เมื่อตอนที่เขียนถึงคำนำหน้านามของคนดังในวงราชการงานเมืองในประเด็นที่ว่าชอบใช้คำนำหน้านามเวลาลงนามในหนังสือราชการหรือประกาศคำสั่งของหน่วยงานให้ผิดแผกแตกต่างไปจากคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า ศาสตราจารย์พิเศษ นั้น

มีเสียงขานรับกลับมาว่ายังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าจะเขียนถึงขอให้เขียนอีก...เขียนอีก ก็บอกไปว่าแค่นี้ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับผู้ถูกกล่าวขวัญถึงเต็มทีแล้ว

แต่มีผู้อ่านอยู่ท่านหนึ่งที่ร้องขอมาว่าขออนุญาตถามเรื่องคำนำหน้านามเป็นความรู้ ซึ่งก่อนหน้าเคยเห็น เคยได้ยิน มีแต่ ศาสตราจารย์ (ศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.)

แต่ปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมาอีกเช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราภิชาน ฯลฯ เหล่านี้ได้มาอย่างไร ใครแต่งตั้ง มีผลงานทางวิชาการอะไรบ้าง ช่วยกรุณาตอบในไทยรัฐด้วย ขอบพระคุณยิ่ง

คำแรกเลยต้องตอบว่าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องขอร้องไหว้วานให้นักข่าวของไทยรัฐในสายงานที่รับผิดชอบด้านนี้ไปหาคำตอบมาให้

ก็ได้รับคำอธิบายมาจาก นายกำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยละเอียด ซึ่งต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์กำจร ซึ่งมีสถานะเป็น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สามารถใช้คำนำหน้านามดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำนึงถึงฐานะที่เป็นผู้บริหารคนหนึ่งในราชการพลเรือนที่มีฐานะเทียบเท่า ปลัดกระทรวง ก็ต้องเรียกขานคำนำหน้านามว่า นายกำจร ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้

คำอธิบายชี้แจงในเรื่องนี้มีว่า ตำแหน่ง ศ.-รศ. และ ศ.(พิเศษ)-รศ.(พิเศษ) คือ ตำแหน่งทางวิชาการตามระบบมหาวิทยาลัยที่ถูกต้อง โดย ศ. และ รศ. คือ ตำแหน่งทางวิชาการที่อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนั้น ทำผลงานทางวิชาการ

ส่วน ศ.(พิเศษ) และ รศ.(พิเศษ) เทียบเท่า ศ. และ รศ. แต่เป็นอาจารย์พิเศษ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อสอนหนังสือมาระยะเวลาหนึ่ง ก็จะทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งผ่านกระบวนการตรวจผลงานทางวิชาการ และขอตำแหน่งวิชาการเหมือน ศ.และ รศ. ซึ่งทั้ง ศ.-รศ. และ ศ.(พิเศษ) และ รศ.(พิเศษ) เป็นตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ โดยสภามหาวิทยาลัยจะเสนอเรื่องมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อนำเข้า กกอ.พิจารณาและเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯ

...

ส่วนคำว่า ศ.(คลินิก) เป็นการยกอาจารย์ผู้สอนประจำของมหาวิทยาลัยมหิดล เท่านั้น ซึ่งแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีคำนำหน้า ศ.(คลินิก) มักจะเป็นนายแพทย์

สำหรับคำเรียกอื่นๆ เป็นเพียงคำพ้อง เช่น ศาสตราภิชาน เป็นคำที่เรียกยกย่องนักวิชาการที่มาช่วยงานในแต่ละภาควิชา หรือ คณะวิชา ของแต่ละมหาวิทยาลัย เป็นการให้เกียรติอาจารย์ผู้นั้น ซึ่งตำแหน่งวิชาการของอาจารย์คนนั้นอาจเป็น รศ.ก็ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มักใช้คำนี้คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำว่า ศ.(เกียรติคุณ) หรือ ศ.(กิติคุณ) หมายถึง ศ.ที่ได้รับการยกย่องเพิ่มขึ้นอีก เพราะได้รับการยอมรับ หรือสร้างประโยชน์ต่อสังคม

คำอธิบายในเรื่องนี้ยังมีอีก ซึ่งจะขอมาขยายความต่อในวันพรุ่งนี้.

“ซี.12”