เจษฎ์ โทณะวณิก ยันเสนอ แม่นํ้า 5 สายเว้นวรรคการเมืองเป็นความเห็นส่วนตัว เผย แม้ตัดสิทธิ์ยังนั่งสรรหา ส.ว. หรือตำแหน่งอื่นได้ เชื่อ กมธ.อาจไม่ยอมรับ
วันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายเจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งในคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุ กมธ.ร่างบทเฉพาะกาล กล่าวว่า แนวคิดตัดสิทธิ์หรือเว้นวรรคทางการเมือง แม่น้ำ 5 สาย เป็นของตนเอง ซึ่งแม่น้ำ 5 สายประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าแม่น้ำทั้ง 5 เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจริง อีกทั้งกลัวว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไป จึงเห็นว่าควรมีการเว้นวรรคช่วงหนึ่ง และเชื่อว่า แม่น้ำ 5 สายไม่มีแนวคิดสืบทอดอำนาจแน่นอน
ส่วนสาเหตุที่ตัดสิทธิ์ 2 ปี เนื่องจากเมื่อตัวเองดูเวลาแล้วพบว่าการทำงานของแม่น้ำ 5 สายมีเวลาราว 2 ปี ดังนั้นก็ควรมีการตัดสิทธิ์ในระยะเวลาเท่ากัน โดยการตัดสิทธิ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย พ้นวาระจากตำแหน่ง และจะมีผลย้อนหลังทุกกรณี รวมถึง นางทิชา ณ นคร ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งคณะ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ด้วย ซึ่งการตัดสิทธิ์จะตัดสิทธิ์ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังสามารถทำหน้าที่สรรหา ส.ว.หรือดำรงตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองได้ เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซี่งตนเองจะนำเสนอแนวคิดนี้ในวันนี้
อย่างไรก็ตามคิดว่าแนวคิดนี้คงไม่ผ่านการยอมรับจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ และยังไม่ได้มีการพูดคุยกับสมาชิก สนช. และ สปช.ถึงแนวคิดนี้ด้วย ส่วนการยกร่างบทเฉพาะกาลคาดว่าจะมีทั้งหมด 20 มาตรา คงพิจารณาแล้วเสร็จวันพรุ่งนี้ โดยยังเหลือการพิจารณาประเด็นสำคัญใน 3-4 ประเด็น เช่น บทบาทของแม่น้ำ 5 สายหลังพ้นตำแหน่ง และแนวทางการส่งต่อบทบาทหน้าที่ในรัฐบาลชุดต่อไป
ส่วนการประชุม สนช.ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงความคืบหน้าการยกร่างให้ที่ประชุมรับทราบ ส่วนวาระสำคัญที่ต้องติดตามคือการตอบข้อซักถามของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. และกลุ่มอดีต 38 สมาชิกวุฒิสภา ต่อคณะกรรมาธิการซักถาม สนช.ที่มี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน ในกรณีถอดถอนอดีต 38 สมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในประเด็นการแก้ไขที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ
ทั้งนี้ภายหลังการรวบรวมญัตติซักถามจากสมาชิก สนช. พบว่ามีสมาชิก สนช.ยื่นญัตติซักถามรวม 6 คน มีทั้งหมด 19 คำถาม แบ่งเป็นถาม ป.ป.ช. 13 คำถามและถามกลุ่มอดีต 38 ส.ว. 6 คำถาม ซึ่งลักษณะคำถามจะมีแนวใกล้เคียงกับกรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งถูกพิจารณาถอดถอนในประเด็นเดียวกับกลุ่มอดีต 38 ส.ว. เช่นกัน
...