หลังปีใหม่เป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะออกอาการทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อเจอคำถามที่ไม่สบอารมณ์ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีต่อผู้นำ เรื่องนี้จะโทษสื่อคงไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ต้องถามอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ และ ทีมงานโฆษก จะบริหารจัดการการแถลงข่าว และการตอบคำถามสื่ออย่างไรให้ราบรื่น
การตอบโต้ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศก็เช่นกัน ระดับผู้ช่วยรัฐมนตรี ระดับนายกฯต้องนิ่งเฉย ให้ลูกน้องระดับเดียวกันเฉ่งแทน
สาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอารมณ์ไม่จอยบ่อยขึ้น น่าจะเป็นเพราะ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สั่งออกไปมากมาย แต่มีการขับเคลื่อนช้ามาก จนแก้ไขปัญหาไม่ทัน ตัวอย่างเช่น เงินช่วยเหลือชาวนา ชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท ตามกำหนดต้องจ่ายให้หมดภายในเดือนพฤศจิกายน แต่จนบัดนี้ก็ยังจ่ายไม่หมด
ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อน กำลังซื้อในประเทศถดถอย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้
ที่ผ่านมาก็เชื่อกันว่า เป็นเพราะ “ข้าราชการเกียร์ว่าง” เนื่องจากรัฐบาลประกาศโรดแม็ปว่าจะอยู่ไม่เกินหนึ่งปี ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ทำกฎหมายลูกเสร็จ ก็จะมีเลือกตั้ง
แต่เมื่อได้อ่าน “ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย” ที่ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ส่งมาให้ผมเมื่อวันศุกร์ กลับพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มี นโยบายปฏิรูประบบราชการให้เล็กลง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารประเทศ มีการจ่ายเงินก้อนโตให้ “เออร์ลี่ รีไทร์” เกษียณก่อนกำหนด เพื่อลดจำนวนข้าราชการ
แต่นโยบายนี้กลับทำให้ประเทศไทยมี “ข้าราชการซี 9 ขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว” ทั้งๆที่ จำนวนข้าราชการประจำโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มกระทรวงใหม่ 6 กระทรวง กรมใหม่อีก 40 กว่ากรมเป็น 168 กรม ส่งผลให้ภาครัฐสุ่มเสี่ยงกับปัญหา ขาดแคลนกำลังคนระดับปฏิบัติการ
...
นายกฯสั่งรัฐมนตรี รัฐมนตรีสั่งปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวงสั่งอธิบดี อธิบดีสั่งรองอธิบดี รองอธิบดีสั่งผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการกองสั่งรองผู้อำนวยการ แต่ใต้รองผู้อำนวยการลงไป จนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กลับไม่มีกำลังคนทำงานเพียงพอ ทุกนโยบายจึงขับเคลื่อนไปอย่างล่าช้า หรือไม่ขับเคลื่อน
งานนี้ นายกฯบิ๊กตู่ น่าจะกลับดู ขั้นตอนการทำงานของระบบราชการ มันติดขัดที่ตรงไหน แล้วใช้อำนาจ คสช.ที่มีอยู่แก้ไขทันที ตอนนี้ ภาคเอกชน ก็เบื่อที่จะเสนอโครงการต่างๆช่วยรัฐบาลแล้ว เพราะเสนอไปก็หายเงียบเข้ากลีบเมฆ เสียเวลาทำมาหากิน
ขณะที่ ข้าราชการลดลง แต่ กำลังคนในภาครัฐกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ไปอยู่ที่ 2.2 ล้านคน เมื่อไม่ให้รับข้าราชการเพิ่ม กระทรวง ทบวงกรมก็ไปรับ ลูกจ้างรัฐ พนักงานรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 10 ปี บางกระทรวง เช่น กระทรวงทรัพยากรฯ มีข้าราชการประจำ 10,000 คน แต่มีพนักงานรัฐร่วม 50,000 คน
นี่คือ ระบบราชการที่พิกลพิการ จาก การบริหารประเทศแบบศรีธนญชัย ผมก็ได้แต่หวังการปฏิรูปประเทศรอบใหม่ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จะไม่ทำให้อนาคตประเทศไทยต้องพิกลพิการเหมือนการปฏิรูประบบราชการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผลจากการเพิ่มพนักงานลูกจ้างรัฐมากมาย ทำให้ค่าใช้จ่ายรัฐเพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จ บำนาญ คิดเป็นงบประมาณสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือ ครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐบาล งบบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน
วันนี้อัตราเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างรัฐ ระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน สูงกว่าภาคเอกชนซึ่งอยู่ที่ 13,000 บาทต่อเดือน แต่ประสิทธิภาพกลับลดลงเทียบกันไม่ได้
แล้วจะขับเคลื่อนประเทศกันอย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ที่ผมขอฝาก นายกฯบิ๊กตู่ นำกลับไปนอนคิดเป็นการบ้านครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”