“กรมควบคุมมลพิษ” หืดจับ เร่งหาเงินจ่ายค่าโง่คลองด่าน ร่วม 1 หมื่นล้านบาท อธิบดี คพ.ระบุยิ่งจ่ายช้ายิ่งอ่วม เจอดอกเบี้ยบาน วันละ 2 ล้านบาท ขณะเดียวกันเตรียมเสนอ ครม.ของบมาจ่ายก่อน พร้อมหารือด้านกฎหมาย หวังลากคอคนทุจริตมาลงโทษให้ได้ ทั้งนักการเมืองและฝ่ายราชการ แย้มมีอีก 3 คดีฟ้องอาญา-บังคับคดี หลังศาลสั่งให้ 15 คน รับผิดชอบเงินที่จ่ายไปก่อน หน้านี้ และฟ้องแพ่ง 3 อดีตข้าราชการ กับ 2 นักการเมือง
กรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชดใช้ค่าเสียหายแก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี กรณีสั่งยกเลิกโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุม มลพิษ จ.สมุทรปราการ หรือระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดี คพ.ให้สัมภาษณ์ว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของ คพ.แต่เมื่อศาลสั่งมาเช่นนี้ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตาม โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากทราบคำตัดสิน ได้เข้ารายงานให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรฯทราบ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นผลจากการกระทำก่อนหน้า และสั่งการว่าให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างให้เรียบร้อยโดยเร็วเพราะถึงตอนนี้ คิดแบบคร่าวๆแล้วพบว่าถ้าหากชักช้า จะต้องเสียดอกเบี้ยถึงวันละ 2 ล้านบาท ขั้นตอนที่จะต้องเร่งทำคือ สรุปเรื่องทั้งหมด ติดต่อแผนกบังคับคดี เพื่อให้คำนวณยอดเงินที่ถูกต้องทั้งหมด และทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณ สำหรับนำไปชดใช้ ซึ่งคงต้องเป็นงบประมาณกลาง เพราะงบประมาณของ คพ.เองคงไม่พอจ่าย เนื่องจากได้รับปีละ 500 ล้านบาทเท่านั้น
...
อธิบดี คพ.กล่าวต่อว่า ที่จะต้องทำคู่ขนานไปกับการทำเรื่องเสนอ ครม.ก็คือจะต้องหารือกับนิติกรกรม เรื่องการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้คือ ตัวผู้บริหารสูงสุด ทั้งฝ่ายการเมือง และราชการ ผู้ที่สั่งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งต้องดูด้วยว่า เรื่องนี้ใครควรจะรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าศาลสั่งแล้ว ราชการจ่ายเงินแล้วจบกันไป เพราะราชการยังมีความเสียหายอยู่ เสียหายมากด้วย ตรงนี้จำเป็นต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้น ใครคือต้นเหตุ ส่วนเมื่อหาตัวผู้รับผิดชอบได้แล้ว คนคนนั้นจะต้องทำอะไร รับผิดชอบอย่างไร ต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายก่อน
นายวิเชียรกล่าวอีกว่า กรณีระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านนั้นเป็นอุทาหรณ์ และให้แง่คิดหลายเรื่องมากแก่ระบบราชการ เรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมาเป็นหัวใจของข้าราชการอยู่แล้ว แต่เรื่องของการจัดการแก้ปัญหาก็ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน ตนก็ยังอึ้งๆกับเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ เจ้าหน้าที่ คพ. ทุกคนก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่มาก และหลังจากนี้ เกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คพ.ยังเหลืออีก 3 เรื่องที่ยังต้องต่อสู้กันไป คือ 1.คดี อาญา ที่ คพ.ฟ้องนักการเมือง และข้าราชการกลุ่ม หนึ่ง กรณีการโกงที่ดินเพื่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 2.ตามหาผู้รับผิดชอบกรณีความผิดทางการละเมิด ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลสั่งให้บุคคล 15 คน รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายไปแล้ว คพ.อยู่ระหว่าง ติดตามตัว เพื่อบังคับคดีอยู่ และ 3.การฟ้องแพ่ง ต่อเนื่องจากคดีอาญา มีอดีตข้าราชการ คพ.3 คน และนักการเมืองอีก 2 คน