คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มแต่มาตราแรกๆจนถึงมาตราท้ายๆที่ให้จัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ให้ สปช.และคณะกรรมาธิการฯปฏิบัติหน้าที่ต่อ 210 วัน สนช. 240 วัน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่
จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในทันที การให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป และให้ สปช.และ สนช.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปถึง 7 เดือน 8 เดือน คือ การสืบทอดอำนาจหรือไม่? แต่ถูกปฏิเสธทันที ทั้งจาก คสช.และรัฐบาล และมีคำชี้แจงจากโฆษกคณะกรรมาธิการว่า สภาขับเคลื่อนไม่ใช่สภาสืบทอดอำนาจ แต่เป็นสภาสืบทอดเจตนารมณ์
สืบทอดเจตนารมณ์อะไร? และทำไมจึงต้องสืบทอด? คำตอบก็คือ ในระยะเปลี่ยนผ่านอำนาจจาก คสช.สู่รัฐบาลเลือกตั้ง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องออกกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายอื่นๆที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็จะต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปในด้านต่างๆตามแผนและแนวทางที่วางไว้ เพื่อไม่ให้ “เสียของ” หากรัฐบาลเลือกตั้ง ไม่สานต่อการปฏิรูป
เป็นคำชี้แจงที่มีเหตุผล เพราะในช่วงเวลาที่ คสช.อยู่ในอำนาจ ได้มอบให้ สปช.ศึกษา วิเคราะห์และจัดทำแผนปฏิรูป ทั้งด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ หากรัฐบาลเลือกตั้งไม่สานต่อ ก็จะเสียของเปล่า แต่มีปัญหาว่า สนช.ได้เสนอการปฏิรูปอะไรบ้าง? ที่น่าประทับใจ และจะต้องสืบทอดเจตนารมณ์
ดูเหมือนว่ายังไม่มีข้อเสนอแนะที่ชัดเจน ในการขจัดความเหลื่อมล้ำ และการขจัดการทุจริตโกงกิน ส่วนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ก็ถูกน็อกเรียบร้อยตั้งแต่ยกแรก ไม่ทราบว่าเจอของแข็งหรือโดนอิทธิฤทธิ์อะไร? ส่วนผลงานสำคัญคือการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ถูกวิพากษ์อย่างหนัก ว่าทำให้การเมืองถอยหลังไปหลายทศวรรษ เรื่องที่มาของ ส.ว.และนายกรัฐมนตรี
...
มีเสียงวิจารณ์ด้วยว่าระบบการเลือกตั้งใหม่ จะทำให้พรรคและรัฐบาลอ่อนแอ ส่งเสริมรัฐบาลผสมหลายพรรค หรือรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่เหมือนกับเมื่อ 40 ปีก่อน ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลก็น่าห่วง ถ้าให้นายกฯ (ซึ่งอาจเป็นคนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง) สั่งยุบสภา (ที่มาจากเลือกตั้ง) หลังถูกมติไม่ไว้วางใจในสภา สวนทางระบบรัฐสภาที่พรรคต้องเข้มแข็ง
ถ้าเป็นไปตามเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ทำให้น่าเป็นห่วงว่าอาจไม่บรรลุวัตถุ ประสงค์สำคัญของการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องการให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เหมาะกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกในการป้องกันและขจัดการทุจริต ขจัดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย.