กระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูป กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน มูลค่า1.2ล้านล้าน เล็งเสนอหลักประกันกองทุนส่วนตัว ส่งเสริมการออมทุกภาคส่วน
วันที่9พ.ย. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้ง ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ที่มีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยมี คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นายแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายดนัย จันทร์เจ้าฉาย นักวิชาการด้านกลยุทธ์ธุรกิจสีขาว เป็นที่ปรึกษา มุ่งนำสำนักงานประกันสังคมสู่การปฏิรูปการทำงานประกันสังคมใหม่โดยมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงาน ดังนี้
1)ปฏิรูปรูปแบบการบริหารการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงให้เป็นอิสระโดยมืออาชีพที่มีมาตรฐานสากลรองรับ 2) เพิ่มความเข้มแข็งให้สำนักงานประกันสังคมสกัดการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มความพึงพอใจของผู้ประกันตน นายจ้าง และบุคลากรภาครัฐ และ 3) จัดระบบการเปิดเผยด้านการบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง และแผนงานการลงทุนของกองทุนต่างๆ
ดร.นพดล กรรณิกาในฐานะประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า หลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบประกันสังคมแต่ยังไม่สำเร็จรวมถึง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับล่าสุด ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย ดังนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันโดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ตัดสินใจผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่เข้าสู่สภา สนช. เพราะเป็น พ.ร.บ.ที่ดีกว่าฉบับปัจจุบันในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทของหน่วยงานภาครัฐ และที่ดีต่อทุกฝ่ายก็คือ ช่วยเหลือทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เช่น การเกิดภัยพิบัติ ก็สามารถนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเยียวยาทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างได้ เป็นต้น
...
“การให้คณะกรรมการหรือบอร์ดต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อปปช.และต่อสาธารณชน และห้ามไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ คือก้าวสำคัญของผลงานกระทรวงแรงงานขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ท่านรัฐมนตรีฯ ยังมีนโยบายเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเปลี่ยนผ่านระบบประกันสังคมของประเทศไทยให้เป็นอิสระมีการบริหารโดยมืออาชีพ ป้องกันการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายและโปร่งใสมั่นคงยั่งยืนอีกด้วย” ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า คณะทำงานชุดปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนนี้ จะเน้นการทำเวิร์คชอป (Workshop) มีสูตรการทำงาน คือ 30: 30: 30 สู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วของสำนักงานประกันสังคมคือช่วง 30 วันแรก จะค้นหาข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จากนั้น 30 วันในช่วงที่สอง จะทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบโมเดลทางเลือก และทดสอบโมเดลร่วมกัน สำหรับช่วง 30 วันสุดท้าย จะเป็นการนำสู่ภาคปฏิบัติตามโรดแมปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนตามโรดแมปเปลี่ยนผ่านสู่ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ของผู้ประกันตน ความมั่นคงของนายจ้างและการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ ต่อไป
“ยุทธศาสตร์ในการศึกษาแนวทางปฏิรูปนี้ เล็ง ให้สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานภาครัฐสีขาว (White Government) และเป็นภาครัฐแบบเปิด (Open Government) ให้ผู้ประกันตนและผู้ประกอบการทั้งประเทศ เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการแกะรอยการใช้ทุกเม็ดเงินของกองทุนและบริหารการลงทุนได้อย่างแท้จริง ภายใต้การบริหารกองทุนโดยมืออาชีพด้านการลงทุนและการประกันความเสี่ยง” ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อด้วยว่า ขณะนี้กำลังเร่งทำเวิร์คชอป (Workshop) ในนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ด้วยวิธีต่อไปนี้ 1) เสวนาหารือกับทุกภาคส่วน และการจัดเวทีสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ 2) ค้นหารูปแบบที่ดีที่สุดของการบริหารกองทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เชิญชวนนักบริหารกองทุนมืออาชีพจากภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าสู่การศึกษาแนวทางปฏิรูปร่วมกัน 3) ร่วมสร้างรูปแบบและทดสอบรูปแบบจำลองเพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุด สำหรับประเทศไทยในการบริหารจัดการการใช้เงินและการลงทุนของกองทุนต่างๆ สู่การรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติและของประชาชนทุกคนในกรอบของกฎหมายและความมั่นคงของประเทศ
“ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กระทรวงแรงงานมีหลายแนวทางที่ทำได้ก่อน ทำจริง ทำทันที เพื่อสร้างความพอใจแก่ผู้ประกันตน นายจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รื้อบอร์ด ผ่าตัดคณะกรรมการชุดต่างๆ ของประกันสังคม และเดินหน้าเสริมสร้างระบบที่ยั่งยืนทำลายวงจรกลุ่มผลประโยชน์ที่แทรกแซงเข้ามากอบโกยจากกองทุนต่างๆ ของประชาชนผู้ประกันตน นอกจากนี้ คณะทำงานยังเล็งเสนอโครงการ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ส่งเสริมการออมของทุกภาคส่วน ภายใต้ ชื่อ 1 คน 1 กองทุน หนุนความมั่นคงรักษาผลประโยชน์ชาติ ด้านกองทุนประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงแรงงาน” ดร.นพดล กล่าว