สกว. เปิดเผยผลวิจัยการจ่ายสินบนในระบบราชการ พบว่า สำนักงานที่ดิน ครองแชมป์การเรียกรับสินบนมากที่สุด รองลงมาคือสถานีตำรวจ ขณะที่ภาพรวมการคอร์รัปชัน 15 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นเพราะผลจากการปฏิรูประบบราชการ

วันที่ 18 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดสัมมนาเรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการ : ต้องทำอะไรต่อ” โดยมีการเปิดผลการวิจัยเรื่อง “สินบน : ประสบการณ์และทัศนคติของหัวหน้าครัวเรือน” ที่จัดทำขึ้นโดย นางผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ ซึ่งจากการสำรวจกว่า 6 พันครัวเรือน พบว่าหน่วยงานที่หัวหน้าครัวเรือนไปติดต่อแล้วถูกเรียกสินบนมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ สำนักงานที่ดินร้อยละ 39 รองลงมาคือสถานีตำรวจ ร้อยละ 36 และโรงเรียนของรัฐบาลร้อยละ 13 ขณะที่กรมศุลกากรและกรมการขนส่งทางบก มีจำนวนเรียกรับสินบนลดลงอย่างมาก เหลือเพียงร้อยละ 2.4 และ 1.9 จากเดิมร้อยละ 10.3 และ 7.7

นอกจากนี้ สำนักงานที่ดินยังเป็นหน่วยงานเดียวที่มีการเรียกรับสินบนเป็นเงินก้อนใหญ่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ขณะที่หน่วยงานอื่นเรียกรับสินบน 1 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อราย ส่วนหน่วยงานอย่าง โรงเรียนของรัฐ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการเรียกสินบนเพิ่มขึ้น โดยการคอร์รัปชันที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือ โรงเรียนของรัฐบาล มีมูลค่าเฉลี่ย 11,796 บาท สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยราชการอื่นๆ

จากการสำรวจหน่วยงานรัฐทั้ง 10 แห่ง พบว่าในปี 2557 มีการเรียกรับสินบนจำนวน 4,944 ล้านบาท โดยสำนักงานที่ดิน ยังคงมีมูลค่าของการเรียกรับสินบนมากที่สุด 1,922 ล้านบาท รองลงมา คือ สถานีตำรวจ 1,792 ล้านบาท และโรงเรียนของรัฐบาล 640 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าสินบนในปี 2542 พบว่ามีจำนวนน้อยลง 3 เท่า จาก 15 ปีก่อน

...

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังระบุว่าในสายตาของหัวหน้าครัวเรือนต่อความไม่สุจริตของหน่วยงานราชการ 5 อันดับแรก คือ ตำรวจ นักการเมือง สภา กทม. สภาเขต และกระทรวงพาณิชย์ ส่วนสถาบันที่หัวหน้าครัวเรือนมีความไว้ใจเชื่อถือน้อยลง คือ สื่อมวลชน ระบบศาล และข้าราชการ

นางผาสุก กล่าวว่า สาเหตุที่การทุจริตคอร์รัปชันภาคราชการลดลงส่วนหนึ่งมาจากการไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงของผู้ถูกสำรวจ และโยงกับการปฏิรูปหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการมีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเปิดให้ร้องเรียน และการทำงานที่แข็งขัน ภายใต้การกดดันจากสังคมถึงความโปร่งใส