“พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์”...ถือเป็นพิธีแห่งเกียรติยศของทหารรักษาพระองค์อันจะเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็น “องค์จอมทัพไทย”

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายคำสัตย์ปฏิญาณต่อใต้ฝ่าละอองธุลี พระบาทว่า...ข้าพระพุทธเจ้า จักยอมตายเพื่อรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า...ข้าพระพุทธเจ้า จักจงรักภักดี และถวายความปลอดภัย ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจนชีวิตหาไม่

ข้าพระพุทธเจ้า จักเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ของทหารรักษาพระองค์ ทั้งจะปฏิบัติตนให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ”

ทุกถ้อยคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสัจจะวาจาที่ได้ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ ถือเป็นเกียรติอันสูงสุด

เฉกเช่นเดียวกัน เนื่องจากในปีนี้เหล่าทหารรักษาพระองค์จะได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อองค์จอมทัพไทย พร้อมถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามอีกครั้ง ในวันที่ 2 ธ.ค.2557

พลตรี พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในฐานะผู้บังคับการกองผสมปี 2557 ที่จะนำทหารรักษาพระองค์ 13 กองพันเข้าถวายสัตย์ ได้ย้อนอดีตเล่าถึงประวัติความเป็นมาของพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ว่า...

แรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2496 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ.ในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่หน่วยทหารของกองทัพบกที่ยังไม่มีธงชัยเฉลิมพลจำนวน 40 กองพัน ในวันที่ระลึกกองทัพบก วันที่ 25 ม.ค.2496

...

หลังจากนั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้กองทัพภาคที่ 1 จัดงาน “วันราชวัลลภ” ให้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 85 ปี และให้มีการสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเป็นประธานในพิธีและพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสวนสนามนับแต่บัดนั้น

หลังการเข้ายึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เริ่มมีการสวนสนามฯ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2501 ณ พระลานพระราชวัง ซึ่งมีเฉพาะทหารรักษาพระองค์ สังกัดกองพลที่ 1 รักษาพระองค์เท่านั้น ต่อมาปี พ.ศ.2502 จอมพลสฤษดิ์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการพิเศษกรมทหาร” จำนวน 6 กรม และขอพระราชทานพระยศ “พันเอก” ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ ขอพระราชทานให้ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษแห่งกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

กระทั่งปี พ.ศ. 2521 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เข้าร่วมสวนสนามเป็นปีแรก โดยจัดกองพันสวนสนามที่ 1 และมีพันตรีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ดำรงพระยศในขณะนั้น) ทรงเป็นผู้บังคับกองพัน

พ.ศ.2526 กองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้ขยายอัตราชั้นยศผู้บังคับกองพันเป็นอัตราพันเอก โดยพันเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ดำรงพระยศในขณะนั้น) ทรงร่วมสวนสนามในพิธีอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในตำแหน่ง “ผู้บังคับกองพันสวนสนามที่ 17”

ปี 2529 พันเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ดำรงพระยศในขณะนั้น) ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรม ได้ทรงร่วมพิธีในตำแหน่งผู้บังคับการกรมสวนสนามที่ 1 และเป็นปีแรกที่มีทหารม้าเข้าร่วมสวนสนามซึ่งเรียกว่า “หน่วยขบวนม้ารักษาพระองค์”

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ จัดขึ้นหลายวโรกาส พลตรี พงษ์สวัสดิ์ บอกว่า เมื่อปี 2539 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระราชทานชื่องานว่า “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” กองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพครั้งใหญ่ ในวันที่ 23 มิ.ย.2539...ต่อมาปี 2540 ให้เปลี่ยนวันกระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามฯ จากวันที่ 3 ธ.ค. มาเป็นวันที่ 2 ธ.ค.ของทุกปี

พ.ศ.2552 สำนักราชเลขาธิการได้ประกาศเลื่อนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและการสวนสนามจากวันที่ 2 ธ.ค.ออกไป เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการประชวร

จนกระทั่งปี 2553 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ โดยมีกำลังทหารรักษาพระองค์จำนวน 4 กรม 13 กองพันตั้งแถวเฝ้าฯบริเวณสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน โดยงดพิธีสวนสนามเช่นเดียวกับในปี 2554

พลตรี พงษ์สวัสดิ์ บอกอีกว่า ปีนี้กองทัพบกได้จัดพิธีตรึงหมุดธงและพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารรักษาพระองค์ จำนวน 63 หน่วย ซึ่งแต่เดิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้แก่หน่วยทหารพร้อมประกอบพิธีตรึงหมุดธงมาแล้วหลายครั้ง

อาทิ ครั้งแรกเมื่อ 25 ม.ค.2496 จำนวน 40 หน่วย...ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ธ.ค.2519 จำนวน 21 หน่วย ครั้งที่ 3 วันที่ 19 มี.ค.2524 จำนวน 15 หน่วย และครั้งนี้วันที่ 7 ธ.ค.2557 จำนวน 63 หน่วย

พ.อ.สุชาติ พรมใหม่ ผบ.กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เสริมว่า หน่วยที่เข้ารับพระราชทานธงชัยเฉลิมพลจำนวน 63 หน่วย (66 หมู่ธง) โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระกรัณฑ์ เส้นพระเจ้าในยอดคันธงจากนั้นทรงหมุนเกลียวซุ้มยอดธงปิดที่ยอดคันธง จำนวน 66 ธง และทรงย้ำตรึงหมุดติดผ้าคันธง ภายในพระอุโบสถวัด พระศรีรัตนศาสดาราม

หลังจากนั้นหน่วยถวายรักษาความปลอดภัย รักษาพระองค์ (นถปภ.รอ.), บก.ทท., ทบ., ทร., ทอ.เข้ารับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล ณ สนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม

2 ธันวาคม 2557 เป็นอีกวาระหนึ่งที่กองทัพไทยได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติของทหารรักษาพระองค์ประจำปี 2557 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง...ทหารรักษาพระองค์ 3 เหล่าทัพ...12 กองพัน...กำลังพล 2,197 นาย และกองพันทหารรักษาพระองค์รวม 1 กองพันทหารม้ารักษาพระองค์จะร่วมเดินเฉลิมพระเกียรติและถวายราชสดุดีฯ

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ถวายพานพุ่มต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมนำกล่าวคำถวายราชสดุดีและถวายสัตย์ปฏิญาณตน

เสียงคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของเหล่าทหารรักษาพระองค์จะดังกระหึ่มอีกครั้ง ท่ามกลางความปลื้มปีติและประทับใจของปวงพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ.