นายกฯ ยกตัวอย่างชาติอื่นถดถอย เปรียบไทยเสือรอทะยานสู่อนาคต อนาคตขอให้เลี่ยง 3 บทเนียนที่ผิดพลาด ย้ำ 2 ปัจจัยหลักปฏิรูปสำเร็จ
วันที่ 6 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฏิรูปเพื่อเดินหน้าประเทศไทย ว่า ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศหนึ่งในอาเซียน เคยยิ่งใหญ่มีการเจริญเติบโต แต่วันนี้ต้องประสบภาวะเสื่อมถอย เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐที่ผิดผลาด 3 ข้อนำไปสู่ภาวะล้มเหลว คือ 1.ขาดธรรมาภิบาล สนใจเฉพาะนโยบายที่สร้างคะแนนนิยม ไม่จริงจังวางรากฐานอนาคต ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสื่อมถอย การกู้ยืมเงินมาทำโครงการที่ไม่ต่อยอดสร้างรายได้ให้ประชาชน 2.มีการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม 3.การปฏิรูปประเทศขาดความจริงใจ ทำให้ติดกับดักถาวร สถานการณ์ทุกมิติ กลับเลวร้ายทำให้ประเทศล้มเหลว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ต้องรีบหยุด เพราะปัญหาคล้ายกัน แต่ไม่ร้ายแรงเท่า ที่สำคัญคือ การทุจริต ถ้าไม่วางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน วันนี้ถ้าเราไม่ทำให้มั่นคง แข็งแรง จะเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจใหม่ในการบริหารประเทศ จะไม่มีหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง และยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นภัย 2 ด้าน ที่ คสช.และรัฐบาลดูแลและเตรียมความพร้อมในการที่จะทะยานออกไปในอนาคต เหมือนเสือที่กำลังย่อตัวที่พร้อมทะยานออกไปในโอกาส
นายกฯ กล่าวต่อว่า จึงขอให้เลี่ยงความผิดพลาดบทเรียน 3 ข้อ คือ 1.ทำการปฏิรูปที่มีธรรมาภิบาล วางรากฐานอนาคตเยาวชนของชาติ ลดความขัดแย้ง อย่าเอาประเทศไปเสี่ยงภัย หรือต่อสู้กัน สร้างภาระให้ประเทศโดยไม่จำเป็น ยึดแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง 2.ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยยึดหลัก 3 ข้อ คือ การพัฒนาอย่างมีวินัย การต่อต้านคอร์รัปชันอย่าสมยอมกัน การยึดหลักคุณธรรมให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียม ถ้าตรวจสอบพบก็ต้องลงโทษทันที 3.จะปฏิรูปสำคัญที่สุด คือ 5 ฝ่าย ที่ทำไว้แล้วปัจจุบัน ครม. คสช. สปช. สนช. และกมธ.ยกร่างฯ ขอให้บูรณาการให้ดี อย่าสร้างปัญหาใหม่ ร่างอะไรออกมาก็ตาม ต้องได้รับการยอมรับ
...
"ผมว่าจะทำให้ยอมรับทั้งหมดคงไม่ได้ แต่จะหาทางลงเอยที่พอใจกันทุกฝ่าย ขอให้คำนึงถึงว่าประเทศชาติจะไปทางไหนในอนาคต กระบวนการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน มีการถ่วงดุลอำนาจ 3 อำนาจภายใต้พระมหากษัตริย์ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ที่สำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน พูดง่ายๆ คือ มีคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล โดยมีปัจจัยเสริม 2 ข้อ ที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศครั้งนี้สำเร็จคือ 1.การก้าวข้ามความขัดแย้ง 2.ตื่นตัวของประชาชน ผมดีใจ ที่ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วม ส่งข้อมูลเข้ามาที่สภาปฏิรูป ที่รัฐบาล วันนี้ ผมขอร้องอย่างเดียวว่า ถ้าเรายังขัดแย้งกันต่อต้านกันเรื่องประชาธิปไตย ก็ไปไม่ได้ เราไม่ต่อต้านกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว