก็ป่วยการ แต่ถ้าเบากว่ากฎอัยการศึกก็ไม่เห็นความจำเป็น เพราะว่ามี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมากฎหมาย 2 ฉบับนี้ใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย หรือผู้ตีความเลือกปฏิบัติ และทำให้กฎหมาย 2 ฉบับนี้เสียไป ทั้งที่ตัวกฎหมายอาจไม่มีปัญหามาก เท่ากับบังคับใช้กฎหมาย" นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การเขียนคำสั่งของ คสช. ขอให้เขียนเนื้อหาให้ชัดเจน ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่นำไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสอบสวน ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่กระบวนการยุติธรรมปกติ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะย้อนกลับไปที่ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 อยู่ดี เพราะกฎหมายอื่นก็มีอยู่แล้ว และโอกาสที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับการใช้มาตรา 44 ก็มีสูงมาก เพราะมาตรา 44 ร้ายแรงย่ิงกว่ากฎอัยการศึก ขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ กลายเป็นการใช้อำนาจของกลุ่มบุคคล หรือคณะบุคคลอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นคำสั่งอย่างไร ซึ่งต้องดูฝีมือเนติบริกร ว่าจะคิดประดิษฐ์วิธีการอย่างไร เพราะอาจจะคิดออกมาแล้วเบามาก จนดูเหมือนว่าไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติก็ได้ คงต้องไปดูว่าการใช้มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์อย่างไร มีหลักคิดอย่างไร สำคัญตรงนั้นมากกว่า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นงูกินหาง.