แล้ว ข่าวลือ ในตลาดหุ้นก็กลายเป็น ข่าวจริง เมื่อ กนง.คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.0 เหลือร้อยละ 1.75 โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม หลังจากที่มีมติ
คุณเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง. แถลงถึงเหตุผลการลดดอกเบี้ยนโยบายว่า
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ของปี 2557 และเดือนมกราคม 2558 ยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน้อยกว่าคาด ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลง เศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน
สำหรับการส่งออกสินค้า คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่คาด แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศได้บางส่วน
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยแรงกระตุ้นจากภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับตํ่าไปอีกระยะหนึ่ง
ภายใต้ภาวการณ์ดังกล่าว กรรมการ 4 คน เห็นว่า นโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจ และช่วยพยุงความเชื่อมั่นของเอกชน แต่ กรรมการอีก 3 คน เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว ควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้สำหรับเวลาที่จำเป็น และมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน การกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควรอาศัยแรงขับเคลื่อนด้านการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ
...
4 เสียงให้ลดดอกเบี้ยเป็นใคร 3 เสียงที่ค้านเป็นใคร แม้ไม่มีการแถลง ผมเชื่อว่าคนในแวดวงการเงินก็คงเดาออก
ก่อนการประชุม กนง.หนึ่งวัน ก็มีข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดสนับสนุนให้ กนง. ลดดอกเบี้ย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงปฏิเสธ แต่ในที่สุด กนง. ก็มีมติ 4 ต่อ 3 ให้ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ตามข่าวลือ
ก็ต้องดูกันต่อไป การลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 จะแรงพอกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาได้หรือไม่ ตามหลักการแล้ว เมื่อแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้นทุนการเงินของธนาคารพาณิชย์ลดลง ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง การกู้เงินไปซื้อบ้านหรือทำธุรกิจก็จะมีต้นทุนที่ถูกลง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น
แต่จะเป็นจริงตามทฤษฎีหรือไม่ ผมอยากให้อ่านการวิเคราะห์ของ คุณกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ในวารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับมีนาคม ที่พูดถึง QE รอบใหม่ ของ ธนาคารกลางยุโรป เดือนละ 60,000 ล้านยูโร ในสกู๊ปปก “เตรียมรับมือเงินล้นโลก” ว่า แม้แบงก์จะได้เงินมาในราคาถูก แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อ เพราะเศรษฐกิจยังแย่อยู่ ปล่อยไปก็เป็นหนี้เสีย แบงก์ก็นำกลับไปฝากธนาคารกลางยุโรปอีก วนกันอยู่อย่างนี้ แก้ปัญหาไม่ได้
ตรงกันข้าม กลับส่งผลกระทบต่อคนออมเงิน ที่ฝากแบงก์กินดอกเบี้ย
ผมจึงอยากเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ความซบเซาของเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่อยู่ที่ปัญหาดอกเบี้ย แต่อยู่ที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนควักเงินออกมาลงทุนต่างหาก และ รัฐก็เป็นตัวถ่วงเสียเอง เงินลงทุนของรัฐบาลเกือบ 5 แสนล้านบาท 6 เดือนเบิกไปไม่ถึง 20% ตรงนี้คือปัญหา ไม่ใช่ดอกเบี้ย
ก็อยู่ที่ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะกล้าทะลวงปัญหาตรงนี้ให้ทะลุหรือไม่
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ กล้าทะลวง เศรษฐกิจไทยก็เหมือนตอนที่ทหารเอาผักตบชวาออกจากประตูกั้นนํ้าตอนนํ้าท่วมกรุงเทพฯ นํ้าจะไหลทะลักออกจากเขื่อนที่อุดตันทันที.
“ลม เปลี่ยนทิศ”