ผมเห็นสีหน้าซึมๆเศร้าๆของคุณสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลัง หลังนายกฯประยุทธ์ ไม่เอาด้วยกับนโยบายเก็บภาษีบ้าน ภาษีที่ดิน...แล้วก็สงสาร

เงินทองบ้านเมืองเราร่อยหรอเต็มที...หนี้สินยังมากถึง 40% ของจีดีพี

แต่ความหนักใจของคุณสมหมาย...นั้นให้บังเอิญตรงกันข้ามกับโพลฝรั่ง... ที่เพิ่งบอกว่า ตัวเลขหนี้สิน ตัวเลขคนว่างงาน ฯลฯ ที่ว่าเป็นปัญหานั้น เทียบกับประเทศทั้งหลายในโลก ไทยเราเป็นประเทศที่มีระดับความทุกข์ต่ำที่สุด

ถ้าถือตามฝรั่งว่า...นี่คือจุด...พอดีของประเทศไทย...

ภาวะเศรษฐกิจแบบเงินเฟ้อ เป็นศูนย์ เงินฝืดกำลังถามหา ข้าวของขายไม่ค่อยได้...ที่กำลังบ่นกัน ผมว่า ถ้าคิดอีกที...คิดให้ดี...ไม่ทุกข์ ก็คือสุขจนผมอยากจะปรบมือให้รัฐบาลคุณสมชาย

หน้าที่หลักของรัฐ ก็คือการหาเงินมาบริหารทุกข์สุขของประชาชน... เมื่อตั้งใจจะหาจากภาษีที่ดิน ภาษีบ้าน ไม่ได้ ผมไม่กล้ายุให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม...จาก 7 เป็น 10% เห็นบอกว่าจะได้เงินก้อนใหญ่เท่ากับค่าภาษีที่ดิน

พยายามช่วยรัฐบาลท่านคิด จะหาเงินมาจากทางไหน...ทุกช่องทางที่เก็บได้ ดูท่านก็จะขยันเก็บกันไปหมดแล้ว

เปิดสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อ่านเจอ เรื่องเงินผูกปี้ “ปี้” เป็นภาษาจีน หมายถึง เงินตราแลกเปลี่ยนซื้อขาย แต่อีกความหมาย ปี้ สำหรับใช้แทนเงินในบ่อน

สมัยก่อนมีโรงบ่อนเบี้ย ปี้ทำด้วยกระเบื้อง ที่ทำด้วยทองเหลืองหรือแก้วก็มี

สมเด็จฯกรมดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในตำนานเงินตราว่า

ปี้กระเบื้องนั้น เดิมเป็นแต่คะแนน สำหรับเล่นในโรงบ่อน จีนเจ้าของบ่อนคิดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ขอลากได้บนเสื่อ สะดวกกว่าเงินตรา เวลาคนไปเล่นเบี้ย ให้เอาเงินไปแลกปี้มาเล่น

สาเหตุที่มีการผูกปี้ข้อมือจีน สมัยอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ มีชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้าไทย จีนส่วนใหญ่เป็นแรงงาน โยกย้ายไปทำมาหากินไม่เป็นที่ ต่างกับคนไทยที่ต้องติดที่ ขึ้นกับมูลนายในระบบไพร่

...

สมัยรัชกาลที่ 2 เอกสารราชการ ปรากฏครั้งแรก รัชกาลที่ 3 ชาวจีนเสียเงินผูกปี้ ในอัตรา 4 บาท 6 บาท และ 8 บาท ตามเวลาที่ถูกเกณฑ์แต่ละครั้ง ซึ่งอาจเป็น 1 เดือน เดือนครึ่ง หรือสองเดือน

ในรัชกาลที่ 4 เก็บ 3 ปีต่อ 1 ครั้ง กำหนดวันทำงานเป็น 1 เดือน เสียเงินแทนการเกณฑ์แรงงาน 4 บาท ค่าฎีกา 1 สลึง

หากไม่ประสงค์จะผูกปี้ ก็ต้องเสียเงินแทน 6 บาท ค่าฎีกา 2 สลึง

วิธีผูกปี้ เริ่มที่เจ้าพนักงานจะใช้เชือกป่าน (ต่อมาใช้แถบสีแดง) ผูกข้อมือซ้าย เหลือชายไว้ราว 1 นิ้ว ใช้ครั่งกดติดที่ปมเชือก ประทับตรา ด้านละ 1 ดวง

ผูกปี้แล้ว ก็ต้องผูกปี้ไว้กับข้อมือ 5 เดือน หากปี้แตกหักจะต้องไปผูกใหม่ จนสิ้นเดือนธันวาคม จึงทิ้งปี้ข้อมือได้

ต่อมารัชกาลที่ 5...ทรงเห็นความทุกข์ยากและความน่ารังเกียจในการผูกข้อมือจีน และความไม่เท่าเทียมกับคนไทย โปรดให้เลิกเมื่อ 26 มี.ค.2451

ปี้ที่ข้อมือคนจีน สมัยหนึ่งอาจดูว่าน่าชัง แต่ผู้คนสมัยต่อมา เริ่มโหยหาสัญลักษณ์ผูกข้อมือ อย่างเช่นคนไทยมากมาย เคยผูกริสต์แบนด์ ถวายความจงรักภักดี แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

ใช้แบบอย่างจากปี้จีน...เป็นแนวคิด...ลองคิดกันว่า ในภาวะบ้านเมืองย่ำแย่อย่างนี้ เมื่อการหาเงินด้วยการเก็บภาษีทำไม่ได้ เราก็น่าจะหาเงินสมัครใจ เงินบริจาคช่วยชาติ ใครบริจาค ติดปี้ข้อมือไว้เป็นสำคัญ

เมื่อกระแสปี้ข้อมือ ฮิต...ติดลม...สมมติใครผูกปี้สีทอง โสมชบา ก็จะเอาไปซุบซิบแสดงความอิจฉา...คนในสังคมออนไลน์ก็จะเอาไปไลค์ และไลค์ เป็นหมื่นไลค์ แสนไลค์

ถึงตอนนั้น เงินทองจะไหลมาเทมา เข้าท้องพระคลัง...โดยไม่ต้องไปออกแรงรีดเอากับใคร

เมืองไทยอาจจน...แต่จริงๆแล้ว คนไทยไม่เคยจน มีเงินฝากสหกรณ์ จนถูกโกงหมื่นล้าน เงินในมหาวิทยาลัยก็ล่องหนได้หลายพันล้าน เกิดอุบัติภัยร้ายแรงที่ไหน คนไทยไม่เคยทิ้งกัน ข้าวของเงินทองบริจาคช่วยเป็นภูเขาเลากา

ถ้ารัฐบาลยอมสารภาพ จนกรอบเต็มที่ ก็ขอให้ออกปากบอกมา จะให้ซื้อปี้ผูกข้อมือ หรือจะให้ทำอะไร จะได้ช่วยกันให้เต็มไม้เต็มมือ.

กิเลน ประลองเชิง