หลังประเทศไทยได้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เป็นผู้หญิงคนแรก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงขอบุกไปล้วงลึก ขอเปิดใจถึงความรู้สึกต่างๆ หลังเข้ามานั่งเก้าอี้ที่ร้อนที่สุดตัวหนึ่งของสยามประเทศในเวลานี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นนักกฎหมายโดยตรง หรือเคยทำงานด้านการสืบสวนมาก่อน แถมยังถือเป็นม้านอกสายตา ในช่วงของการวิ่งฝุ่นตลบของใครหลายคนที่หวังมานั่งในตำแหน่งนี้ และที่สำคัญเจ้าตัวจะมีวิทยายุทธมากน้อยเพียงใด สำหรับการต่อสู้กับความกดดันต่างๆ ที่จะถาโถมเข้าใส่แน่นอนเมื่อเข้าไปแตะคดีการเมืองหลายคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในดีเอสไอ เวลานี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับเธอ สุวณา สุวรรณจูฑะ หรือ พี่แป๋ว ผู้ใจดีของน้องๆ นักข่าว

แม้ใครนินทาไม่ตรงสายงาน แต่พี่ทำงานด้านกฎหมายมาเยอะ

(Q) รู้สึกอย่างไร กับการได้เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ

(A) พี่รับราชการไม่เคยคิดว่าจะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมฯ นี้ เลย เพราะการทำงานสืบสวนถือเป็นเรื่องที่หนัก แต่เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมาย จะด้วยเหตุผลใด ก็รู้สึกดีใจ ปลื้มใจ ที่ผู้ใหญ่ไว้วางใจ

...

(Q) ไม่ตรงกับสายงานที่เคยทำมา จะมีแรงกดดันหรือไม่

(A) พี่รับราชการ ก.ยุติธรรม มานาน ที่เกี่ยวกับศาล ถึงจะไม่เกี่ยวกับกฎหมายโดยตรง แต่ก็เคยทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย แต่เมื่อถามเรื่องกฎหมาย ก็ต้องใช้วุฒิทางนิติศาสตร์ ที่ผ่านมาเคยผ่านหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับศาลปกครอง ศาลยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีการเรียนเนติบัณฑิต การที่มารับหน้าที่อธิบดีตรงนี้ ก็คือการรับหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ต้องใช้หลักการเชิงบริหาร แม้กฎหมายจะบอกว่าอธิบดีเป็นพนักงานสอบสวน แต่การเป็นนักบริหารจะสามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือคนในองค์กร ที่เราเชื่อถือได้ เพื่อให้งานของเราออกมาถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม สอดคล้องกับภารกิจตามกฎหมาย

(A) ส่วนจะตรงหรือไม่นั้น เคยเป็นอธิบดีคุ้มครองสิทธิฯ ซึ่งมีกฎหมายเยอะมาก การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สำนวนสอบสวนก็มาก แต่ก็แตกต่างจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะมีความยากมากขึ้นไป แต่เรื่องการดูสำนวนกฎหมาย พี่มีประสบการณ์ การยกร่าง เสนอกฎหมาย เคยนั่งพิจารณากฎหมายมาแล้วมากมาย จึงมีความคุ้นเคยเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่น เรื่องคุ้มครองสิทธิ์ฯ การค้ามนุษย์ เป็นต้น ที่สำคัญเคยเป็นรองปลัดยุติธรรมมา 3 ปี เคยดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มา 2 ปี และเป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ เคยมีส่วนในการเข้าไปพิจารณาคดีพิเศษ จึงมั่นใจว่ามีความรู้ความสามารถเพียงพอ

ขอปฏิรูปดีเอสไอ คืนความเชื่อมั่นและความยุติธรรมให้กับประชาชน ขจัดทุกข้อกังขาให้หมดไป

(Q) แต่สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ น่าจะมีแรงกดดันค่อนข้างสูง? 

(A) สิ่งที่กดดันมากกว่า คือ สังคมคาดหวังให้เราทำให้ความน่าเชื่อถือของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพิ่มขึ้น หรือกลับคืนมา สิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนจากภายนอก โดยมีแรงคาดหวังว่าหากเราเข้ามาจะทำได้ ซึ่งจะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการร่วมแรงร่วมใจของคนในกรม ผู้บังคับบัญชาต้องสนับสนุน คนภายนอกต้องมีส่วน การจะทำให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งประสบความสำเร็จเป็นมืออาชีพ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม แต่ถ้าเอาลูกหลานมาฝาก ความเป็นมืออาชีพจบลงทันที เราต้องรู้ ต้องสรรหาคนมาทำงานให้ได้

(Q) สิ่งแรกที่ลงมือทำในฐานะอธิบดีดีเอสไอ

(A) ท่าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ได้ให้นโยบายชัดเจน ถามว่าคนมองกรมสอบสวนคดีพิเศษ มันพิเศษตรงไหน ที่จริงกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นมีวิวัฒนาการ บางห้วงเวลาก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่บางเวลาก็มีการคลายข้อกำหนดเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น แต่ถ้าทำแล้วไม่เกิดปัญหา ก็ไม่เป็นไร แต่บังเอิญมีเรื่องคดีการเมืองเข้ามา เป็นการใช้อำนาจโดยอธิบดี อันนี้คือสิ่งที่ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ท่าน รมว.ยุติธรรม จึงให้การบ้านมาทำ โดยให้ผู้บริหารทั้งหมดมาคุยกันว่าอยากที่จะมีเกณฑ์หรือไม่ จากนั้นก็ได้เรียกทุกฝ่ายประชุม โดยให้พิจารณาตามข้อเท็จจริง จากการทำงานตามกฎหมายที่ตัวเองรับผิดชอบ หากกำหนดเกณฑ์ได้ ก็เริ่มงานได้ หากไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีการอื่น เช่น การหาคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง ก่อนถึงอธิบดี แต่ถ้าทุกอย่างพุ่งมาที่อธิบดี อธิบดีอาจจะโชคร้าย หากสั่งแล้วไม่มีใครช่วย โดยคิดว่าหลังจากนี้ อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งในอดีตก็มี ระบบการบังคับใช้กฎหมาย กับระบบบริหาร จะมีความแตกต่างกันมาก หากเป็นระบบบริหารยิ่งสั้น ลดขั้นตอนได้ยิ่งดี แต่สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย หากทำแล้วเกิดผลเสียหาย ก็อาจจะต้องพิจารณา

(Q) นับจากนี้ต่อไป คดีการเมืองจะไม่มาถึงดีเอสไอแล้วใช่หรือไม่

(A) ส่วนตัวมองว่าทุกคดีจะต้องว่าไปตามรูปคดี จะแยกว่าเป็นการเมือง หรือไม่การเมือง คงลำบาก แต่พอมีความแตกแยกขึ้นมา จึงมีคนคิดว่าคดีนี้ต้องเป็นการเมือง พอใครเป็นฝ่ายค้านก็บอกว่านี่คือคดีการเมือง แต่ที่จริงแล้วเราควรจะว่าไปตามความจริง ต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำความผิด เราเองเป็นราชการมา เคยทำงานเกี่ยวกับศาล เพราะฉะนั้น เรื่องความเป็นธรรมถือเป็นเรื่องสูงสุด หากมาทำอะไรไม่เป็นธรรม ในฐานะอธิบดีก็รับไม่ได้ คิดว่าผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าใจ ความแตกแยกจะลดลงได้ก็ต่อเมื่อทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรมที่ควรจะได้ แต่จะมาเอาประโยชน์สูงสุดของตัวเองก็ไม่ได้เช่นกัน ทุกฝ่ายต้องวิน-วิน

(Q) กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างไร

(A) คิดว่าอธิบดีในทุกยุคต้องการทำให้กรมฯ นี้ทำงานได้ เราก็จะมาดูว่าอะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ เรียกความเชื่อมั่น ก็จะเดินหน้าทำต่อไป แต่เรื่องไหนที่ทำแล้วเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ถูกสังคมกังขา ก็จะเร่งจัดการ เพื่อขจัดสิ่งที่ทำให้เกิดความกังขาออกไปให้หมด

กล้าการันตี ไม่มีล้างบางฝ่ายตรงข้าม

(Q) คสช. มีสโลแกน "คืนความสุข" ส่วนสโลแกน ดีเอสไอ คือ...?

(A) จริงๆ แล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษมีสโลแกน "เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์" แต่ส่วนตัวของพี่ คิดว่าจะทำให้ความเป็นธรรมเกิดกับประชาชน หากในกรมฯ ยังไม่มีความเป็นธรรม แล้วจะมีกำลังใจทำงานให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้อย่างไร

(Q) หากมีข้าราชการคนไหนมีการเมืองแอบแฝง จะมีการจัดการหรือไม่

(A) ไม่ค่ะ เพราะพี่ไปไหนก็จะใช้องคาพยพที่นั่นทั้งหมด จะมีก็เพียงเลขาฯ เพียงคนเดียว นอกจากนั้น ก็ใช้คนในกรมฯ ทั้งหมด ขอยืนยันไม่เคยล้างบางใคร มีแต่ขอความร่วมมือว่า คนเดียวไม่สามารถนำพาองค์กรให้น่าเชื่อถือกับประชาชนได้ ถ้ารักองค์กร พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ขอรับประกันเลยว่าไม่มีเรื่องนี้ ไม่มีกองกำลังประจำตัวมาแน่นอน ในอนาคตยังคิดถึงขนาดที่ว่า ต่อไปไม่ว่าจะสรรหาใครจะต้องมีความเข้มงวด ไม่ใช่ว่าใครจะเข้ามาก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นมันอาจจะทำให้องค์กรเละไปกันใหญ่

(Q) คดีที่อยู่ในมือดีเอสไอ ขณะนี้มีทั้งหมดกี่คดี แล้วที่หนักใจที่สุดคือเรื่องใด

(A) ในเรื่องรายละเอียดเชิงลึก นี่ยังไม่ทราบ แต่ที่พอรู้คือตั้งแต่ปี 2547 มีเรื่องที่รับมาทั้งหมดนับพันคดี คดีที่ถูกสะสางแล้ว มีกว่า 80% ที่เหลืออยู่ระหว่างทำงาน บางคดีอาจค้างนาน เพราะบางคดีมันยากมาก

(Q) ส่วนคดีการเมืองจะพักไว้ก่อนหรือไม่

(A) ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบ รัฐมนตรียุติธรรม ท่านเองก็อยากทราบปัญหาอุปสรรค ก็เลยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายไปทำมา ท่านรัฐมนตรีท่านให้นโยบายหลายเรื่อง เช่น เรื่องการแก้กฎหมาย แต่ไม่ได้ให้เพิ่มอำนาจ อยากแก้ให้ทำงานให้ประชาชนดีขึ้น ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ท่านมอบหมายก็เพื่อให้การทำงานดีขึ้น

(Q) ความเป็นผู้หญิงทำให้มีข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับงานด้านนี้หรือไม่

(A) ไม่ได้คิดเรื่องหญิงชาย มอบหมายมาก็ทำเต็มที่ แต่ความเป็นหญิงอาจทำให้การประสานงานและทำความเข้าใจดีขึ้น ผู้หญิงเป็นเพศที่ผู้ชายจะไม่ค่อยจะมาอะไรมากมาย ตั้งแต่ทำงานมา ก็เชื่อว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบค่อนข้างมีเอกภาพ แม้จะเป็นหน่วยงานไม่ใหญ่ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ถือว่าทำงานด้วยยาก แต่เราก็ถือว่าเราทำงานเหมือนแม่ ลูกๆ ก็ยังมาทำงานให้ได้ หากสำเร็จ หัวหน้าองค์กรก็จะได้รับไปด้วย เพราะความร่วมมือของเด็ก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หากพูดด้วยเหตุและผล ก็คิดว่าน่าจะเข้าใจ

"ตอนนี้สังคมมองดีเอสไอลักษณะเหมือนคนจมน้ำ ต้องช่วยกันแก้ปัญหา พี่มาทำงานตรงนี้รับประกันได้เลยว่า 1. ผลประโยชน์ไม่มี 2. ความเป็นธรรมสูง ให้ได้หมด การช่วยเหลือ การดูแล ต้องมีให้ ไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง คิดว่าถ้าเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในกรมก็ต้องช่วยกัน"

คงหลีกไม่พ้นม็อบกดดัน แม้เป็นหญิงแต่พร้อมรับมือ ยันไร้ใบสั่งทางการเมือง

(Q) ห่วงหรือไม่ ถ้ามีการดึงคดีการเมืองออกจากคดีพิเศษ จะเป็นเหตุให้มีม็อบมากดดัน

(A) ถ้าเรื่องมาหา น่าจะมาหาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำความเข้าใจ ส่วนตัวเชื่อว่า ทางรัฐมนตรีจะไม่ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เชื่อว่าท่านจะเข้ามาแก้ปัญหาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดีขึ้น เพราะถือเป็นการทำงานของ ก.ยุติธรรม ส่วนความขัดแย้งไม่ว่าฝ่ายไหนสุดท้ายก็ต้องรู้ว่าตนเองทำอะไรอยู่

(Q) การบ้านถือเป็นใบสั่งหรือไม่

(A) ไม่ใช่ใบสั่งเลย เป็นเรื่องที่ทางกรมฯ ต้องไปคิดเองว่าจะทำเรื่องอะไร ท่านไม่ได้ชี้ลงมาว่าควรทำเรื่องใด แต่ให้มาคิดกันเอง ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็ได้มอบหมายให้ท่านรองฯ ฝ่ายต่างๆ ไปคิด เมื่อสักครู่เดินผ่านเห็นกำลังคิด เครียดกันใหญ่เลย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำกันเอง เพราะแต่ละฝ่ายต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ว่าใครจะเข้ามากำหนดได้

(Q) มีกรอบระยะเวลาหรือไม่

(A) ท่านให้ 2-3 วัน วันนี้ก็ผ่านมา 1 วันแล้ว ตอนนี้ก็เร่งสปีดกันเลย

เก้าอี้ทุกขลาภ ลูกโอดแม่ซวยแล้ว แต่ขอทำเพื่อชาติ

(Q) การรับตำแหน่งคดีดีเอสไอ ถือเป็นทุกขลาภหรือไม่

(A) เราเกิดมาเป็นคนของประชาชน ตอนที่ตัดสินใจเข้ามารับราชการ ก.ยุติธรรม ตอนแรกอาจจะไม่ได้คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ แต่วันหนึ่งพอทำงานเยอะๆ ได้รับผิดชอบกับการช่วยเหลือประชาชน ก็กลายเป็นความผูกพัน ทำเพื่อชาติ ถามว่าทุกขลาภหรือไม่ ใจหนึ่งก็ยินดี อีกใจก็ต้องคิดว่าเจองานหนัก โลกส่วนตัว เวลาครอบครัวหาย แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าทำงานเพื่อชาติ ซึ่งถึงวันนี้รับราชการมาแล้ว 35 ปี โดยเข้าทำงานครั้งแรกช่วงสิงหาคม 2522

(Q) ทางครอบครัวมีคอมเมนต์เรื่องนี้หรือไม่ เพราะตำแหน่งนี้ถือเป็นตำแหน่งร้อน

(A) ถือว่าไม่นะ เพราะสามีเป็นผู้พิพากษา เขาก็สนับสนุนให้ทำงานด้านนี้ เขารู้ว่ารับราชการไม่เคยทำงานสักแห่ง ส่วนผู้ใหญ่ที่รู้จัก ก็แนะนำว่าเป็นโอกาส ทำให้ดี เหมือนที่นี่ขาดอะไรไปบางอย่าง หากทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศได้ก็ควรช่วย

"ส่วนสามีเขาก็ให้กำลังใจ ขณะที่ลูกน่าจะห่วงมากกว่าพ่อ ลูกถึงขั้นเอ่ยปากว่า "ซวยแล้ว" เพราะรู้สึกเป็นห่วงแม่ ส่วนลูกอีกคนก็ห่วงบอกได้ข่าวว่าอธิบดีไปไหนคนเดียวไม่ได้ต้องมีการ์ดเยอะ อย่าเป็นดีกว่า แต่เราก็ทำความเข้าใจกันจนเข้าใจ"

(Q) ที่บอกว่า ที่นี่เหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง ตอนนี้พอทราบหรือยังว่าสิ่งที่ขาดคืออะไร

(A) ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้ว่าอธิบดีคนใด เพราะแต่ละคนก็มุ่งเรื่องคดี เรื่องคดีก็ถือเป็นภารกิจหลัก แต่ก็ต้องมีอย่างอื่นสนับสนุน คือเราจะต้องจัดระบบอย่างไร บริหารงานอย่างไร กำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร เพราะหน่วยงานทั้งหลาย หากองค์กรไหนไม่มีระบบรับประกันได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงเชื่อว่าสิ่งที่ขาด ณ ตอนนี้คือ "ระบบ" งานทุกงานต้องมีการติดตาม และประเมินผล ส่วนเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางอย่างที่คิดขึ้นก็มีแนวคิดที่ดี แต่เมื่อมาทำแล้ว ไม่ดีก็ต้องปรับ มันเป็นที่มาของการปฏิรูป ทุกอย่างมีพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป แต่ยังไม่ขอลงรายละเอียด

"เราเองมีความเป็นแม่บ้านสูง ตอนไปดูการจัดระบบสำนักทั้งหลาย หากเป็นเราจะไม่จัดแบบนี้ เพราะในเชิงบริหาร หากจะออกแบบองค์กร ต้องออกแบบให้มีประสิทธิภาพ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าหลังบ้านยังวุ่นวายอยู่ ก็ไม่คิดว่าจะสามารถแก้ได้ เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่โตมาก แต่ตรงไหนต้องแก้ ก็ต้องแก้ เช่น เมื่อสักครู่ไปดูที่อาคารบี (ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) ได้เห็นจุดอ่อน สมมติ สำนักทำคดี ที่สำนักงาน ก็ต้องมีแต่สำนักทำคดี จะมาอยู่กับหน่วยอื่นไม่ได้ เพราะการสอบสวนเป็นความลับ จะมาเห็นคนเดินเข้าออกมาไม่ได้ เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับภาพลักษณ์ด้วย สมมติว่าพี่เป็นผู้ถูกกล่าวหา มาเจอพนักงานสอบสวน ก็ไม่เป็นไร แต่ไปเจอคนอื่นนั่งอยู่ไม่ได้ อย่างเช่นคดีเด็ก ทำไมต้องมีห้องสอบปากคำเด็ก แม้แต่ผู้มาติดต่อก็ควรมีที่นั่งให้เหมาะสม แต่สำหรับที่นั่นดูแล้วยิ่งกว่าอีก คนที่จะมาเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษ บางครั้งอาจเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราก็ต้องดูแลเขา เพราะเขาแค่ถูกกล่าวหา เราก็ควรมีห้องรับรองให้เขา เรื่องแบบนี้ ที่ผ่านมาไม่ได้มองกันเลย แต่ด้วยความเป็นผู้หญิง ก็เลยใส่ใจเรื่องแบบนี้"

การันตีทั้งตัวเองและครอบครัวไร้สีเสื้อ ยินดีต้อนรับทุกคู่ขัดแย้ง

(Q) แสดงว่าดีเอสไอยุคใหม่ พร้อมต้อนรับทุกฝ่าย

(A) เรียกว่าไม่มีฝ่ายดีกว่า เพราะตอนทำงานอยู่ที่คุ้มครองสิทธิฯ ตอนไปช่วยเสื้อแดง ก็ลือว่าเราเป็นเสื้อแดง พอช่วยเสื้อเหลือง ก็ลือว่าเป็นเสื้อเหลือง สิ่งที่อยากจะบอกว่าคือเราอย่าใส่ความรู้สึก ถ้าเป็นพี่ พี่ช่วยทั้งหมด รับประกันไม่มีอคติ ใจเราคิดยังไงเป็นเรื่องของใจ แต่เรื่องทำงานคนละเรื่อง 

(Q) จะเริ่มเข้าทำงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อไหร่