ยันไม่เลิกอัยการศึก! ‘บวรศักดิ์’นำทีมกมธ. ไปขอพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สนช.สายทหารปอด! แบะท่า-ไม่ถอดถอน
“บวรศักดิ์” เอาฤกษ์เอาชัยยกทีม กมธ.รธน.ไหว้พระแก้ว-ศาลหลักเมือง ปฏิญาณตนยึดซื่อสัตย์ เป็นกลาง ปราศจากอคติ แบ่งโควตาตั้ง 6 รอง ปธ.กมธ.ยกร่างฯกระจายครบทุกสาย “ประสพสุข-จรูญ-เลิศรัตน์” นั่งแป้นกุนซือ “ดิสทิต-กาญจนรัตน์” เป็นเลขานุการร่วม ดีเดย์เริ่มเขียนพิมพ์ รธน.หลัง 19 ธ.ค. คสช.-ครม.ส่งทีมที่ปรึกษา คสช.ประกบคู่ขนาน “วิษณุ” โต้เขียน รธน.ฉบับถาวรรอล่วงหน้า แย้มกติกาใหม่อาจส่งผลบล็อกตระกูลชินฯ “บิ๊กตู่” แจงงัด ม.44 ยังแค่เตือน “อุดมเดช” ลั่นถ้ากลุ่มป่วนร่วมมือไม่ใช้ยาแรง “สุวพันธุ์” ยกการข่าวน่าห่วงหลายกลุ่มนัดก่อหวอด สนช.ส่อถอยไม่รับสอย “สมศักดิ์-นิคม” เสียงส่วนใหญ่หนักใจ รธน.ปี 50 ยกเลิกแล้ว ก๊วนสายทหารผวาถูกฟ้องของดออกเสียง “ทีมทนายปู” ยื่นค้านถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” อ้าง รธน.ชั่วคราวไม่ให้ อำนาจไว้
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน เดินเครื่องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำคณะ กมธ.ยกร่างฯเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดพระแก้ว และศาลหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นหารือวางกรอบการทำงาน โดยกำหนดให้แต่งตั้งรองประธาน กมธ.ยกร่างฯจำนวน 6 คน
กมธ.รธน.ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาฤกษ์
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 5 พ.ย. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำ กมธ.ยกร่างฯจำนวน 30 คน เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดพระแก้ว ได้แก่ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสยามเทวาธิราช ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมทั้งเข้าสักการะศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ โดยมี กมธ.ยกร่างฯจำนวน 6 คน ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ นายจุมพล สุขมั่น นายประสพสุข บุญเดช นายมีชัย วีระไวทยะ น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา นายจรัส สุวรรณมาลา และนายปกรณ์ ปรียากร โดย น.ส.สมสุขและนายจรัส แจ้งว่าติดภารกิจต่างประเทศ ส่วนนายปกรณ์นับถือศาสนาอิสลาม
...
ปฏิญาณตนซื่อสัตย์ เป็นกลาง ไร้อคติ
นายบวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ได้นำ กมธ.ยกร่างฯ ปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดประโยชน์ประเทศชาติและประโยชน์ประชาชนสูงสุด คาดหวังว่าความสามัคคีของ สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ จะร่วมกันยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนและแก้ปัญหาบ้านเมืองให้ยุติลงได้ จึงขอฝากถึงประชาชนที่มีความคิดเห็นต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญว่า ให้ส่งความเห็นมายัง กมธ.ยกร่างฯ ได้ และคณะอนุกรรมาธิการยกร่างฯ จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน รวมทั้งทุกพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง กมธ.ยกร่างฯ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เดินทางกลับมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความเห็นในแนวทางดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการหารือนอกรอบ นายบวรศักดิ์ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังหรือถ่ายภาพ เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว มี กมธ.ยกร่างฯ เข้าร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้รวม 34 คน ขาดเพียงนายจรัส และ น.ส.สมสุขเท่านั้น
นัดแรกตั้ง ปธ.–รอง ปธ.กมธ.ฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ออกหนังสือเชิญคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ประชุมในวันที่ 6 พ.ย. เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 เพื่อเลือกรองประธาน กมธ.ยกร่างฯและตำแหน่งต่างๆ รวมถึงวางกรอบการดำเนินงานยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยถือเป็นการประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการหลังจากมีการแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน
แบ่งโควตา 6 รอง ปธ.กมธ.—3 กุนซือ
จากนั้นเวลา 17.00 น.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างฯ แถลงภายหลังการประชุม กมธ.ยกร่างฯ อย่างไม่เป็นทางการว่า ที่ประชุมมีฉันทามติ 2 เรื่อง คือ 1.แบ่งงานใน กมธ. โดยมีรองประธาน กมธ. จำนวน 6 คน เรียงลำดับอาวุโส ได้แก่ นพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคนที่ 1 นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคนที่ 2 นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคนที่ 3 นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคนที่ 4 นายปรีชา วัชราภัย รองประธานคนที่ 5 และ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคนที่ 6 นอกจากนี้มีตำแหน่งที่ปรึกษา กมธ. ประกอบด้วย นายประสพสุข บุญเดช เป็นประธานที่ปรึกษา กมธ. นายจรูญ อินทจาร รองประธานที่ปรึกษา กมธ. และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นที่ปรึกษา สำหรับตำแหน่งเลขานุการ กมธ. มี 2 คนคือ นายดิสทัต โหตระกิตย์ กับ นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ และมีโฆษก กมธ. 6 คน คือ พล.อ.เลิศรัตน์ นายคำนูณ สิทธิสมาน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว นายวุฒิสาร ตันไชย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และนายปกรณ์ ปรียากร
ดีเดย์เริ่มยกร่าง รธน.หลัง 19 ธ.ค.
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 กำหนดแนวทางทำงาน โดยแยกอนุ กมธ. 2 ส่วนคือ 1.อนุ กมธ.ว่าด้วยกระบวนการทำงาน แยกเป็น 3 คณะ คือ 1.คณะอนุ กมธ.บันทึกเจตนารมณ์และจัดทำจดหมายเหตุ มีนายคำนูณ เป็นประธาน 2.อนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธาน และ 3.อนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก สปช.และองค์กรต่างๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนด กับส่วนที่ 2 อนุ กมธ.ว่าด้วยเนื้อหาการทำงาน หากนับจากวันนี้ สปช. เหลือเวลาจัดการความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างฯ อีก 44 วัน โดยจะสิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลา 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด หลังจากนั้น กมธ.จะเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ระหว่างนี้ กมธ.จะรับฟังความเห็นคู่ขนาน สปช. ส่วนจะให้สื่อมวลชนรับฟังการประชุมเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของ กมธ.หรือไม่นั้น ตนไม่สนใจ แต่ไม่มีอะไรปิดบังให้ถ่ายทอดสดก็ได้ ขอร้องสื่อถ้าเมตตาและเข้าใจอะไรที่เปิดเผยได้ก็จะเปิด ไม่ต้องห่วง แต่อะไรที่เปิดไม่ได้ต้องคุยกัน
เล็งนำ รธน.ปี 40—50 ร่วมพิจารณา
นายคำนูณ สิทธิสมาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การหารือครั้งแรก กมธ.ยกร่างฯได้ทำความรู้จักกัน และหารือกรอบการทำงานคร่าวๆแต่ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน เนื่องจากสมาชิกยังมากันไม่ครบ และยังพูดคุยถึงการตั้งคณะอนุ กมธ.ต่างๆว่าอาจจะให้อนุ กมธ.ทำงานช่วงเช้าและเข้าร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯช่วงบ่ายจะได้ทำงานยาวไปถึงช่วงค่ำได้ การร่างรัฐธรรมนูญคงต้องนำรัฐธรรมนูญทั้งปี 40 และ 50 มาพิจารณาเพราะถือว่ามาจากร่างเดียวกัน แต่ต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ด้วย ที่สำคัญหลักการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป การทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คน ต้องยึดโยงมติของที่ประชุม การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวจะทำให้สับสน ต้องตัดเรื่องปัจเจกออกไป ควรกลั่นกรองให้สอดคล้องกับมติของ กมธ.ยกร่างฯ แต่ไม่ได้ปิดกั้น ส่วนจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมของ กมธ.หรือไม่ จะมีทั้ง 2 อย่าง บางกรณีจำเป็นต้องหารือภายใน ไม่ใช่เนื้อหาสาระ ในวันที่ 6 พ.ย.จะชัดเจนมากขึ้น
“บิ๊กป้อม” อวยทีมยกร่างฯคนดี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนว่า เมื่อเลือกมาแล้วก็ต้องเป็นคนดี เลือกคนไม่ดีได้อย่างไร ทุกคนล้วนมีความรู้ความสามารถ เป็นหน้าที่ของ สปช.และกรรมาธิการยกร่างฯจะทำอย่างไรให้การยกร่างรัฐธรรมนูญสมบูรณ์ ซึ่งต้องฟังเสียงสะท้อนประชาชน ขณะนี้ไม่มีปัญหาใดๆทำตามโรดแม็ปที่ คสช.วางไว้
ที่ราชนาวีสโมสร พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร.กล่าวว่า ขณะนี้เป็นกระบวนการเริ่มต้น ทุกคนจะเป็นกำลังใจการทำงานเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี รัฐบาลและ คสช.คัดเลือกบุคคลที่ดีที่สุดแล้ว เพื่อทำให้ปัญหาประเทศได้รับการแก้ไข ดังนั้นขอให้รอดูกันต่อไป
ตั้งที่ปรึกษา คสช.ประกบคู่
เมื่อเวลา 14.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ตั้งคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลและ คสช.จะติดตามเพื่อว่าหาก กมธ.ต้องการความสะดวก หรือต้องการข้อมูล ความร่วมมือ งบประมาณต้องจัดให้ เมื่อยกร่างเสร็จต้องเอากลับมาถาม ครม.และ คสช.ถ้าไม่ติดตามระหว่างนี้ ถึงเวลานั้นคงทำการบ้านไม่ถูก และคงมีบางเรื่องที่รัฐบาลต้องมีกฎหมายออกมารองรับ จะรอให้ร่างเสร็จแล้วค่อยร่างคงไม่ทัน ถ้าอยากเลือกตั้งเร็วจึงต้องมีการติดตาม โดยนายกฯและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานที่ปรึกษา คสช.ไปคิดรูปแบบ เท่าที่คุยกับ พล.อ.ประวิตร อาจจะใช้เวทีคณะที่ปรึกษา คสช.ติดตาม ถ้าจำเป็นอาจเชิญใครมาร่วมเฉพาะกิจก็ได้
ปัดเขียน รธน.ถาวรไว้ล่วงหน้า
นายวิษณุกล่าวว่า กรณีที่ กมธ.ยกร่างฯไปไหว้พระแก้ว ไม่ใช่กลัวคนไม่มั่นใจ แต่อาจจะไม่มั่นใจหรือต้องการให้เห็นว่าจริงใจ ทำอะไรถ้าเริ่มด้วยความมงคลเป็นเรื่องดีตามธรรมเนียมไทย เชื่อว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯเป็นคนดีตั้งใจดี พยายามประนีประนอม ความแข็งที่มีอยู่คือความรู้ ส่วนความอ่อนคือรับฟังความเห็นไม่ได้เป็นเผด็จการ ที่มีข่าวว่ามีการยกร่างฯไว้แล้วไม่เป็นความจริง ไม่มีใครไปคิดทำ ทุกอย่างอยู่ในสายตาสื่อฯ และประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานของคนทั้งประเทศมีส่วนร่วมได้
กฎใหม่อาจส่งผลบล็อกตระกูลชินฯ
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่บางฝ่ายไม่สบายใจมองว่า กมธ.ยกร่างฯหลายคนมีสีหรือมาร่างรัฐธรรมนูญตีกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและพรรคเพื่อไทย ยังไม่เกิดอย่าตีตนไปก่อนไข้ โอกาสจะเกิดยาก แต่ถ้าหากว่าผลจะเกิดขึ้นบ้าง คงไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือตั้งธง แต่เป็นผลจากการปฏิรูปและความคิดที่ว่านี่คือสิ่งที่ดีหรือคำตอบสุดท้ายที่ประเทศต้องการมากกว่า ถ้าบังเอิญต้องออกมาทางที่เป็นผลบวกหรือลบแก่ใคร แต่เชื่อว่าไม่มีผู้ใดยอมให้ตั้งใจตั้งธงอย่างนั้น สำหรับกรอบเวลาการเลือกตั้งประมาณต้นปี 59 ก่อนเช็งเม้ง ถ้าเลยไปก็ช่วงไหว้พระจันทร์ ส่วนการทำประชามติไม่มีปัญหา ถึงเวลาจะลงก็ไม่ว่ากัน รัฐธรรมนูญปี 2475 ไม่ลงประชามติยังใช้ยาวนานถึง 14 ปี
พท.สิ้นหวังโวย กมธ.ล็อกสเปก
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ไม่แน่ใจว่าประชาชนฝากความหวังได้หรือไม่ ส่วนใหญ่เคยขึ้นเวที กปปส. รู้กันว่าอยู่ข้างไหน เหมือนกำหนดสเปกตัวบุคคล แม้ว่าฝ่ายการเมืองจะไม่ส่งตัวแทนร่วมการปฏิรูป แต่ คสช.และรัฐบาลควรคัดเลือกหรือเกลี่ยนักวิชาการเป็น กมธ.ให้หลากหลาย ทำให้ประชาชนเห็นว่ามีตัวแทนทุกฝ่าย แต่มีเพียง วปอ.คอนเนกชั่นกับจุฬาฯคอนเนกชั่น ทำไมไม่เชิญนักวิชาการ เช่น ส.ศิวรักษ์ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายวรเจตน์ ภาคี-รัตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ มาร่วมเป็นตัวแทนยกร่างรัฐธรรมนูญบ้าง พูดกันตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เสียของ แต่คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจะเสียของและแย่ยิ่งกว่า ตราบใดที่คนร่างยังไม่เห็นเหตุแห่งปัญหา มุ่งร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม
นายกฯแจงงัด ม.44 แค่เตือน
อีกเรื่อง เมื่อเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกฯออกมาปรามกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมกดดันในด้านต่างๆ โดยอาจใช้มาตรา 44 ขอรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ดำเนินการว่า เป็นการเตือนเฉยๆ ว่ามันยังอยู่ก็เท่านั้นเอง ไม่ได้บอกว่าจะใช้อะไรเมื่อไหร่
เมื่อถามว่า รัฐบาลมีมาตรการรับมือต่อสถานการณ์ในวันที่ 6 พ.ย. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการประชุมพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนันท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ประชุมกันไป ไม่ต้องเตรียมการอะไร ทุกคนเขาก็ร่วมมือดีแล้ว ทุกคนต่างก็ให้ความร่วมมือ บอกว่าไม่ได้มากดดันรัฐบาล ดังนั้นก็ว่ากันไป แต่ใครทำก็ต้องรับผิดชอบเท่านั้น
ย้ำอีกยังไม่เลิกกฎอัยการศึก
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาเอเชียนบีชระหว่างวันที่ 14-23 พ.ย. ที่ จ.ภูเก็ต เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวว่า “ไม่ได้พูด ยังไม่มีใครถามผม ต่างชาติก็ยังไม่มีใครมาถามผม เราก็อย่าถามกันเองมากนักก็เป็นปัญหา” เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปคุมเข้มที่ จ.ภูเก็ต พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่มีทุกพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวย้ำกันอยู่เสมอ จะต้องร่วมมือกันทั้งข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และในพื้นที่คงจะต้องดูแลกันเป็นพิเศษ จะเสียชื่อไม่ได้ ต้องช่วยกัน รวมทั้งประชาชนต้องช่วยกันดูแล ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเพราะคนไทยด้วยกัน จึงต้องเตือนกันบ้าง บางครั้งการดื่มสุราเป็นสาเหตุสำคัญ และอาจจะไปสร้างปัญหาอย่างอื่น เช่น ยาเสพติด